Environmental Sustainability

‘FTSE4 Good Index Series’ ความยั่งยืนสะท้อนความรับผิดชอบ

เป็นที่รู้กันดีว่า ปัจจุบันนี้บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ต่างให้ความสนใจในเรื่องของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคม

หลายๆ บริษัทจึงมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ ความมุ่งมั่นที่จะสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม ควบคู่กับการบริหารงานอย่างมีหลักบรรษัทภิบาล และสร้างผลประกอบการที่ดี เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงสังคม และชุมชน ได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน

GC UTO Samed Day 1

แต่ละบริษัทได้แสดงเจตจำนง และกำหนดกลยุทธ์อย่างชัดเจน เพื่อการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม และบรรลุเป้าหมายตามที่ได้ตั้งไว้

อย่างไรก็ดี การดำเนินการต่างๆ นี้ หากได้รับการตรวจสอบ และรับรองจากผู้ประเมินภายนอกองค์กร (3rd Party) หรือผ่านเกณฑ์การประเมินของดัชนี ที่มีความน่าเชื่อถือ  หรือได้รับการคัดเลือก ว่าเป็นบริษัทที่ผ่านเกณฑ์การประเมินในดัชนีชั้นนำ จะเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ และน่าสนใจของบริษัท ทั้งต่อนักลงทุนและผู้มีส่วนได้เสีย

ในปัจจุบัน มีองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ ประเมินการดำเนินงานของบริษัทต่าง ๆ อยู่หลากหลายสาขาในระดับโลก ซึ่งหลากหลายบริษัทต่างให้ความสำคัญ และตบเท้ากันเข้ายื่นผลการดำเนินงาน เพื่อให้ได้รับการรับรองว่า การดำเนินงานของตนเป็นไปตามหลักการ และมาตรฐานที่ถูกกำหนดขึ้น  อีกทั้งยังมีสถาบันที่สร้างดัชนีการชี้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในด้านต่างๆ อีกจำนวนมาก

ในบทความนี้จะขอกล่าวถึง FTSE4Good Index Series ซึ่งเป็นหนึ่งในดัชนีชั้นนำด้านความยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก เพื่อช่วยให้นักลงทุนตระหนักถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) และให้นักลงทุนใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการลงทุน รวมทั้งเป็นกรอบการดำเนินงาน เพื่อการมีส่วนร่วมและการรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท

GC UTO Diving 1

ดัชนีอ้างอิงนี้เปิดตัวครั้งแรกในปี 2544 ซึ่ง FTSE4Good Index Series จะพิจารณาผลการดำเนินงานของบริษัทนั้นๆ ในด้าน ESG จากข้อมูลที่บริษัทเผยแพร่ต่อสาธารณะ เช่น Website และ รายงานความยั่งยืน เป็นต้น ดังนั้น คะแนนที่ได้จึงเป็นผลการประเมินการดำเนินงานภาพรวมของบริษัท นั่นเอง

เมื่อเราพูดถึงบริษัทชั้นนำในประเทศไทย หากไม่กล่าวถึง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เลยก็คงจะไม่ได้ เพราะ GC เป็นบริษัทชั้นนำของประเทศ ในฐานะผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์ที่ผสานนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างสรรค์ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ในปีนี้ GC ได้ตอกย้ำการเป็นผู้นำในด้านการดำเนินงานที่ดี ด้วยการผ่านเกณฑ์การประเมินของ FTSE และได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิก FTSE4Good Index Series ติดต่อกันเป็นปีที่ 5 โดย ฟุซซี่ รัสเซล (FTSE Russell)

การได้รับคัดเลือกดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความรับผิดชอบขององค์กรที่ดำเนินธุรกิจต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงมีหลักธรรมาภิบาลเพื่อการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social and Governance: ESG Performance) ซึ่งทั้ง 3 ด้าน สามารถอธิบายเป็นรายละเอียดได้ ดังนี้

  • ด้านสิ่งแวดล้อม

GC มีนโยบายและระบบบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม แบบบูรณาการ ทั้งด้านพลังงาน อากาศ น้ำ และของเสีย มีความตระหนักถึง การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า  โดยเป็นองค์กรแรกๆ ของประเทศ ที่ได้ริเริ่มนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาประยุกต์ใช้ และได้สร้างตัวอย่างความสำเร็จ ให้เป็นที่ยอมรับ

อาทิ โครงการ Upcycling The Oceans, Thailand (UTO) ที่เป็นการร่วมมือกันของ 3 พันธมิตร ได้แก่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มูลนิธิอีโคอัลฟ์ จากประเทศสเปน และ GC ในการลดปัญหาจากขยะพลาสติกในทะเล เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลไทย ด้วยการนำขยะที่เก็บขึ้นมาจากทะเล นำมาแปรรูปเป็นสินค้าแฟชั่น ได้แก่ เสื้อผ้า และกระเป๋าเป้ เป็นต้น ผ่านกระบวนการอัพไซคลิง (Upcycling)

GC ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน การดำเนินโครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่ช่วยสร้างจิตสำนึกของประชาชน ให้ตระหนักถึงปัญหาขยะในทะเล เป็นการช่วยอนุรักษ์ ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และรักษาระบบนิเวศทางทะเล นอกจากนี้ ผลลัพธ์ที่ได้ยังส่งผลให้ความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่ รวมทั้งสัตว์น้ำในทะเล มีสุขภาวะที่ดีขึ้น

GC UTO ProductLogo 1

  • ด้านสังคม

GC ยึดมั่น และบูรณาการ หลักสิทธิมนุษยชนในทุกๆ กิจกรรม ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท ตลอดจนควบคุม ดูแล และป้องกัน ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในรูปแบบต่างๆ

หลักการและการดำเนินงานทั้งหมดนี้ ครอบคลุมกลุ่มพนักงาน คู่ธุรกิจ คู่ค้าทางธุรกิจ ผู้รับเหมา ลูกค้า ชุมชนและสังคม อาทิ โครงการ OUR Khung Bangkachao ซึ่งได้ปรับแนวทางการดำเนินงานของโครงการ UTO ในการพัฒนาสินค้าอัพไซคลิง

โครงการ OUR Khung Bangkachao นี้ ได้สร้างงาน สร้างอาชีพให้กับชาวบ้านและชุมชน ผ่านการตัดเย็บจีวรรีไซเคิล ซึ่งเป็นผลผลิตจากความร่วมมือของชุมชน วัด และพันธมิตรทางธุรกิจของ GC

นอกจากจะเป็นการสร้างอาชีพแล้ว ชาวบ้านและชุมชนยังมีความรู้ความเข้าใจ ต่อการใช้ทรัพยากร ผ่านการคัดแยกขยะ อย่างถูกต้องอีกด้วย​

GC จีวรรีไซเคิล Process 1

  • ด้านธรรมาภิบาล

GC มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นธรรม ตามหลักการ และนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี หลักจรรยาบรรณธุรกิจ และนโยบายการกำกับดูแลการปฏิบัติงาน ให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของบริษัท

พร้อมทั้งมุ่งสร้างคุณค่าและความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกันขององค์กร สังคม และประเทศชาติ โดย GC ถือว่าการกำกับดูแลกิจการที่ดีนี้ เป็นเสมือนเกราะคุ้มภัย ให้กับทั้งองค์กร พนักงาน ผู้มีส่วนได้เสีย ตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า เพราะความเชื่อที่ว่า การเติบโตไปพร้อมกัน จะเป็นการเติบโตที่แข็งแกร่งและยั่งยืน

จากที่ได้กล่าวไปข้างต้น นับได้ว่า GC เป็นตัวอย่างหนึ่งขององค์กรที่แสดงให้เห็นว่า ความสำเร็จจากการพัฒนาอย่างยั่งยืน สะท้อนให้เห็นได้จากความมุ่งมั่น ตั้งใจในการรับผิดชอบการดำเนินงานในทุก ๆด้าน

อีกนัยหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่า ความสำเร็จใดๆ ก็ตาม ต้องตั้งต้นมาจากความเชื่อ ความเข้าใจ และการมีเป้าหมายที่ชัดเจนเป็นสำคัญ ซึ่งเมื่อใดที่เป้าหมายนั้นผลิดอกออกผลแล้ว ผลลัพธ์ย่อมสวยงามเสมอ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo