Business

‘คอนเทนท์’โดนใจรุ่นใหญ่วัย‘สีเงิน’ สื่อทีวี-โซเชียลสร้างการจดจำแบรนด์

การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ (Aged Society) ในปี 2568 ของประเทศไทย ซึ่งจะมีกลุ่มสูงวัยราว 14.4 ล้านคน หรือเกิน 20% ของประชากรไทย

กลุ่ม Silver Age หรือวัยสีเงิน  อายุ 55-70 ปี ที่มีจำนวนมากขึ้น อีกทั้งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง หลังจากเก็บสะสมเงินไว้ใช้ในวัยเกษียณ จึงกลายเป็นอีกกลุ่มผู้บริโภคที่มีความสำคัญ ที่บรรดา สินค้า แบรนด์ และนักการตลาดต้องเข้าใจพฤติกรรมอย่างลึกซึ้ง เพื่อการสื่อสารตรงเป้าหมาย

สูงวัย CMMU

วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้จัดทำการวิจัยกลุ่มผู้สูงอายุ ด้านการเสพสื่อและคอนเทนท์ พบว่า องค์ประกอบโฆษณาที่ทำให้คนสูงวัย จดจำโฆษณาได้ มี 3 ปัจจัยหลัก

  1. จากเรื่องราวใกล้ตัว  64% โดยเฉพาะเรื่องราว ซึ้ง ประทับใจ และเกี่ยวข้องกับตัวเอง  เช่น โฆษณา “คนอร์” ชุด Flavour of Home (เมื่อปิ่นโตออกเดินทาง) ที่บอกเล่าเรื่องความน่ารักของคุณแม่ที่เซอร์ไพร์สลูกผ่านอาหารที่ทำใส่ปิ่นโตส่งให้ลูก หรือเรื่องราวใกล้ตัวเกี่ยวกับสินค้าลดริ้วรอย ของแบรนด์ “ยูเซอรีน”  และแบรนด์เวชสำอางต่างๆ
  2. แบรนด์สินค้าของโฆษณา 21% โดยเป็นแบรนด์ที่น่าเชื่อถือและมีชื่อเสียง
  3. พรีเซ็นเตอร์ 15%

สูงวัย

กลุ่มสูงวัยเมื่อเห็นโฆษณาจากสื่อต่างๆ  พบว่า  66% รู้ว่าเนื้อหาที่เห็น คือ โฆษณาของสินค้าแบรนด์ใด  และอีก 34%  ไม่รู้ว่าเป็นโฆษณาของสินค้าแบรนด์ไหน จำได้เพียงประเภทสินค้าและพรีเซ็นเตอร์

แบรนด์ 3 อันดับแรกที่กลุ่มสูงวัยจดจำได้จากโฆษณา 

  1. “แบรนด์” ซุปไก่และรังนก เพราะมีโฆษณาตลอดปี จากการนำสินค้าไปผูกไว้กับเทศกาลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลวันแม่ ปีใหม่ นักเรียนเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย
  2. “ไทยประกันชีวิต” มีเนื้อหาเรื่องราวที่ซึ้งกินใจ ค่อนข้างตรงกับชีวิตของกลุ่มสูงวัย ชีวิตของพ่อแม่ลูก การดูแลเอาใจใส่คนในครอบครัว
  3. มือถือซัมซุง  ส่วนใหญ่เป็นมือถือที่กลุ่มสูงวัยใช้งาน อีกทั้งเห็นโฆษณาซัมซุงบ่อยมาก จากการที่แต่ละปีมีสินค้าออกมาทำตลาดหลายรุ่น

สูงวัย

มาดู “พรีเซ็นเตอร์” ว่าแบบไหนที่กลุ่มสูงวัยชื่นชอบ

  • มีความเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการนั้น 52.32%  เช่น เศรษฐา ศิระฉายา, นิรุตติ์ ศิริจรรยา ซึ่งเป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณาประกันชีวิตสูงวัย, ดวงใจ หทัยกาญจน์ โฆษณาครีมติดฟันปลอม “โพลิเดนท์” เพราะกลุ่มสูงวัยเชื่อว่าพรีเซ็นเตอร์ ใช้สินค้าจริงและใช้สินค้าตาม
  • ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง 27.81%   โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ  เวชภัณฑ์  เวชสำอาง
  • อายุน้อยกว่า 15.56%  ชื่นชอบพรีเซ็นเตอร์ ที่มีอายุน้อยกว่าและกลุ่มที่กำลังมีผลงานการแสดงทางทีวี  เพราะดูแล้วสดใสและมีความสุข รายชื่นที่ชื่นชอบ ญาญ่า อุรัสยา เสปอร์บันด์,ณเดชน์ คูกิมิยะ,  เบลล่า ราณี แคมเปน, โป๊ป ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ
  • อื่นๆ 4.32%

สูงวัย

สำหรับ “สื่อ” ที่กลุ่มสูงวัยจดจำโฆษณาได้ สูงสุดคือ  ทีวี 63%  เพราะว่ากลุ่มสูงวัยเปิดรับโฆษณาผ่านสื่อทีวีมากที่สุด จากพฤติกรรมเปิดทีวีเป็นเพื่อนและมักไม่เปลี่ยนช่อง  รองลงมาเป็นสื่อออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊ก ยูทูบ ไลน์

กลยุทธ์มัดใจวัย”ซิลเวอร์”  Silver Strategy 

S = Social  จากผลการวิจัย “รุ่นใหญ่วัยสีเงิน” พบว่าเป็นกลุ่มที่ใช้สื่อโซเชียลมากที่สุด เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ สร้างสังคมกับเพื่อนและคนรอบข้างมากขึ้น ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและแชร์ข้อมูล เนื้อหาและสิ่งที่ดีให้กัน  การแชร์มีทั้งแบบ face to face, การบอกต่อ รวมทั้งการส่งต่อผ่านสกรีนต่างๆ ที่ใช้งาน

I = Interest  แม้จะอยู่ในกลุ่มสูงวัยเหมือนกัน แต่ไลฟ์สไตล์ แต่ละคนจะแตกต่างกัน  กลุ่มสูงวัยในยุคนี้จะมีความคิดเห็นแตกต่างกจากยุคก่อน  การนำเสนอคอนเทนท์ที่ต้องการสื่อสารกับคนกลุ่มนี้ ต้องหลีกเลี่ยงที่จะทำให้กลุ่มสูงวัยดูเป็นคนมีอายุ!!

L = Less & More  โดย Less คือการทำให้ลดน้อยลงหรือกระชับ ทั้งความยาวในการเขียนคอนเทนท์ที่ไม่ควรยืดเยื้อ ทำให้ชวนอ่าน  รวมทั้งลดความยาวในการทำโฆษณาลง  เพื่อให้คนสูงวัยดูโฆษณาจนจบโดยไม่ “กดข้าม”   ส่วน More เป็นการเพิ่มขนาดตัวหนังสือให้ใหญ่ขึ้น เพื่อให้ “ง่าย”ต่อการอ่านข้อมูลและการใช้งาน

V = Value  การสร้างมูลค่าจากการอ่านคอนเทนท์ ทำให้คนสูงวัยรู้สึก feel good  ให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ หากเป็นความรู้สึกเชิงลบจะสร้างความเสียหายต่อแบรนด์ได้  และทำให้สูญเสียความภักดีต่อแบรนด์

E = Easy การสร้างเนื้อหารที่ “ง่าย” ต่อการอ่าน ไม่ใช้ศัพท์แสลง  หรือวัยรุ่นเกินไป และง่ายต่อการใช้งาน  คู่มือการใช้งานที่ไม่ซับซ้อน จะนำไปสู่การสร้างความเข้าใจในคอนเทนท์และการสื่อสาร

R = Relavant  เป็นการหาความต้องการของจุดที่เชื่อมกันระหว่างกลุ่มวัยสีเงิน และสิ่งที่แบรนด์ต้องการ เป็นการกลับมาทบทวนว่าสิ่งที่แบรนด์ต้องการสื่อสาร เป็นสิ่งที่ลูกค้ากำลังมองหา

Magic Word  สำหรับสูงวัย คือ “การถูกที่ ถูกเวลา” ซึ่งจะทำให้พบกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย

สูงวัย

กลยุทธ์โดนใจวัยเก๋าและคำห้ามเรียก!

สำหรับการสื่อสารกับกลุ่มสูงวัยให้โดนใจ ไกรวิน วัฒนะรัตน์  ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง AHEAD.ASIA บริษัทผลิตข่าวและดิจิทัลคอนเทนท์ กล่าวว่ากลยุทธ์การสร้างสรรค์คอนเทนท์และการสื่อสารให้ตอบโจทย์กลุ่มสูงวัย เรื่องหลักๆ ที่นักการตลาดต้องทำความเข้าใจก่อนมี 5 เรื่องสำคัญ คือ

  • ห้ามเรียกกลุ่มสูงวัยว่า “แก่”  การสื่อสารกับกลุ่มนี้เรียกได้ 2 แบบ คือ พี่  หรือ แม่-พ่อ  เท่านั้นจึงจะเป็นที่พอใจ  ส่วนคำต้องห้ามของรุ่นนี้ คือ “ป้า” และ “ลุง” ห้ามเรียกเด็ดขาด เพราะเป็นคำที่ให้ความรู้สึกว่ามีอายุนั่นเอง
  • การใช้คำพูดกับกลุ่มสูงวัย  สามารถใช้คำพูดปกติที่คนทั่วไปหรือวัยรุ่นใช้กัน เช่น ชิลล์  ตะมุตะมิ  เพราะสูงวัยต้องการใช้ชีวิตเด็กลง จะเห็นได้ว่ากลุ่มนี้ชอบใช้สติ๊กเกอร์ไลน์
  • พูดตรงไปตรงมา  เพราะบางครั้งการใช้คำพูดที่สวยหรู ยังไม่เท่าความจริงใจ
  • มุมมองความสวยงามของแต่ละวัยไม่เหมือนกัน
  • สูงวัยนิยมของฟรีและของแถม
thumbnail คุณไกรวิน วัฒนะรัตน์ CEO Co Founder บริษัท AHEAD.ASIA Copy
ไกรวิน วัฒนะรัตน์  ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง AHEAD.ASIA

กลุ่มสูงวัยจะเรียกได้ว่าเป็นกลุ่ม Hyper Unique Individual ต้องให้ความสำคัญกับ Hyper-Personalized เพราะเป็นกลุ่มที่สามารถเลือกเสพสื่อและคอนเทนท์เวลาใดก็ได้ โดยไม่ต้องรอเวลาตามทีวีโปรแกรม

หากเป็นสินค้าประเภทเดียวกัน สิ่งที่กลุ่มสูงวัยและคนอายุน้อยต้องการจะแตกต่างกัน  เช่น ฟังก์ชั่นของโทรศัพท์มือถือ คนรุ่นใหม่ต้องการภาพคมชัด  แต่สูงวัยอาจต้องการมือถือกันน้ำ หรือหน้าจอไม่แตกเวลาหล่น

กลุ่มสูงอายุมีเวลาว่างหลังเกษียณ ทำให้ อีเวนท์ มาร์เก็ตติ้ง ต่างๆ สามารถใช้เป็นกลยุทธ์เพื่อเข้าถึงคนกลุ่มนี้ได้ดี เพราะให้ประสบการณ์ที่ดี เพราะยิ่งเทคโนโลยีล้ำหน้าจะทำให้ผู้คนคิดถึงอดีตมากขึ้น พบว่าธุรกิจแห่งความคิดถึงและความโหยหา เข้าถึงกลุ่มสูงวัยได้ดี  เช่น เพลินวาน ชาตรามือ “เพราะความคิดถึงหลอกกันไม่ได้”

หากแบรนด์และนักการตลาดทำความเข้าใจและสื่อสารเนื้อหาถูกช่องทาง ก็สามารถมัดใจวัยเก๋า กำลังซื้อสูงได้ไม่ยาก

เจาะอินไซต์วัย‘ซิลเวอร์’เสพสื่อ-โฆษณา ‘ไลน์-ทีวี’ครองแชมป์

Avatar photo