Business

นายกฯ โว! ตั้งแต่รับตำแหน่งปี 57 เศรษฐกิจดีขึ้น แต่ปีนี้ถดถอยเพราะพิษโควิด

“นายกฯ” เผยตั้งแต่รับตำแหน่งปี 57 เศรษฐกิจ ดีขึ้น แต่ปีนี้ไทยและทั่วโลกต้องถดถอย เพราะเจอพิษโควิด-19 พร้อมลุยสร้างความเข้มแข็งในประเทศฝ่าวิกฤติ

วันนี้ (6 ส.ค. 63) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดและกล่าวปาฐกถาพิเศษ Bangkok Post Forum 2020 : “พลิกฟื้นประเทศไทย: ก้าวต่อไปอย่างมั่นคง” ว่า ตั้งแต่ตนมาเป็น นายกรัฐมนตรี ในปี 2557 ได้เห็น เศรษฐกิจ ไทยที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2557 อยู่ที่เพียง 1.0 % และเริ่มเพิ่มขึ้นเป็น 3.1% และ 3.4% ในปี 2558 และ 2559 ตามลำดับ และเติบโตต่อเนื่อง

นายกฯ เศรษฐกิจ

จนปี 2563 เศรษฐกิจโลกและไทยต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด ใช้มาตรการล็อคดาวน์ ส่งผลให้เศรษฐกิจในหลายประเทศหดตัวต่อเนื่องจนเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และหลายประเทศขยายตัวต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกในปี 2552

องค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะยังชะลอตัวไปอีก 1-2 ปี ดังนั้น การฟื้นฟูเศรษฐกิจครั้งนี้ จึงหวังพึ่งพาปัจจัยภายนอกอย่างที่ผ่านมาไม่ได้ โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก ดังนั้น ไทยจึงจำเป็นต้องหันกลับมาเร่งส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศให้แข็งแกร่ง เพื่อชดเชยความต้องการสินค้าและบริการจากภายนอกในช่วงที่ทั่วโลกยังประสบวิกฤตอยู่

 

นายกฯ เผย “พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้าน” ช่วยพยุง เศรษฐกิจ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมารัฐบาลแก้ปัญหาเร่งด่วนมาเป็นลำดับ โดยออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาประชาชน ทั้งลดภาระค่าใช้จ่ายครัวเรือนของประชาชน ลดค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า การสนับสนุนเงินให้แก่ประชาชนกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ ทั้ง ลูกจ้างรายวัน มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบการท่องเที่ยว รวมถึงการจัดการหนี้เดิมที่มีอยู่ ทั้งมาตรการพักเงินต้น ลดดอกเบี้ย และขยายระยะเวลาชำระหนี้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบให้ประชาชนสามารถดำรงชีพอยู่ได้ในช่วงของการแพร่ระบาด และ เพื่อให้ทรัพยากรของภาครัฐเพียงพอต่อการพยุงสถานการณ์เศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพในระยะเร่งด่วน รัฐบาลจึงได้ตรา พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท

โดยมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานเป็นไปตาม 3 แผนงาน ได้แก่

  • แผนงานหรือโครงการด้านการแพทย์และสาธารณสุข วงเงิน 45,000 ล้านบาท
  • แผนงานหรือโครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับผู้ได้รับผลกระทบ วงเงิน 555,000 ล้านบาท
  • แผนงานหรือโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 400,000 ล้านบาท

นายกฯ เศรษฐกิจ

การจัดสรรเงินภายใต้เงินกู้ของ พ.ร.ก. นี้ ในเบื้องต้น คาดว่าจะช่วยพยุงให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินไปได้ระดับหนึ่ง โดยปัจจุบันได้มีการดำเนินงานภายใต้แผนงานหรือโครงการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินอันเนื่องมาจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ ยังมีส่วนของแผนงานหรือโครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับผู้ได้รับผลกระทบ

คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบแล้ว 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มอาชีพอิสระ โดยใช้จ่ายจากพระราชกำหนดฯ วงเงิน 170,000 ล้านบาท, กลุ่มเกษตรกร วงเงิน 150,000 ล้านบาท , กลุ่มเปราะบาง วงเงิน 20,345 ล้านบาท และ กลุ่มประชาชนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงิน 3,492 ล้านบาท ซึ่งจะเอื้อให้การใช้จ่ายและมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเริ่มกลับมาได้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนการดำเนินงานภายใต้แผนงานหรือโครงการฟื้นฟู เศรษฐกิจ และสังคม วงเงิน 400,000 ล้านบาท ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนและพัฒนากิจกรรมที่จะเป็นแรงส่งในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์การระบาดเริ่มคลี่คลาย รวมถึงรองรับการดำเนินวิถีชีวิตเข้าสู่วิถีปกติใหม่ (New Normal) ได้อย่างราบรื่น ผ่านการจ้างงานและการสร้างรายได้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และมุ่งเน้นโครงการที่จะสามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของชุมชนได้อย่างยั่งยืนเป็นลำดับแรก ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการทำให้เศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปพลิกฟื้นขึ้นมาได้

fig 24 03 2020 03 35 09

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นอกเหนือจากการเยียวยาฟื้นฟู เศรษฐกิจ แล้ว รัฐบาลยังเล็งเห็นความสำคัญในการปรับบริบทการพัฒนาประเทศด้านอื่น ๆ ให้สอดคล้องไปกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบให้มีความโปร่งใส และเป็นธรรมแก่ประชาชนและนักลงทุนทุกท่าน และท้ายที่สุด ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและภัยทางธรรมชาติ เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างเสมอมา เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัจจัยพื้นฐานของทุกภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรม

“ผมเห็นว่าควรต้องใช้วิกฤตครั้งนี้ เป็นโอกาสในการพลิกฟื้นประเทศให้กลับมา ดีกว่าเดิม ซึ่งต้องการความร่วมแรงร่วมใจของพี่น้องประชาชนจากทุกภาคส่วนในการ “รวมไทยสร้างชาติ” ภายใต้วิกฤตนี้ เราจะฟันฝ่าไปด้วยกัน “วันนี้เราต้องรอด วันหน้าเราต้องเข้มแข็งกว่าเดิม” และเดินต่อไปโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนอยู่ข้างหน้า เรามีเวลาเหลือไม่มากแล้ว เราจึงต้องเร่งฟื้นฟู เรียนรู้ และร่วมมือกันอย่างแข็งขัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo