Business

ส่งออกข้าว พลาดเป้า เร่งวาง ‘ยุทธศาสตร์ข้าวไทย’ หาคู่ค้าใหม่ ปรับการตลาดทั้งระบบ

ส่งออกข้าว พลาดเป้า หลังบาทแข็งทำข้าวไทยแพงกว่าคู่แข่ง จุรินทร์ เร่งวางยุทธศาสตร์ หาคู่ค้าใหม่เพิ่ม ปรับระบบการตลาด ฟื้นสถานการณ์ 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์ข้าวไทย ในตลาดโลก ไม่ค่อยดี ตั้งแต่ต้นปี 2563 เนื่องจากราคาข้าวไทยสูงขึ้นมาก ซึ่งเป็นผลจากการแข็งค่าเพิ่มขึ้น ของเงินบาท ทำให้คาดว่าปีนี้ไทยจะ ส่งออกข้าว พลาดเป้า หรือ ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้

ส่งออกข้าว พลาดเป้า

ทั้งนี้ จากการประเมินสถานการณ์โดยรวม สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย คาดว่า ปีนี้ประเทศไทย จะส่งออกข้าวไทย ได้ประมาณ 6.5 ล้านตัน ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมาย ที่กำหนดไว้ประมาณ 7-7.5 ล้านตัน สาเหตุหลัก มาจากปัญหาการแพร่ระบาด ของไวรัสโควิด-19 และ เงินบาทที่แข็งค่าขึ้น

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ ได้กำชับให้ทูตพาณิชย์ของไทย ที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เร่งหาตลาด และประชาสัมพันธ์ข้าวไทย เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคให้มากขึ้น

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ผลของเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับค่าเงิน ของประเทศคู่แข่ง จึงทำให้ผู้นำเข้าหลายประเทศ หันไปสั่งซื้อข้าว จากประเทศอื่นแทน อย่างไรก็ดี ขณะนี้เงินบาท เริ่มกลับมาอ่อนค่า จึงทำให้ราคาข้าวไทย ไม่สูงมาก และผู้ซื้อหลายราย เริ่มกลับมาสั่งซื้อข้าวไทยเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ จะร่วมมือกับ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เดินหน้าหาคู่ค้า ในตลาดใหม่ให้มากขึ้น เพราะเชื่อมั่นว่า ข้าวไทย ยังเป็นที่ต้องการในตลาดโลก จึงจำเป็นต้องมาวางแนวทาง การทำตลาดข้าวไทยในตลาดโลกร่วมกัน เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค

จุรินทร์
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

นอกจากนี้ สิ่งที่จะต้องปรับปรุงจากนี้ คือ ปรับแผนการตลาดทั้งระบบ ตั้งแต่การเพาะปลูก การวิจัย และพัฒนา ข้าวพันธุ์ใหม่ ๆ การลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้วงจรการเพาะปลูกข้าวไทย มีราคาต่ำกว่าคู่แข่ง ซึ่งขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างจัดทำ ยุทธศาสตร์ข้าวไทย เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิต และการแข่งขันในตลาโลก

ด้าน สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ปัจจัย ที่มีผลต่อการส่งออกข้าวไทย ในปีนี้ ได้แก่

1. ค่าเงินบาท ยังคงอยู่ในระดับแข็งค่า กว่าประเทศคู่แข่งที่สําคัญ ทําให้ราคาข้าวไทย ยังคงแพงกว่า ประเทศคู่แข่ง ประมาณ 30-80 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ส่งผลให้ไทย ไม่สามารถแข่งขันด้านราคา กับประเทศคู่แข่งที่สําคัญได้

2. ภาวะภัยแล้งในประเทศไทย ทําให้ผลผลิตข้าว โดยเฉพาะข้าวขาว มีปริมาณลดลง ส่งผลให้ราคาข้าวภายในประเทศ ปรับตัวสูงขึ้น ทําให้การแข่งขันด้านราคา กับประเทศคู่แข่ง ยากลําบากมากขึ้น

ข้าว

3. ประเทศผู้นําเข้าที่สําคัญ เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย จีน นิยมบริโภคข้าวนุ่ม แต่ประเทศไทย ยังไม่สามารถผลิตข้าวชนิดนี้ได้ เพียงพอกับความต้องการ และระดับราคา ยังไม่สามารถแข่งขัน กับประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม

4. ภาวะฝนที่ตกหนัก และเกิดอุทกภัย ในประเทศผู้ผลิต และส่งออกข้าว ที่สําคัญ เช่น จีน อินเดีย บังคลาเทศ อาจส่งผลกระทบการผลิตข้าว และภาวะราคาข้าวในประเทศ (กรณีของประเทศอินเดียคาดว่าจะส่งผลดีต่อการผลิตข้าว)

5. ประเทศจีน ยังคงมีสต็อกข้าวปริมาณมาก ทําให้ความต้องการนําเข้าข้าวลดลง ในขณะเดียวกัน ก็มีการส่งออกข้าว ไปต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดแอฟริกา ซึ่งคาดว่าปีนี้ จีนจะส่งออกข้าวได้ประมาณ 3.5-4 ล้านตัน

6. การระบาดของ เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก ส่งผลกระทบ ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทําให้กําลังซื้อของผู้บริโภค ลดลง ในขณะเดียวกัน ก็ส่งผลให้ผู้บริโภค มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การบริโภคข้าวไปจากเดิม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo