Business

‘ประกันสังคม’ จ่าย 1.5 หมื่นบาทได้ทันที 3 หมื่นคน ที่เหลือต้องรอข้อมูลเพิ่ม

“ประกันสังคม” คาดโอนชดเชย 1.5 หมื่นบาทได้กลางเดือนนี้ โดยผู้ประกันตน 3 หมื่นคนจ่ายได้ทันที ส่วนที่เหลือต้องรอข้อมูลเพิ่ม เพราะไม่มีเลขบัญชีเงินฝากในระบบ

นางพิศมัย นิธิไพบูลย์ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ในฐานะโฆษกสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยถึงมาตรการบรรเทาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 สำหรับผู้ลูกจ้างในระบบกองทุนประกันสังคม ผ่านรายการสถานีประกันสังคม เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2563

ประกันสังคม พิศมัย

นางพิศมัยกล่าวว่า โครงการจ่ายเงินชดเชยรายได้ 15,000 บาท แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา (โควิด-19) จะจ่ายให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ไม่ได้รับเงินชดเชยกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยไวรัสโควิด-19 ในอัตรา 62% ของค่าจ้างรายวัน เนื่องจากจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมไม่ครบ 6 เดือน ภายใน 15 เดือนย้อนหลัง

โดย สำนักงานประกันสังคม ส่งรายชื่อสถานประกอบการที่หยุดกิจการชั่วคราวและรายชื่อลูกจ้างที่จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 6 เดือน จำนวน 5.9 หมื่นรายชื่อ ไปขอเงินชดเชยจาก กระทรวงการคลัง แล้ว ซึ่งกระทรวงการคลังได้อนุมัติเงินชดเชยรายได้ให้เดือนละ 5,000 บาท ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563 แต่เนื่องจากเวลาได้ผ่านไปแล้ว จึงจะจ่ายเงินเพียงครั้งเดียวจำนวน 15,000 บาท

ประกันสังคม มาตรา 33

นางพิศมัยกล่าวต่อว่า หลังจากสำนักงานประกันสังคมได้รับงบประมาณจากกระทรวงการคลังแล้ว ก็คาดว่าจะโอนเงินให้ผู้ประกันตนที่เข้าเกณฑ์ได้ทันที 30,000 กว่าราย ในช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2563 เนื่องจากระบบประกันสังคมมีข้อมูลบัญชีเงินฝากของผู้ประกันตนกลุ่มนี้อยู่แล้ว

ด้านผู้ประกันตนที่เหลือ สำนักงานประกันสังคม ยังไม่สามารถโอนเงินได้ทันที เพราะลูกจ้างกลุ่มนี้ไม่เคยเบิกสิทธิ์ประโยชน์ใดๆ จากกองทุนประกันสังคมมาก่อน ทำให้ไม่มีเลขบัญชีเงินฝากอยู่ในระบบ สำนักงานฯ จึงจะติดต่อลูกจ้างกลุ่มนี้โดยตรง เพื่อให้ส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้อมูลบัญชีเงินฝาก

 ลูกจ้างไม่ต้องมายื่นใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าการจ่ายเงินส่วนนี้เป็นเงินของกระทรวงการคลัง เจ้าหน้าที่ประกันสังคมไม่ได้วินิจฉัย จะสั่งจ่ายโดยตรงจากส่วนกลาง เพราะฉะนั้นการติดตามลูกจ้างให้ยื่นเอกสารเพิ่มเติม จะดำเนินการโดยส่วนกลาง จังหวัดไม่ได้ดำเนินการตรงนี้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปตามจังหวัดหรือหน่วยบริการ

 

“เงินชดเชยว่างงานโควิด-19” จ่ายไปแล้ว1.4 หมื่นล้าน

สำหรับการจ่ายเงินกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยโควิด-19 ในอัตรา 62% เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วันของกองทุนประกันสังคมนั้น นางพิศมัยกล่าวว่า ล่าสุดกองทุนฯ จ่ายเงินไปแล้วประมาณ 9.1 แสนราย คิดเป็น 8% ของผู้ประกันตนมาตรา 33 ทั้งหมด 11 ล้านคนและคิดเป็นวงเงินประมาณ 14,000 กว่าล้านบาท

โดยคาดว่าคงจะไม่มีเพิ่มแล้ว เพราะมาตรการจ่ายเงินกรณีเหตุสุดวิสัยโควิด-19 จะเปิดรองรับกรณีว่างงานได้ถึงเดือนสิงหาคม 2563 เท่านั้น โดยขณะนี้การจ่ายเงินเหลือตกค้างอีกไม่กี่ราย

ประกันสังคม มาตรา 33

“ประกันสังคม” กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19

ผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือพนักงานเอกชนที่ว่างงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัยจากไวรัสโควิด-19 มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนระหว่างวันที่ 1 มีนาคม-31 สิงหาคม 2563 จาก ประกันสังคม

เหตุสุดวิสัย หมายความรวมถึง ภัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19  หรือโรคติดต่ออันตรายอื่นตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อซึ่งมีผลกระทบต่อสาธารณชน และถึงขนาดที่ผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้ หรือนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ดังนี้

  • ประกันตนถูกกักตัว

ในกรณีมีเหตุสุดวิสัย และลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน โดยลูกจ้างที่ไม่ได้ทำงานหรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน เนื่องจากต้องกักตัวหรือเฝ้าระวังการระบาดของโรค

ให้ลูกจ้างดังกล่าว ซึ่งไม่ได้รับค่าจ้าง มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในอัตรา 62% ของค่าจ้างรายวัน ตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานหรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน แต่ไม่เกิน 90 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 หรือตามระยะเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.)

  • ปิดกิจการชั่วคราว

ในกรณีมีเหตุสุดวิสัยถึงขนาดที่นายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการไม่ว่าทั้งหมด หรือแต่บางส่วนเป็นการชั่วคราว และลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตน ไม่สามารถทำงานได้และไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น ไม่ว่านายจ้างจะหยุดประกอบกิจการเอง หรือหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งของทางราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ หรือกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ให้ลูกจ้างดังกล่าว ซึ่งไม่ได้รับค่าจ้าง มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ในอัตรา 62% ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการ แต่ไม่เกิน 90 วัน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1  มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 หรือตามระยะเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของ ครม.

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo