Business

‘เยียวยาเกษตรกร’ 3 เดือน จ่ายแล้วกว่า 1.1 แสนล้าน บรรเทาพิษโควิด-19

เยียวยาเกษตรกร เข้าเป้าหมาย 3 เดือนจ่ายไปแล้วกว่า 1.1 แสนล้านบาท สศก.ชี้ เกษตรกร 99% พอใจ ใช้เงินเยียวยา ต่อยอดอาชีพ บรรเทาผลกระทบโควิด-19

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พอใจผลการดำเนินงานโครงการ เยียวยาเกษตรกร ที่สามารถเดินหน้าตามเป้าหมาย 3 เดือน โดยจ่ายเงินเยียวยาให้เกษตรกรกว่า 7.7 ล้านคน ไปแล้ว รวมวงเงินกว่า 1.1 แสนล้านบาท

เยียวยาเกษตรกร

“ต้องขอบคุณทุกหน่วยงาน รวมทั้งคณะรัฐมนตรี แทนเกษตรกรทุกคน ที่ช่วยสนับสนุนกระทรวงเกษตรฯ ในการดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบ จากการระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จนลุล่วงคืบหน้าด้วยดี ซึ่งโครงการนี้จะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้” นายอลงกรณ์ กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ทำหน้าที่ นายทะเบียน รวบรวม และจัดทำระบบคัดกรองที่ถูกต้อง โดย สศก. ได้ทำการตรวจสอบความซ้ำซ้อนข้อมูล และส่งรายชื่อเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์ฯ ให้กับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกร รายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2563

จากรายงานของสศก. แจ้งว่า ได้จัดส่งรายชื่อเกษตรกร ที่ได้ตรวจสอบความซ้ำซ้อนของข้อมูล กับโครงการเราไม่ทิ้งกัน ของกระทรวงการคลัง ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ข้าราชการบำนาญของกรมบัญชีกลาง และระบบประกันสังคมของสำนักงานประกันสังคม ให้ ธ.ก.ส. เพื่อโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกร (ข้อมูล ณ 31 ก.ค.63) รวมทั้งสิ้น 7,747,490 ราย

ขณะที่ ธ.ก.ส. ดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกร ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม – 31 กรกฏาคม 2563 รวม 3 งวด จำนวน 112,126.730 ล้านบาท คิดเป็น 96.48% ของเป้าหมาย 116,212.35 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • งวดที่ 1 จำนวน 7,486,705 ราย จำนวนเงิน 37,433.525 ล้านบาท
  • งวดที่ 2 จำนวน 7,472,114 ราย จำนวนเงิน 37,360.570 ล้านบาท
  • งวดที่ 3 จำนวน 7,466,527 ราย จำนวนเงิน 37,332.635 ล้านบาท
อลงกรณ์
อลงกรณ์ พลบุตร

อย่างไรก็ตาม ยังมีเกษตรกรที่ยังไม่สามารถโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรได้ เนื่องจากไม่ได้แจ้งเลขบัญชี ขณะนี้ได้เร่งให้หน่วยงานในพื้นที่ ติดตามเกษตรกร เพื่อส่งเลขบัญชีให้กับ ธ.ก.ส. ดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกร โดยดำเนินการหลายช่องทาง เช่น ติดประกาศณ หน่วยงานในพื้นที่ โทรศัพท์แจ้งเกษตรกรโดยตรง รวมทั้งส่งรายชื่อให้กับผู้นำชุมชน เพื่อไปแจ้งเกษตรกรต่อไป

สำหรับเกษตรกรกลุ่มสุดท้าย ที่ได้แจ้งความจำนงเพาะปลูก และปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร กับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนวันที่ 15 พฤษภาคม และเพาะปลูกพืชก่อนวันที่ 30 มิถุนายน ซึ่งมีจำนวน 38,737 ราย กลุ่มนี้จะได้รับเงินครั้งเดียว 15,000 บาท ภายในเดือนสิงหาคมนี้

ด้านผลการอุทธรณ์ มีเกษตรกรที่มาขอยื่นเรื่องอุทธรณ์เยียวยาของทั้ง 8 หน่วยงาน โดยตรวจสอบความถูกต้องและซ้ำซ้อนแล้ว คงเหลือ 189,645 ราย ซึ่งล่าสุด การประชุมคณะกรรมการพิจารณาการอุทธรณ์ ครั้งที่ 6/2563 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมพบว่า มีเกษตรกรที่เข้าหลักเกณฑ์ ที่สามารถจ่ายเงินเยียวยาได้ 70,338 ราย และอยู่ระหว่างการพิจารณาตรวจสอบสิทธิ์อีก 269 ราย

เกษตรกร 99% พอใจเงินเยียวยา

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า สศก. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการรับขึ้นทะเบียนเกษตรกร ได้สำรวจข้อมูลในระหว่างเดือน มิถุนายน – กรกฎาคม 2563 พบว่า เกษตรกร 99% พึงพอใจ ต่อการดำเนินงานโครงการในระดับมาก มีเพียงบางส่วนเท่านั้น ไม่พึงพอใจ เนื่องจากยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการ และอยู่ระหว่างอุทธรณ์

ขณะที่ เกษตรกร 96% เห็นว่าจำนวนเงินช่วยเหลือ เพียงพอต่อการบรรเทาความเดือดร้อน มีเพียง 4% ที่เห็นว่าจำนวนเงินที่ได้รับไม่เพียงพอ เนื่องจากความเสียหาย จากการทำการเกษตร มีมากกว่าจำนวนเงินที่ได้รับ ส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้

ผลสำรวจยังพบว่า เกษตรกรที่ได้รับเงินช่วยเหลือ มีการนำเงินไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ โดยจะนำไปลงทุนทางการเกษตรเช่น ซื้อพันธุ์สัตว์ อาหารสัตว์ ปุ๋ย และซ่อมแซมโรงเรือน เป็นอันดับแรก ที่เหลือ นำไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน ลงทุนนอกการเกษตร เช่น ซื้อสินค้าไปจำหน่ายต่อ และนำไปชำระหนี้สิน จ่ายค่าเช่า รวมทั้งนำไปใช้จ่ายอื่นๆ

จากการดำเนินโครงการดังกล่าว ทำให้เห็นถึงความสำคัญ ของการจัดทำระบบ ฐานข้อมูล ทะเบียนเกษตรกร ที่เป็นฐานข้อมูลเดียวกัน ควรมีการเชื่อมโยงข้อมูล กับ ฐานข้อมูล ทะเบียนราษฎร์ กรมที่ดิน ส.ป.ก. จะทำให้การดำเนินงานอื่นๆ หรือการปรับปรุงข้อมูลของหน่วยงานมีความเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ การตรวจสอบคัดกรองข้อมูล จะดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น

นอกจากนี้ หากมีการประชาสัมพันธ์ไปทางกระทรวงมหาดไทย ที่สามารถเข้าถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้ทั่วถึงและรวดเร็วกว่า จะช่วยให้การดำเนินงานโครงการได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น สร้างความตระหนักให้เกษตรกร เห็นความสำคัญของการขึ้นทะเบียน ปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร เพื่อได้รับการช่วยเหลือในโครงการต่างๆ

พร้อมกันนี้ เกษตรกร ได้ให้ข้อคิดเห็นถึงรูปแบบการช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ หรือเหตุการณ์อื่น โดยต้องการให้จ่ายเงินช่วยเหลือเป็นลำดับแรก รองลงมาคือการจัดหาตลาด ช่วยกระจายผลผลิตของเกษตรกร การสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยา พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ หรือ อาหารสัตว์ จัดอบรมให้ความรู้ จัดหาแหล่งน้ำ รวมทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการเพาะปลูก และลดดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นต้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo