Digital Economy

เปิดภาพใหญ่ Transformation ‘เอสซีจี’ 5 ปี 6,000 ล้านบาท

SCG
นายยุทธนา เจียมตระการ และ ดร. จาชชัว แพส (ซ้ายไปขวา)

เอสซีจีเปิดแผน “Digital Transformation” องค์กรมูลค่า 6,000 ล้านบาท เปิดภาพใหญ่ 3 ทีม “Internal Startup – External Startup – Core Transformation” มุ่งปรับแนวคิดพนักงานกว่า 53,000 คนสู่การเป็น Entrepreneurship รับมือการเปลี่ยนแปลง

หลังจากเปิดตัว AddVentures ในฐานะหน่วยงานด้านการลงทุน (Corporate Venture Capital) ของเอสซีจีตั้งแต่ปีที่ผ่านมา วันนี้อาจกล่าวได้ว่า ภาพใหญ่ของการ Transformation องค์กรของเอสซีจีชัดเจนมากยิ่งขึ้นแล้ว โดยได้มีการเปิดเผยจากนายยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารกลาง เอสซีจี ว่า การปรับตัวครั้งนี้ของเอสซีจีเกิดขึ้น 3 ส่วน นั่นคือมีทั้งการปรับภายในองค์กรเอง ที่มองหาความต้องการของลูกค้าในระดับที่ลึกมากขึ้น เพื่อให้เข้าใจถึง Insight ที่แท้จริง นอกจากนั้นยังมีการร่วมมือกับสตาร์ทอัพภายนอกองค์กร และการสร้างทีมสตาร์ทอัพจากพนักงานของเอสซีจีเอง ภายใต้โครงการ Internal Startup เพื่อเปิดโอกาสพนักงานที่มีศักยภาพริเริ่มโมเดลธุรกิจใหม่

โดยปัจจุบัน โครงการ Internal Startup ของเอสซีจีได้ดำเนินการมาถึงแบทช์ที่ 2 แล้ว และมีพนักงานเอสซีจีเข้าร่วมแล้วจำนวนหนึ่ง โดยโปรแกรมของ Internal Startup จะเกิดขึ้นภายใต้ Startup Studio ที่แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ Hatch (ระยะนำเสนอแนวความคิด), Walk (ระยะที่ให้พนักงานลงมือปฏิบัติ และเรียนรู้) และ Fly (ระยะที่เปรียบเหมือนลูกนกเติบโตจนสามารถบินออกไปสร้างรังเองได้)

ดร.จาชชัว แพส ผู้อำนวยการ Digital Transformation เอสซีจี และกรรมการผู้จัดการ AddVentures โดยเอสซีจี กล่าวว่า โครงการบ่มเพาะธุรกิจสำหรับพนักงานภายใน หรือ Internal Startup Program จัดขึ้นเพื่อให้พนักงานที่มีศักยภาพ มี Passion ในการทำธุรกิจ และอยากมีส่วนร่วมในการคิดที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อลูกค้า สามารถนำเสนอโมเดลธุรกิจของตัวเองเข้ามาร่วมโครงการ โดยผู้เข้าร่วมจะได้รับโอกาสในการทำงานอย่างอิสระ รวมถึงได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากเอสซีจีโดยตรงสำหรับการดำเนินโครงการ

Screenshot 20180905 175128
การลงทุนในสตาร์ทอัพภายนอกองค์กรที่ผ่านมาของ Addventures by SCG

ขณะที่ส่วนงานภายนอกนั้น หลังจากก่อตั้ง AddVentures โดยเอสซีจี มาได้ราวปีกว่า ได้พัฒนาความร่วมมือไปในหลากหลายลักษณะ ทั้งการเข้าลงทุนผ่านกองทุนชั้นนำที่ลงทุนในสตาร์ทอัพ (Fund of Fund Investment) และการลงทุนโดยตรงในสตาร์ทอัพ (Direct Investment) โดยมีความร่วมมือที่สำคัญ เช่น ความร่วมมือกับ GIZTIX สตาร์ทอัพด้าน Logistics Market Place, BUILK แพลตฟอร์มการบริหารธุรกิจก่อสร้างซึ่งมีอยู่แล้วใน 5 ประเทศ และ Baania แพลตฟอร์มค้นหาอสังหาริมทรัพย์พร้อมบริการข้อมูลครบวงจร

ปัจจุบัน AddVentures ได้เข้าลงทุนทั้งแบบ Fund of Fund Investment และ Direct Investment แล้ว 11 ราย และสร้างความร่วมมือในเชิงพาณิชย์กับบริษัทภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทด้านเทคโนโลยี ทั้งที่เป็น Early stage และ Growth stage startups ทั่วโลก ซึ่งมีโครงการที่มีความคืบหน้าแล้วกว่า 70 โครงการ

สำหรับงบประมาณในการ Transformation ภายใต้ 3 ส่วนงานดังกล่าวนั้น เอสซีจีเผยว่า แบ่งออกเป็นงบประมาณสำหรับการลงทุนสตาร์ทอัพภายนอก 3,000 ล้านบาท และการลงทุนใน Deep Technology อีก 3,000 ล้านบาท โดยมีระยะเวลา 5 ปี (เริ่มตั้งแต่ปี 2560)

ส่วนของ Internal Startup นั้น พนักงานจะได้รับการสนับสนุนจากเอสซีจีโดยตรง จึงไม่ได้รวมอยู่ในงบ 6,000 ล้านบาทที่กล่าวไว้ข้างต้นแต่อย่างใด

สำหรับเป้าหมายของการ Transformation องค์กรในครั้งนี้คือการมี Internal Startup ที่สามารถเติบโตได้ด้วยตัวเอง รวมถึงมีสตาร์ทอัพในองค์กร 40 – 50 ราย นอกจากนั้น การวัดผลของพนักงานในส่วน Internal Startup ก็จะแตกต่างไปจากพนักงานส่วนอื่น ๆ นั่นคือการใช้ OKR ซึ่งเป็นเกณฑ์แบบใหม่ในการวัดผลแทน KPI ด้วย 

นายยุทธนายังได้เปิดเผยด้วยว่า ปัจจุบันเอสซีจีมีพนักงาน 53,394 คน ในจำนวนนี้เป็นพนักงานที่ทำงานในต่างประเทศประมาณ 17,400 คน ซึ่งในภาวะที่องค์กรต้องการ Transformation นั้น พนักงานส่วนอื่น ๆ ที่ไม่ได้เข้ามาในโปรแกรม Internal Startup ก็จะมีโครงการเพื่อเพิ่มทักษะให้เช่นกัน เช่น หลักสูตรออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงได้ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ โดยภาพเหล่านี้เป็นการเตรียมความพร้อมให้พนักงานสามารถปรับตัว และเพิ่มทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในยุคดิจิทัล

Avatar photo