Finance

‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ คาดที่ประชุมกนง.พรุ่งนี้ มีมติคงดอกเบี้ย!

ประชุม กนง. 5 ส.ค. “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” คาดมีมติคงคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% เพื่อรอดูภาวะเศรษฐกิจในประเทศ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 5 สิงหาคม 2563 คณะกรรมการฯ จะพิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% เพื่อรอดูภาวะเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะ GDP ไตรมาส 2/2563 ที่คาดว่าจะหดตัวลึกสุดในรอบปี ซึ่งหากหดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ก็จะเพิ่มแรงกดดันให้ภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม

อีกทั้ง คาดว่า ที่ ประชุม กนง. คงจะรอติดตาม ประสิทธิผลของมาตรการการเงิน และ การคลัง ที่ออกมาก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ ปัจจุบัน ถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทีมเศรษฐกิจใหม่ของทั้ง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง

ประชุม กนง.

ดังนั้น กนง. คงจะไม่พิจารณาเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมที่จะถึงนี้ เพื่อรอดูมาตรการต่าง ๆ ที่จะออกมาก่อน

ทั้งนี้ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ขณะที่ ความสามารถในการดำเนินนโยบายท​างการเงิน และ การคลัง มีจำกัดมากขึ้น ภาครัฐ คงต้องพิจารณาออกนโยบายที่มุ่งเน้นให้มีประสิทธิผลมากที่สุด โดย ธปท. คงพยายามดำเนินนโยบายด้านอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เพียงแค่ลดดอกเบี้ย แต่มุ่งเน้นนโยบาย ที่จะมีประสิทธิผลต่อภาคธุรกิจ และ ภาคครัวเรือนโดยตรง และมีผลต่อกลไกทางเศรษฐกิจมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทย ยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น จากการระบาดซ้ำของโควิดในหลายประเทศ ที่ดูจะรุนแรงกว่าในรอบแรก ทำให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวช้าลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ที่พึ่งพาภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวในระดับสูง

ขณะที่ มาตรการเยียวยาของภาครัฐในรอบแรกก็ใกล้จะสิ้นสุดลง อีกทั้งการว่างงานของไทยยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นปัจจัยฉุดรั้งกำลังซื้อ และเศรษฐกิจในประเทศ โดยประเด็นดังกล่าว เป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ ทำให้ภาครัฐอาจจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า

สำหรับนโยบายทางการเงิน แม้ว่าจะเป็นที่เข้าใจได้ว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายยิ่งเข้าใกล้ศูนย์ ประสิทธิผลก็จะยิ่งลดลง แต่หากสถานการณ์มีความจำเป็น การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายก็ยังคงมีความเป็นไปได้ในระยะข้างหน้า

ประชุม กนง.

ด้านนางสาวรุ่ง สงวนเรือง ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) คาดว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดย กนง. จะเน้นย้ำความไม่แน่นอน ต่อทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป และพร้อมใช้เครื่องมือที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจไทย ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2 แต่สถานการณ์ยังคงเปราะบาง และผลกระทบเชิงลบจากโควิด มีแนวโน้มลากยาว ขณะที่ความเสี่ยงด้านขาลงของเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับสูง

ขณะที่ตลาดการเงิน กำลังติดตามข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญจากสหรัฐ หลายรายการ อาทิ ดัชนีภาคการผลิตและบริการ รวมถึงการจ้างงานนอกภาคเกษตร หลังประกาศจีดีพีในไตรมาส 2 หดตัวลง 32.9% ถือเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการจัดเก็บตัวเลขนี้ในปี 2490 และความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นทางการคลังชุดใหม่ หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงกรอบเป้าหมายดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ 0-0.25% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 4/2563 ว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ มีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ โดยคาดว่าจะหดตัว 8.1% และกลับมาขยายตัวได้ 5% ในปีหน้า เป็นผลจากการระบาดของไวรัสโควิดทั่วโลกที่รุนแรงกว่าคาด และรัฐบาลหลายประเทศรวมถึงไทยต้องดำเนินมาตรการควบคุมการระบาด ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงักรุนแรง และกระทบต่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจและวิถีชีวิตใหม่ของประชาชน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

สำหรับการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มหดตัวสูงในไตรมาส 2/63 สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและปริมาณการค้าโลก รวมถึงภาคธุรกิจได้รับผลกระทบจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิต และการระงับเส้นทางขนส่ง อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าจะทยอยปรับดีขึ้นในไตรมาส 3/63 ตามการทยอยผ่อนคลายมาตรการการควบคุมการระบาดของหลายประเทศ ซึ่งจะทำให้อุปสงค์ต่างประเทศปรับดีขึ้น

ด้านการส่งออกบริการ มีแนวโน้มหดตัวแรงตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลงมากตลอดช่วงประมาณการ อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติขึ้นกับความเชื่อมั่นต่อการควบคุมการระบาดและแนวทางการเปิดประเทศภายใต้มาตรการระเบียงท่องเที่ยว (travel bubble)

การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัวจากที่ประเมินและคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างจำกัด เนื่องจากการจ้างงานเปราะบางมากขึ้น การว่างงานสูงขึ้นและรายได้แรงงานชะลอตัวตามการปรับตัวของภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น

คณะกรรมการประเมินว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังมีความเสี่ยงหลายด้าน เช่น เศรษฐกิจโลกที่อาจหดตัว หรือฟื้นตัวช้ากว่าคาด ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนที่จะลดลงมาก รวมทั้งโอกาสและความรุนแรงของการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบ 2 หากมีการเปิดประเทศตามมาตรการ Travel Bubble

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo