Business

จับชีพจร ครึ่งปีแรก ‘ทีวีดิจิทัล’ เรตติ้งเพิ่ม เม็ดเงินโฆษณาไม่เพิ่ม

ครึ่งปีแรก ทีวีดิจิทัล และเป็นปีที่ 6 ของทีวีดิจิทัลของไทย อีกทั้งยังเป็นปีที่ธุรกิจทีวีดิจิทัล ได้รับผลกระทบ ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจ และไวรัสโควิด-19

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้จัดทำผลสำรวจ ครึ่งปีแรก ทีวีดิจิทัล หรือ ในช่วง 6 เดือนแรก ปี 2563 ที่ผ่านมา พบว่า มาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ช่วงเดือนมีนาคม ช่วยให้เรตติ้งของทุกช่องดีขึ้น

ทีวีดิจิทัล

ทั้งนี้ แม้ว่าช่องทีวีดิจิทัล ส่วนใหญ่ต้องจัดรายการเก่า มาออกอากาศซ้ำ หรือรีรัน เพื่อแก้ปัญหาการที่ไม่สามารถถ่ายทำรายการใหม่ได้ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขความนิยม ของแต่ละช่องที่สูงขึ้น ไม่ได่ส่งผลตอบแทน ในแง่รายได้ของแต่ละช่อง ในรูปของโฆษณาเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจเป็นหลัก ทำให้เจ้าของสินค้าต่าง ๆ ชะลอการใช้จ่ายเงินค่าโฆษณา ในช่วงโควิด-19

เมื่อเปรียบเทียบผลงานของช่องทีวีดิจิทัล ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 และปี 2562 พบว่า ช่องส่วนใหญ่ มีความนิยมสูงขึ้น แต่เหตุผลหลักมาจากจำนวนช่องทีวีดิจิทัลลดลง โดยใน 6 เดือนแรกของปี 2562 มีช่องทีวีดิจิทัล ที่มีการวัดเรตติ้งทั้งหมด 25 ช่อง ยกเว้นช่องทีวีรัฐสภา ที่ไม่มีการวัดเรตติ้ง

ต่อมาในช่วงครึ่งปีหลัง ของปี 2562 มีจำนวน 7 ช่อง ที่ขอคืนใบอนุญาต ทำให้เหลือช่องทีวีดิจิทัล ที่มีการวัดเรตติ้งจำนวนทั้งหมด 18 ช่อง จนถึงปัจจุบัน มีส่วนทำให้เรตติ้งเฉลี่ยของแต่ละช่องเพิ่มสูงขึ้น

ในรอบ 6 เดือน ช่องที่มีผลงานโดดเด่นมากที่สุด ได้แก่ ช่องอมรินทร์ทีวี มีเรตติ้งเฉลี่ย อยู่ที่ 0.532 อันดับ 7 สูงกว่า 6 เดือนแรกของปี 2562 ที่มีเรตติ้งเฉลี่ย 0.307 อยู่ในอันดับ 8

รองลงมาได้แก่ ช่องไทยรัฐทีวี เรตติ้งเฉลี่ย 0.599 อันดับ 5 สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ที่มีเรตติ้งเฉลี่ย 0.426 ในอันดับ 6 และอันดับ 3 ได้แก่ ช่อง Mono เรตติ้งเฉลี่ย 0.922 เพิ่มจาก 0.798 โดยอยู่ในอันดับ 3 เช่นเดิม

4AUG ผลงานทีวีดิจิทัล

ประเด็นที่น่าจับตามอง หลังจากนี้คือ หลังจากศาลปกครองกลาง มีคำสั่งว่า ประกาศของ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ หรือหลักเกณฑ์การเรียงช่อง โดยให้ทีวีดาวเทียม หรือ เคเบิลทีวี ต้องนำช่องดิจิทัลทีวี ไปไว้ในโครงข่ายของตน และเรียงหมายเลขช่อง ตามผลการประมูลของ กสทช. เป็นประกาศที่ไม่ถูกต้อง

นั่นเพราะ ทำให้เคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียม ไม่ต้องเรียงหมายเลขช่อง ตามประกาศเดิม ซึ่งจะส่งผลกระทบ ต่อผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ที่ทุ่มเงินกว่า 5 หมื่นล้านบาท ในการประมูล และสร้างความสับสน ให้กับผู้ชมอย่างมาก

ขณะที่ สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ประเทศไทย) จะมีการเจรจากับ กสทช. เพื่อหาทางออกร่วมกัน ในเรื่องของการเรียงช่อง เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคสับสน หากต้องมีการจัดเรียงช่องใหม่ ช่องเคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียม จะเรียงอยู่ช่องใดก็ได้ ย่อมส่งผลกระทบ ต่อผู้ประกอบการ ที่ต้องเสียเงินประมูลมามหาศาล และผู้ชมจะเดือดร้อน สร้างความเสียหาย ให้กับอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล ทั้งระบบ

ทั้งนี้เพราะ กสทช. เป็นผู้ออกประกาศเรียงช่อง และการที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ยอมลงทุนเข้าร่วมประมูล ในราคาสูง เกิดขึ้นบนพื้นฐานที่ กสทช. ให้ความเชื่อมั่นว่า จะมีผู้ชมทั่วประเทศ เมื่อเกิดปัญหานี้ กสทช. ก็ต้องตอบคำถามให้ได้ ว่าจะทำอย่างไรต่อไป ซึ่งต้องหาทางออกร่วมกันให้ได้ เพื่อความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo