Social

ยังไม่จบ! คณะทำงานอัยการชี้ มีหลักฐานใหม่ ‘บอส อยู่วิทยา’ รื้อคดีใหม่ได้

เปิดรายละเอียด “คณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาการสั่ง คดีบอส อยู่วิทยา” ของทางอัยการ แถลงผลตรวจสอบคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาด ย้ำให้เห็นความเห็น เกี่ยวกับเรื่องตัวบุคคลไม่ได้ เตรียมเสนอให้ส่งฟ้อง ข้อหาเสพยาเสพติด และขับรถโดยประมาท หลังได้หลักฐานใหม่ สามารถรื้อคดีได้ 

วันนี้ (4 ส.ค.) ที่อาคาร 120 ปี สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ นายสมศักดิ์ ติยะวานิช รองอัยการสูงสุด (อสส.) นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาธนบุรี นายชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา นายอิทธิพร แก้วทิพย์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา และนายประยุทธ เพชรคุณ อัยการพิเศษฝ่าย และรองโฆษกสำนักงาน อสส. แถลงข่าว ถึงผลการประชุม คณะทำงาน ตรวจสอบ การพิจารณาการสั่งคดีนายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา

bbbb

นายสมศักดิ์ ติยะวานิช รอง อสส. มอบหมายให้นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงาน อสส. แถลงถึงกรณีนี้ว่า สำนวนคดีนี้ นายเนตร นาคสุข รอง อสส.พิจารณาวินิจฉัยตามพยานหลักฐานในสำนวน ไม่ได้อยู่นอกเหนือสำนวน

โดย พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ แตงจั่น ผู้เชี่ยวชาญเรื่องความเร็วรถ จากเดิมเห็นว่ามีความเร็วประมาณ 177 กม./ชม. แต่ภายหลังระบุว่า มีความเร็วไม่เกิน 100 กม./ชม. ดังนั้นเมื่อดูทั้งพยานชุดเก่า และชุดใหม่ ณ เวลาที่สำนวนอยู่กับนายเนตร จึงไม่มีความเร็วรถ ของพยานปากใด ที่เห็นว่าเกิน 100 กม./ชม. แต่เฉลี่ยความเร็วประมาณ 70-90 กม./ชม.

“คณะทำงาน จึงเห็นว่า สิ่งที่นายเนตร หยิบมาวินิจฉัย เป็นพยานหลักฐานในสำนวน ไม่ได้อยู่นอกเหนือสำนวน การพิจารณาคดีของพนักงานอัยการ ต้องว่ากันตามพยานหลักฐาน เพราะมีทั้งพยานชุดเก่า และชุดใหม่ นี่คือที่มาที่ไป ที่นายเนตรมีคำสั่งไม่ฟ้อง และส่งเรื่องให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในเวลาต่อมา” 

นายประยุทธ กล่าวอีกว่า ส่วนความเห็นของคณะทำงานชุดนี้ มีข้อเสนอแนะนำเรียน อสส. ว่า

1.ผลการตรวจเลือดในวันเกิดเหตุของนายวรยุทธ พบสารแปลกปลอมประเภทโคเคน จึงถือว่าผู้ต้องหา น่าจะกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 58 ประกอบกับมาตรา 91 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุก 6 เดือนถึง 3 ปี โดยมีอายุความตามกฎหมาย 10 ปี

ข้อหานี้ยังไม่มีการแจ้งความดำนินคดีกับนายวรยุทธ ดังนั้นคณะทำงานจึงเสนอ อสส. แจ้งพนักงานสอบสวน ดำเนินคดีนายวรยุทธในข้อหานี้ด้วย โดยคดียังไม่ขาดอายุความ

2. ข้อหาขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย แม้พนักงานอัยการ จะมีคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ และ ผบ.ตร. ไม่แย้งคำสั่งดังกล่าว อันเป็นผลให้คำสั่งไม่ฟ้องเสร็จเด็ดขาดตามกฎหมาย และห้ามมิให้ทำการสอบสวนอีกก็ตาม แต่คดียังไม่ถึงที่สุด

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147 ระบุว่า หากมีการสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาด ไม่ให้สอบสวนคดีนี้อีก เว้นแต่ปรากฏพยานหลักฐานใหม่ และเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่สามารถนำสืบให้ศาลลงโทษผู้นั้นได้ สามารถดำเนินการได้ตามหลักกฎหมาย

เมื่อเรื่องความเร็วรถยังไม่นิ่ง ปรากฏว่าหลังจากที่ข่าวสะพัดออกไป มีพยานสำคัญคนหนึ่ง ที่ไปร่วมรายการผ่านสื่อหลายแห่ง คือ ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คดีบอส อยู่วิทยา

ดร.สธน ได้ให้ข้อเท็จจริงผ่านสื่อว่า ขณะเกิดเหตุ เป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการ ให้กับกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อเกิดเหตุ ได้รับการประสานจาก พ.ต.ท.ธนสิทธิ ให้ไปร่วมตรวจที่เกิดเหตุ และดูกล้องวงจรปิด วัตถุพยานที่บันทึกภาพรถของนายวรยุทธ พร้อมคำนวณความเร็วรถที่แล่นไป  ซึ่งได้ทำรายงานส่งไปยังกองพิสูจน์หลักฐานเพื่อประกอบคดี พบว่า รถแล่นไปด้วยความเร็วประมาณ 170 กม./ชม. แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าว กลับไม่ปรากฏในสำนวน

“คณะทำงาน ตรวจสอบสำนวนโดยละเอียดแล้ว พบว่า ไม่มีพยานหลักฐานชิ้นนี้ (รายงานของ ดร.สธน) ไม่มีข้อเท็จจริงนี้ ดังนั้น จึงเป็นพยานหลักฐานใหม่ ตามนัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147 นำไปสู่การพิสูจน์ผิดถูกในคดีนี้ จึงนำเรียน อสส. ว่าให้มีการสอบสวนคดีนี้ใหม่ เพื่อดำเนินคดีกับนายวรยุทธในข้อหานี้ต่อไป” 

โฆษกสำนักงาน อสส. กล่าวสรุปว่า แม้จะมีคำสั่งเด็ดขาดไม่สั่งฟ้องนายวรยุทธ แต่คดียังไม่จบ เมื่อกฎหมายบอกว่า มีพยานหลักฐานใหม่ ให้ดำเนินการแจ้งพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินการต่อไป โดยให้ดำเนินการภายในอายุความ

ส่วนกรณีพบสารแปลกปลอมนั้น ยังไม่ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหา ให้แจ้งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีควบคู่กันไป

คดีบอส อยู่วิทยา ขับรถประมาท พยานจากที่เกิดเหตุน่าเชื่อถือกว่าประจักษ์พยาน 

ขณะที่นายชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ กล่าวว่า ในมุมมองของคนทำคดี หรือคนทำงาน จะสั่งคดีตามข้อเท็จจริง ในสำนวนเท่านั้น ส่วนข้อเท็จจริง ที่ปรากฏในสำนวนมีคุณภาพ หรือน่าเชื่อถือ น่ารับฟัง เท่าไหร่ นั่นเป็นอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งต้องใช้ในการหาพยานหลักฐานที่ดีที่สุดต่อไป

กรณีนายเนตร สั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากพิจารณาจากข้อเท็จจริงในสำนวนแล้ว พบว่า ความเร็วรถไม่เกิน 80 กม./ชม. ซึ่งความเห็นดังกล่าว ไม่ใช่มาจากประจักษ์พยาน แต่เป็นความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อประกอบการพิจารณา จึงเรียนว่า คดีขับรถโดยประมาทนั้น พยานผู้เชี่ยวชาญ พยานจากที่เกิดเหตุ มีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่าประจักษ์พยาน เพราะประจักษ์พยานจะมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ต่อเมื่อสอดคล้องรับฟังได้ว่า เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์

ส่วนนายอิทธิพร แก้วทิพย์ กล่าวว่า ประเด็นนี้สื่อมวลชน และประชาชน อาจเคลือบแคลงสงสัยว่า น่าจะเกี่ยวกับตัวบุคคล แต่เนื่องจาก คณะทำงานไม่มีอำนาจพิจารณาเรื่องตัวบุคคล แต่พิจารณาได้เฉพาะสำนวน คณะทำงานจึงมีความเห็นเสนอไปยัง อสส. ด้วยว่า ให้ดำเนินการพิจารณาประเด็นนี้ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553 ว่าการดำเนินการของตัวบุคคล มีความถูกต้องหรือไม่ น่าจะเป็นอีกประเด็นที่สำนักงาน อสส. ต้องดำเนินการ

คดีบอส อยู่วิทยา

“สุดท้ายนี้ถ้าสื่อมวลชนก็ดี ประชาชนก็ดี มีข้อมูลข้อเท็จจริง ในเรื่องเกี่ยวกับความเร็วของรถยนต์ ที่พิสูจน์ได้ว่า ผู้ต้องหาขับรถด้วยความเร็วเท่าไหร่ ขอให้แจ้งมายังสำนักงาน อสส. เพื่อเป็นข้อมูล และพนักงานอัยการจะดำเนินคดีนี้ต่อไป ยืนยันว่าสำนักงาน อสส. และพนักงานอัยการจะทำความจริงให้ปรากฏโดยไม่ละทิ้งคดีนี้ หรือถือว่าคดีนี้จบไปไม่ได้ ขอยืนยันเท่านี้” นายอิทธิพร กล่าว

สำหรับข้อสงสัยเกี่ยวกับพยานหลักฐานอาจมีพิรุธนั้น นายประยุทธ กล่าวว่า ประเด็นนี้ เป็นกระบวนการทำงานของอัยการ ที่มีอำนาจสั่งสอบเพิ่ม แต่ไม่สามารถลงไปสอบเองได้ เมื่อมีการร้องมา จึงสั่งให้พนักงานสอบสวนไป ดังนั้น คนที่อยู่หน้างานคือ พนักงานสอบสวน แต่อัยการพิจารณาสั่งไปตามข้อเท็จจริงในสำนวน แนวทางเป็นอย่างนี้

ส่วนกรณีการใช้ดุลพินิจของ นายเนตร รอง อสส. ที่มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนั้น นายประยุทธ และคณะทำงานฝ่ายอัยการ ยืนยันหลายครั้งว่า ไม่สามารถให้ความเห็นในส่วนนี้ได้ เพราะไม่สามารถก้าวล่วงดุลพินิจของพนักงานอัยการได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo