COLUMNISTS

จับตาตลาดที่อยู่อาศัย หลัง‘ชาวจีน’เข้ามาทำงานในไทย

Avatar photo
กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด (Property DNA)
2191

ปัจจุบันผู้ซื้อส่วนหนึ่งของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพฯและจังหวัดท่องเที่ยวบางจังหวัดนั้นเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งโดยชาวต่างชาติที่เข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยนั้นมีหลายกลุ่มทั้งจากต่างประเทศโดยตรง และกลุ่มที่ทำงานหรืออาศัยในประเทศไทย

กลุ่มที่น่าสนใจคือ ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยที่ผู้ประกอบการให้ความสนใจ ทั้งตลาดที่อยู่อาศัยเพื่อขายและเพื่อเช่าระยะยาว โดยกลุ่มของชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยนั้นมีจำนวนมากขึ้นทุกปี

ชาวจีน ทำงานในไทย

หากนับเฉพาะชาวต่างชาติที่ได้รับใบอนุญาตทำงานในประเทศไทยนั้นก็มากกว่า 171,916 คน ในจำนวนนี้ไม่นับชาวต่างชาติในอาเซียนรอบประเทศไทยที่ได้รับใบอนุญาตทำงาน ซึ่งมีอีกกว่า 2 ล้านคน เพราะชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานใช้แรงงานอาจจะไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายหลักในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของผู้ประกอบการในประเทศไทย ชาวต่างชาติกลุ่มนี้แม้ว่าส่วนใหญ่พวกเขาจะเข้ามาทำงานในระยะสั้นและไม่ได้ต้องการที่จะตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย

แต่ก็มีชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่ต้องการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย และแน่นอนว่าพวกเขามองที่การลงทุนคอนโดมิเนียมเป็นหลัก เพราะเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่เปิดทางให้ชาวต่างชาติสามารถถือครองได้ในชื่อตนเอง

ชาวต่างชาติที่เข้มาทำงานในประเทศไทยจำนวนมากที่สุดยังคงเป็นชาวญี่ปุ่น จากสถิติการขอใบอนุญาตทำงาน ณ ปัจจุบันอยู่ที่  35,951 คน มากเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือ ชาวจีน ที่เข้ามาทำงานและขอใบอนุญาตทำงานในประเทศไทยจำนวน 23,880 คน

แม้ว่าชาวจีนจะมีจำนวนน้อยกว่าชาวญี่ปุ่น แต่ก็เป็นชาวต่างชาติกลุ่มใหญ่ที่สุดที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาโดยอัตราการเพิ่มขึ้นของคนจีนที่ขอใบอนุญาตทำงานในประเทศไทยอยู่ที่ 18% ต่อปี  ขณะที่คนญี่ปุ่นนั้นมีอัตราการเพิ่มขึ้นเพียง 4.87% เท่านั้นเอง

ปัจจุบันจำนวนคนจีน แม้จะน้อยกว่าคนญี่ปุ่น แต่เชื่อว่าอีกไม่นานจะขึ้นมามีจำนวนใกล้เคียงกันแน่นอน

บริษัทจีนโดยทั่วไปมักจะเอาพนักงานที่เป็นคนจีนเข้ามาทำงานในประเทศไทยค่อนข้างมาก ต่างจากบริษัทญี่ปุ่นที่มักจะนำแต่พนักงานระดับผู้บริหารเท่านั้นเข้ามาทำงานในประเทศไทย จำนวนคนจีนที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยจึงมีโอกาสมากขึ้นต่อเนื่องในอนาคต

ทั้งนี้ มีบริษัท นักลงทุนหรือว่าผู้ประกอบการจีนอีกจำนวนไม่น้อยที่สนใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC ซึ่งการเข้ามาของผู้ประกอบการจีนกลุ่มนี้เพื่อการลงทุนในอุตสาหกรรมเป็นหลัก และคงมีคนจีนอีกจำนวนไม่น้อยเข้ามาทำงานในประเทศไทย แม้ว่าจะเป็นการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา

แต่ความต้องการที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ก็คงเพิ่มขึ้นตามไปด้วยเพราะว่าบริษัทหรือสำนักงานของพวกเขาคงอยู่ในกรุงเทพฯ  กำลังซื้อของคนจีนในตลาดคอนโดมิเนียมกรุงเทพมหานครก็คงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งไม่เพียงแค่นั้นคาดว่ายังมีส่วนช่วยให้กำลังซื้อในตลาดคอนโดมิเนียมใน EEC เพิ่มขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน

เพียงแต่คงต้องรออีกสักระยะจนกว่าจะมีการลงทุนเป็นรูปธรรมเกิดขึ้น!!