Politics

สถานการณ์โควิดทั่วโลกยังรุนแรง ‘หมอธีระ’ ชี้พรุ่งนี้จะทะลุ 18 ล้านคน

สถานการณ์โควิดทั่วโลก ยังรุนแรง “หมอธีระ” เผยยอดผู้ติดเชื้อล่าสุดอยู่ที่ 17,989,715 คน พรุ่งนี้จะทะลุ 18 ล้านคน เตือนยอดตายเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ สะท้อนว่า “โควิด” ติดง่าย แพร่เร็ว

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat รายงาน สถานการณ์โควิดทั่วโลก วันนี้ โดยระบุว่า สถานการณ์โควิดทั่วโลก 2 สิงหาคม 2563 พรุ่งนี้จะทะลุ 18 ล้านอย่างเป็นทางการ เมื่อวานติดเพิ่มอีกถึง 268,957 คน ตายเพิ่ม 6,191 คน ยอดรวม 17,989,715 คน

อเมริกา ติดเพิ่ม 65,249 คน รวม 4,762,954 คน เมื่อวานอเมริกามีคนเสียชีวิตเพิ่มถึง 1,517 คน ที่น่ากังวลคือ การอธิบายว่ายอดติดเพิ่มเยอะๆ เช่นนี้ เพราะการตรวจเยอะนั้น คงไม่ใช่เหตุผลที่เหมาะสมนัก

สถานการณ์โควิดทั่วโลก

จริงอยู่ที่ตรวจเยอะก็จะมีโอกาสเจอเยอะ แต่หากป้องกันได้ผล จนไม่มีใครติด ต่อให้ตรวจยังไงก็ไม่เจอ แต่หากยิ่งตรวจยิ่งเจอเยอะ ก็แปลว่า การระบาดนั้นรุนแรง และจำเป็นต้องดำเนินมาตรการควบคุมโรคให้ได้โดยเร็ว ขอเอาใจช่วยให้ทุกคนปลอดภัย

บราซิล ติดเพิ่ม 46,391 คน รวม 2,708.876 คน

อินเดีย ติดเพิ่ม 55,139 คน รวมแล้ว 1,751,919 คน

รัสเซีย ติดเพิ่ม 5,462 คน รวม 845,443 คน

จริงๆ ไม่เคยพูดถึงแอฟริกาเท่าใดนัก ล่าสุดแอฟริกาใต้ติดเกินหมื่นคนต่อวัน ยอดรวมห้าแสนกว่า ตามมาเป็นอันดับ 5
ส่วนเม็กซิโกกับเปรู ก็ติดเพิ่มพอๆ กันราวแปดพันคนต่อวัน ตามมาเป็นอันดับ 6 และ 7 ตามลำดับ

อิหร่าน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น ติดกันหลักพันถึงหลายพัน ที่น่าห่วงมากๆ คือ ฟิลิปปินส์ที่เพิ่มถึง 4,878 คน ยอดรวมใกล้แสนคนแล้ว

ส่วนญี่ปุ่นนั้น ดูแล้วคุมไม่อยู่ เพิ่มอีก 1,464 คน นอกจากนี้สัญญาณที่ไม่ค่อยดีคือ จำนวนการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น อาจต้องระวังเรื่องระบบสุขภาพว่าจะรองรับได้อีกนานเพียงใด

กลุ่มประเทศยุโรปหลายต่อหลายประเทศก็ติดกันหลายร้อยเช่นเดิม เฉกเช่นเดียวกับแคนาดา สิงคโปร์ ฮ่องกง และออสเตรเลีย

ส่วนจีน และเกาหลีใต้ ตอนนี้หลักหลายสิบต่อวัน

ข้อมูลที่กระตุกให้คิดคือ จำนวนการตายที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ สะท้อนความจริงที่ว่า โรค COVID-19 นี้ติดง่าย แพร่เร็ว แม้ 20% จะไม่มีอาการ 65% มีอาการน้อย เหลืออีก 15% ที่มีอาการรุนแรง แต่จำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อนั้นทวีคูณอย่างรวดเร็ว เปอร์เซ็นต์ที่ว่าน้อยๆ รวมถึงอัตราตาย 2% ที่ว่าน้อยๆ นั้น พอเจอตัวคูณเป็นจำนวนที่มหาศาล ก็ยากนักที่จะมีระบบสุขภาพของที่ใดในโลกจะรองรับได้

พอติดเชื้อ แม้ไม่มีอาการ หรืออาการน้อย สถานพยาบาลไม่มีทางที่จะมีพื้นที่รองรับได้ หลายประเทศก็จะผลักให้ไปกักตัวที่บ้าน แต่แลกกับความเสี่ยงกับการแพร่สู่คนอื่นในสังคมรอบตัว บางคนอยู่หอพักอพาร์ตเมนต์คอนโดหรือในชุมชนที่แออัด ก็ยากที่จะป้องกันการแพร่ได้

พอป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาล จำนวนมากๆ ก็จะไม่มีสถานพยาบาลรองรับเพียงพอ เครื่องมือไม่พอ ยามาตรฐานไม่มี บุคลากรมีจำกัด… พอจำนวนสะสมมากถึงจุดวิกฤติ ก็จะเกิดปรากฏการณ์ “ใบไม้ร่วง”อย่างที่เราเห็นกัน จะช้าหรือเร็วก็ขึ้นกับทรัพยากรที่มีเท่านั้น

ดังนั้น… ต้องลด ละ เลิก การปั่นให้สังคมเชื่อว่า กรูจะจัดการได้ เตียงมี อุปกรณ์ครบ คนของเราเคยสู้ระลอกแรกมาได้ หากระบาดซ้ำกรูจะเอาอยู่… หากบอกมาเช่นนั้น บอกตรงๆ ว่าเป็นโฆษณาชวนเชื่อแบบ HACTA ครับ เพราะไม่มีใครที่สามารถคาดการณ์ได้ 100% และพอสถานการณ์จริงเอาไม่อยู่ พวกที่พูดก็เปิดตูดหนีไปเช่นเคย

สถานการณ์ระบาดทั่วโลกยังรุนแรง และความเสี่ยงที่จะมีการติดเชื้อในประเทศเราจะสูงขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่การแง้มประตูประเทศระยะที่ 5 และ 6 ที่ผ่านมา

ได้เวลาที่เราต้องเตรียมอุปกรณ์ป้องกัน เตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมสถานที่ เตรียมงาน ไว้ให้พร้อมเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

รักตัวเอง รักครอบครัว…ควรใส่หน้ากากเสมอ ล้างมือบ่อยๆ อยู่ห่างคนอื่นหนึ่งเมตร พูดน้อยลง พบปะคนน้อยลงสั้นลง เลี่ยงที่แออัดที่ชุมนุมที่อโคจร และคอยสังเกตอาการตนเองและครอบครัวนะครับ

หากมีไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล ดมไม่ได้กลิ่น ลิ้นรับรสไม่ได้ หรือท้องเสีย…ให้หยุดงาน หยุดเรียน และรีบไปตรวจรักษา บอกคุณหมอว่าขอตรวจโควิดด้วยนะครับ จะได้ตัดวงจรการระบาดได้

ประเทศไทยต้องทำได้
ด้วยรักต่อทุกคน
สวัสดีวันอาทิตย์ครับ…
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK