Lifestyle

เปิดสถิติ ผู้สูงอายุ ‘เสียชีวิต’ จากพลัดตกหกล้ม เฉลี่ยวันละ 3 คน

ผู้สูงอายุ เสียชีวิต จากพลัดตกหกล้ม เฉลี่ยวันละ 3 คน กรมอนามัย เตือนอันตรายช่วงฝนตก อาจเกิดอุบัติเหตุลื่นล้มได้ง่าย พร้อมแนะดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว

นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดี กรมอนามัย เปิดเผยว่า ในช่วงฝนตกถนน และพื้นทางเดินจะลื่น หรือมีน้ำขัง เป็นสาเหตุหลัก ที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย โดยเฉพาะอาจทำให้ ผู้สูงอายุ เสียชีวิต หรือเสี่ยงได้รับบาดเจ็บจากการลื่นล้ม หรือพลัดตกบริเวณทางต่างระดับได้ง่าย เมื่อผู้สูงอายุออกไปทำกิจกรรมข้างนอก

ผู้สูงอายุ เสียชีวิต

ทั้งนี้ เนื่องจากผู้สูงอายุ สุขภาพร่างกายเสื่อมถอย ตามอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ลดลง เช่น การทรงตัวไม่ดี แขนขาอ่อนแรง มีปัญหาทางสายตา และปัญหาการได้ยิน หรืออาจเกิดจากสิ่งแวดล้อม ไม่เหมาะสม เช่น พื้นและบันไดลื่น ชำรุด มีสิ่งกีดขวาง พื้นต่างระดับ แสงสว่างไม่เพียงพอ ทำให้เกิดการหกล้มได้ง่าย

สำหรับผู้สูงอายุที่หกล้ม จะได้รับบาดเจ็บรุนแรง เช่น กระดูกหัก ข้อเคลื่อน หรือบาดเจ็บที่ศีรษะ เสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งจากข้อมูลกรมควบคุมโรคพบว่า ปี 2560 มีผู้เสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มสูงถึง 2,018 คน หรือเฉลี่ยวันละ 6 คน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สูงอายุมากถึง 1,046 คน หรือเฉลี่ยวันละ 3 คน

นายแพทย์อรรถพล กล่าวต่อไปว่า วิธีป้องกัน และดูแลความปลอดภัย ผู้สูงอายุ เวลาออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน ลูกหลานหรือผู้ดูแล ควรเดินทางไปพร้อมผู้สูงอายุ เพื่อดูแลอย่างใกล้ชิด และต้องเลือกรองเท้ากันลื่น ให้กับผู้สูงอายุ เพื่อช่วยในการทรงตัว

ส่วนในกรณีที่อยู่ภายในบ้าน ควรปรับปรุงสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน ให้เหมาะสม จัดให้ผู้สูงอายุอยู่ชั้นล่าง มีราวจับหรือราวพยุง มีแสงสว่างเพียงพอ จัดวางสิ่งของให้เป็นระเบียบ พื้นห้องเรียบเสมอกันและเป็นวัสดุที่ไม่ลื่น โดยเฉพาะในห้องน้ำ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เกิดอุบัติเหตุ ได้ง่าย

ภายในห้องน้ำ ต้องมีราวจับที่อยู่ในระยะยึดจับได้ อย่างทั่วถึง มีระบบระบายน้ำที่ดี และห้องน้ำไม่ควรอยู่ไกลจากห้องนอน สวิตช์ไฟต้องอยู่ในตำแหน่งที่เปิด-ปิดได้สะดวก เพื่อหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวในที่ที่แสงสว่างไม่เพียงพอ

“การเปลี่ยนอิริยาบถ หรือท่าทางของผู้สูงอายุ จะต้องค่อยเป็นค่อยไป ควรเคลื่อนไหวร่างกายอย่างช้า ๆ เพื่อป้องกันภาวะความดันโลหิตต่ำอย่างฉับพลัน หน้ามืด เวียนศีรษะ หรือทรงตัวได้ไม่ดี”นายแพทย์อรรถพล กล่าว

นอกจากนี้ ควรดูแลให้ผู้สูงอายุ กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเสริมสร้างกำลังของกล้ามเนื้อ ฝึกการทรงตัว เพื่อสุขภาพที่ดีและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุของผู้สูงอายุ

ดื่มน้ำ

ขณะเดียวกัน ยังพบว่า ผู้สูงอายุที่มีพฤติกรรมดื่มน้ำสะอาด น้อยกว่า 8 แก้วต่อวัน อาจส่งผลต่อสุขภาพ นำมาสู่ ภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาการที่แสดงออก ถึงภาวะขาดน้ำในผู้สูงอายุคือ ชีพจรเร็วกว่า 120 ครั้งต่อนาที ความดันโลหิตต่ำ ขณะเปลี่ยนท่า ทำให้วิงเวียนศีรษะ เป็นลมง่าย หมดสติ

ขณะเดียวกัน อาจมีภาวะสับสน เยื่อบุปากแห้ง ความยืดหยุ่นของผิวหนังลดลงมาก แต่มีปริมาณปัสสาวะปกติ เพราะไตไม่สามารถเก็บกักน้ำ ได้ในภาวะขาดน้ำ ทำให้ปริมาณปัสสาวะในระยะแรก ของภาวะขาดน้ำไม่ลดลง จนกระทั่งเข้าสู่ระยะสุดท้าย ทำให้หัวใจล้มเหลวและไตวาย

ภาวะขาดน้ำ ในผู้สูงอายุมักพบได้ง่าย เนื่องจากมวลกล้ามเนื้อที่ลดลง ทำให้น้ำในร่างกายผู้สูงอายุลดลง การตอบสนองต่อความกระหายน้ำ ลดลง ทำให้ดื่มน้ำน้อยลง ร่างกายจึงไม่ได้น้ำชดเชย ประกอบกับความเสื่อมของร่างกาย เช่น กลั้นปัสสาวะไม่ได้ สมองเสื่อม ทำให้ดื่มน้ำน้อยลงและไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

“ผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 40 เป็นโรคเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง ซึ่งต้องได้รับยาขับปัสสาวะ ทำให้น้ำในร่างกายน้อยลง และปัญหาช่องปาก ทำให้ไม่อยากกินอาหาร ปัญหาด้านสายตา ทำให้มองเห็นไม่ชัดเจน จึงไม่อยากไปจัดหาน้ำดื่ม” นายแพทย์อรรถพลกล่าว

ที่สำคัญคือผู้สูงอายุที่มือสั่นหยิบจับ หรือกำไม่ได้ จะไม่สามารถดื่มน้ำได้ด้วยตนเอง ผู้ดูแลจึงควรจัดหาน้ำให้ดื่มวันละ 8 แก้ว และกระตุ้นให้ดื่มทุกชั่วโมง โดยให้ดื่มเครื่องดื่มที่ชอบ งดดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวานจัด จัดหาแก้วมีหูจับหรือสะดวกในการใช้ หรือให้ดูดจากหลอด และควรให้ดื่มน้ำช้า ๆ เพื่อป้องกันการสำลัก ส่วนการกินยาและอาหารให้ดื่มน้ำอย่างน้อย 1 แก้ว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo