Politics

ชงแก้ไขรัฐธรรมนูญ องค์กรปชต. ลั่น ‘ทางออกเพื่อชาติบ้านเมือง’

ชงแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ครป. ยื่น 6 ข้อเสนอ แก้ไขรายมาตรา รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2563 ชี้เป็นทางออก เพื่อชาติบ้านเมือง

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เปิดเผยว่า ได้ยื่น 6 แนวทางเพื่อ ชงแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เพื่อหาทางออกให้ประเทศ แก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่กำลังขยายตัวก่อนที่จะสายเกินแก้ โดยใช้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเป็น “สัญญาประชาคม” ในการร่วมกันพัฒนาประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ชงแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ขอให้รัฐบาล และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เร่งดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเรื่องคงค้างเก่า ให้แล้วเสร็จ ก่อนการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2563 เพื่อเดินหน้าประเทศไทย และปลดล็อคการสืบทอดอำนาจ โดยให้พรรคร่วมรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้ความร่วมมือ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นประชาธิปไตย

นอกจากนี้ ควรเปิดทาง ให้มีกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ผ่านกลไก สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ในอนาคต เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 มีข้อบกพร่องมากมาย เพราะถูกออกแบบ และเขียนขึ้น โดยกลุ่มคณาธิปไตย และใช้สืบทอดอำนาจคณะบุคคล ในรัฐบาลชั่วคราว เพื่อจะเป็นรัฐบาลต่อไป ผ่านกลไกรัฐธรรมนูญ บทเฉพาะกาลและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

สำหรับเงื่อนไขรัฐธรรมนูญเหล่านี้ จะนำไปสู่วิกฤตการเมืองไม่จบสิ้น หากไม่แก้ไข หรือร่างขึ้นใหม่ จากการมีส่วนร่วมของพลเมือง โดยกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาหลักเกณฑ์วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้เสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 256 ในหมวดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพื่อเสนอตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง (ส.ส.ร.) ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง

ขณะเดียวกัน กรรมาธิการที่มาจากหลายพรรคการเมือง และสะท้อนเสียงของประชาชน ควรจะเสนอแก้ไขรายมาตรา ที่เป็นปัญหาต่อรัฐสภาโดยตรงไปด้วย ในฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนี้ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ขอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญดังต่อไปนี้

1. การแก้ไขต้องยึดหลักรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นพื้นฐาน หรือต้องได้รัฐธรรมนูญที่ดีกว่าฉบับ 2540 โดยยกเลิกบทเฉพาะกาล ที่สืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารทั้งหมด รวมถึงการบัญญัติให้นายกรัฐมนตรี มาจากการโหวตร่วมของรัฐสภา ในบทเฉพาะกาล ทำให้วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง มีอำนาจเลือกผู้บริหารประเทศ โดยไม่ยึดโยงเจตจำนงค์ของประชาชนผ่านการเลือกตั้งผู้แทน

แก้รัฐธรรมนูญ

ดังนั้น นายกรัฐมนตรีต้องมาจากเสียงข้างมาก ในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น และต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายเสียงข้างมาก ต้องได้รับสิทธิในการบริหารประเทศ และถูกกำกับด้วยหลักธรรมาภิบาล กฎหมาย ฝ่ายเสียงข้างน้อย กระบวนการยุติธรรมและประชาชนพลเมืองโดยทั่วไป หากไม่แล้วก็ควรให้มีระบบการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรง

2. ขอให้ระบบการเลือกตั้งแบบผสมผสาน ควรกลับมาใช้ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบเหมือนเดิม เพื่อให้ประชาชนเลือกคนที่รัก และพรรคที่นโยบาย แยก ส.ส.เขตเลือกตั้ง กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค ออกไปให้เป็นระบบ

นอกจากนี้ควรยกเลิกสัดส่วน ระหว่างบัญชีรายชื่อจำนวน 150 คนกับ ส.ส.เขต 350 คน เพราะหาตรรกะไม่ได้ และไม่มีความสมดุลกัน ในหลายประเทศทั่วโลกมีตัวอย่างระบบผสมแบบครึ่งต่อครึ่ง หรือระบบบัญชีรายชื่อระบบเดียว หรือระบบ ส.ส.เขตระบบเดียว ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงให้มีการยกเลิกการบังคับ ส.ส.สังกัดพรรคการเมือง ซึ่งเป็นการลอนสิทธิทางการเมือง ตามหลักอารยะประเทศ

3. ยกเลิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร ยกเลิกการบังคับ ส.ส.สังกัดพรรค และกฎหมายพรรคการเมือง ที่เป็นระบบธนาธิปไตย และต้องใช้เงินจำนวนมาก นอกจากนี้ควรปรับลดจำนวน ส.ส.ลงมา เพื่อประหยัดงบประมาณ ไม่จำเป็นต้องมีมากเหมือนเก่า เนื่องจากประชาชนเข้าถึงผู้แทนของตนเองง่ายกว่าในอดีต

4. กำหนดเงื่อนไขการปฏิรูปประเทศ และกรอบเวลา การออกเป็นกฎหมายบังคับใช้โดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ขจัดการผูกขาด ระบบรัฐสวัสดิการ การปฏิรูปกองทัพ การปฎิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ การปฏิรูประบบราชการ การปฏิรูประบบการศึกษาให้มีคุณภาพและการพัฒนาพลเมือง (Civic Education) ตลอดจนการปฏิรูปพลังงานและทรัพยากรด้านต่างๆ ทางสังคม

5. ต้องมีการกระจายอำนาจ ที่ระบุไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ ตามแนวคิดจังหวัดจัดการตนเอง ภายใต้หลักการปกครองตนเอง ตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น ยกเลิกระบบรัฐราชการรวมศูนย์ และออกกฎหมายการกระจายอำนาจการปกครอง โดยให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง ถ่ายโอนราชการส่วนภูมิภาคขึ้นกับจังหวัด กระจายอำนาจและความรับผิดชอบจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น

ทั้งนี้ เพื่อเปิดปริมณฑลการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง รวมถึงระบบภาษี ที่ประชาชนเสียภาษีที่ไหน ให้ใช้พัฒนาที่นั่น เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจ และมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ประเทศไทย ต้องกระจายอำนาจการปกครอง จากรัฐราชการรวมศูนย์ ไปสู่การพัฒนาเมืองต่างๆ ให้เติบโตยั่งยืนด้วยตนเอง และส่งเสริมให้ท้องถิ่นจัดการตนเอง ด้วยระบบราชการสมัยใหม่ที่ทันสมัย เพื่อผลประโยชน์ของคนในท้องถิ่นเอง

6. ยกเลิกคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นเสมือนคณะโปลิศบูโร และรัฐบาลเงา อยู่เหนือรัฐบาลพลเรือน จะต้องไม่มีองค์กรใด อยู่เหนือองค์กรที่มาจากประชาชน และยึดโยงกับพลเมือง

“ยุทธศาสตร์ชาติทำให้รัฐบาลขาดอิสรภาพ ที่จะพัฒนาประเทศให้ทันสมัย ตามบริบทการพัฒนา ที่รุดหน้าไปตามเทคโนโลยี”ตัวแทน ครป. กล่าว

สำหรับการพัฒนาที่ขาดธรรมาภิบาล แก้ปัญหาได้ โดยให้มีการประชามติ ทุกโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ในรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องเขียนหน้าที่ และนโยบายรัฐทั้งหมด เพราะทำให้อุดมการณ์พรรคการเมือง และข้อเสนอทางนโยบายไร้ความหมาย อีกทั้งบริบทโลก และบริบทประเทศ เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การกำหนดหน้าที่และนโยบายแบบแข็งตัว (Rigid) จะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

7. ปฏิรูปองค์กรอิสระ และยกเครื่องใหม่ทั้งหมด ทั้งคณะกรรมการสรรหา คุณสมบัติของผู้สมัคร และการให้ความเห็นชอบ ซึ่งทั้งหมดต้องยึดโยงกับประชาชน ผ่านกลไกรัฐสภา ที่เป็นประชาธิปไตย อีกทั้งผู้สมัครต้องแสดงวิสัยทัศน์ ต้องผ่านการฝึกอบรม ในเรื่องพลเมืองประชาธิปไตย (Civic Education) และยกเลิกการตั้งเงื่อนไขคุณสมบัติว่า ต้องเป็นข้าราชการหรือเรียนจบปริญญาตรี เป็นต้น

รวมถึงการลดวาระการดำรงตำแหน่งกรรมการองค์กรอิสระ ให้เหลือแค่ 5 ปี เนื่องจากยาวนานเกินไป องค์กรอิสระ องค์กรศาลฯ หรืออื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน ต้องยุติหลักสูตรพิเศษ ที่จัดขึ้นในองค์กร ซึ่งระบอบอุปถัมภ์ จะทำให้ความเป็นธรรมถูกเลือกปฏิบัติ

8. ให้มีการปฏิรูปโครงสร้างภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้า เพื่อนำไปสู่การออกกฎหมาย การเก็บภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้า เหมือนนานาอารยประเทศ ยกเลิกนโยบายส่งเสริมการลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ การลดหย่อนภาษีเงินได้ และการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อส่งเสริมการลงทุนของกลุ่มทุนรายใหญ่

นอกจากนี้ รวมถึงการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบอย่างจริงจัง โดยให้จำกัดการถือครองที่ดิน และไม่อนุญาตให้ต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินตามกฎหมายส่งเสริมการลงทุน (BOI.) และการเช่าที่ดินระยะยาว 99 ปีตามกฎหมายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (EEC.)

9. ขยายสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รวมถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ตามกติการะหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีอยู่ทั้ง 2 ฉบับ โดยแก้ไขการเข้าถึงซึ่งข้อมูลข่าวสาร ระเบียบข้อบังคับราชการ การรวมตัดสินใจในโครงการขนาดใหญ่ผ่านการประชามติ และประชาธิปไตยทางตรง ในรูปแบบอื่นๆ

ขณะเดียวกัน ควรให้มีการตรวจสอบปัญหาการคอร์รัปชันโดยภาคการเมืองและภาคประชาชนควบคู่กันไป โดยเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างในระบบอิเลคทรอนิกส์อย่างเปิดเผย โปร่งใส และมีธรรมาภิบาลในการบริหารหน่วยงานเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในระบบราชการทั้งระบบ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo