Social

ตำรวจรื้อสอบปม ‘โคเคนรักษาฟัน’ ถ้าเป็นยาเสพติดจ่อแจ้งข้อหา ‘บอส อยู่วิทยา’ เพิ่ม

ตำรวจทีมสอบคดี ‘บอส อยู่วิทยา’ ชี้แจงตรวจพบสารต้องสงสัยในเลือด ตั้งแต่ปี 2555 แต่ที่ไม่แจ้งข้อหา เพราะไม่ชัดเจนที่มาของสาร โคเคน ระบุ หากแน่ชัดสามารถแจ้งข้อหาเพิ่มเติมได้ ยอมรับหมอฟันยืนยันจริงว่า ไม่ได้ใช้โคเคนรักษาฟัน แต่เป็นยาชา

วันนี้ (31 ก.ค.) พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในฐานะประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง คดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ เสียชีวิต เมื่อปี 2555 กรณีไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาดของอัยการสูงสุด พร้อมด้วยพล.ต.ท.สมชาย พัชรอินโต ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี และพล.ต.ท.กฤษณะ ทรัพย์เดช จเรตำรวจ ในฐานะกรรมการฯ แถลงผลประชุมนัดที่ 3

โคเคน

พล.ต.อ.ศตวรรษ กล่าวว่า วันนี้กรรมการได้เชิญอดีตพนักงานสอบสวนคดี มาให้ข้อมูล โดยได้สอบถามลงลึกในรายละเอียดของสำนวน มีประเด็นสำคัญที่สังคมกำลังเคลือบแคลงสงสัยจะชี้แจง 2 ประเด็น คือ ประเด็นพบสารโคเคน หรือ โคเคอีน ในเลือดของนายวรยุทธ ผู้ต้องหา

จากข้อมูลของอดีตพนักงานสอบสวน ชี้แจงว่า แพทย์ได้ทำการเจาะเลือดผู้ต้องหาเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ และผลตรวจออกมาวันที่ 11 กันยายน 2555  โดยแพทย์ผู้ตรวจยืนยันสารที่พบในเลือดของนายวรยุทธ เกิดจากกระบวนการสลายตัวของสาร ที่เกิดจากโคเคนกับแอลกอฮอล์ โดยไม่ได้เป็นการตรวจพบสารโคเคนโดยตรงในเลือด

แพทย์ยังตรวจพบสารอีก 4 ชนิด ในเลือดของนายวรยุทธ ประกอบด้วย 1.อัลพาโซแลม 2.Benzoylecgonine 3.Cocaethglene และ 4.สารคาเฟอีน โดยสารที่ 1 เป็นสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท อาจมาจากยานอนหลับ ตรวจสารที่ 4 คือสารที่พบในกาแฟ จึงไม่ใช่สารที่เป็นปัญหาในคดีนี้

สำหรับสารที่เป็นปัญหาในคดี คือชนิดที่ 2 และ 3 ที่มาจากการย่อยสลายโคเคน กับแอลกอฮอล์ ซึ่งทางการแพทย์ยืนยันว่าสารชนิดที่ 2. Benzoylecgonine เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท เกิดได้ในร่างกายคน เมื่อเสพโคเคน และจัดเป็นยาเสพติด ส่วนสารชนิดที่ 3.Cocaethglene ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษ ที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท

พล.ต.อ.ศตวรรษ ระบุว่า ถ้าการตรวจเลือดพบสารชนิดที่ 2 และ 3 ในเลือดก็เท่ากับมีการเสพโคเคน หรือโคเคอีน แต่ในชั้นสอบสวน เมื่อปี 2555 นายวรยุทธ อ้างว่าไปรักษาฟันกับหมอฟัน พนักงานสอบสวนจึงมีการไปสอบปากคำหมอฟัน ซึ่งให้การยืนยันว่า รักษาฟันให้กับผู้ต้องหาจริง แต่ใช้เพียงยาปฏิชีวนะแอมม็อกซี่ ขนาด 500 mg และไม่มีการใช้ยาเสพติดในการรักษา

อย่างไรก็ตาม สารชนิดที่ 2 และ 3 อาจจะมาจากยาปฏิชีวนะ หรือเกิดจากการเสพโคเคนของผู้ต้องหา ซึ่งขณะนี้ยังสรุปไม่ได้ คณะกรรมการ จะสอบเภสัชกร และผู้เชี่ยวชาญด้านยา เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง

หากสุดท้ายแล้วสรุปเป็นสารที่เกิดจากการเสพโคเคน ก็จะประมวลเรื่อง เสนอผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้พิจารณาตั้งข้อหาเสพยาเสพติด เพิ่มเติมอีกหนึ่งข้อหา ส่วนที่มีการนำข้อมูลเรื่องนี้ไปชี้แจงกับคณะกรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนราษฏรว่า สารโคเคนดังกล่าวเกิดจากการรักษาฟันนั้น เชื่อว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และข้อมูลดังกล่าวมีการตรวจสอบยืนยันเป็นเอกสารชัดเจน

“คุณหมอยืนยันในบันทึกคำให้การชัดเจนไม่มียาเสพติด จึงอยากจะเรียนให้ประชาชนได้ทราบข้อเท็จจริง การไปพูดกันอาจจะเกิดการเข้าใจผิด ยาที่หมอให้นายบอส ไม่มีสารยาเสพติด”

ใช้ โคเคน  ทำฟันจริงหรือ 

ด้าน ทันตแพทย์ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล อุปนายกทันตแพทยสภา ได้เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า ยาชาที่หมอฟันใช้ในปัจจุบันที่ขึ้นบัญชียาหลักแห่งชาติ คือ ลิโดเคน แม้จะลงท้ายด้วยเคนเหมือนกัน แต่เป็นคนละตระกูลกันกับโคเคน โดยโคเคนเคยใช้เป็นยาชา จัดอยู่ในตระกูล Esters ที่เคยใช้มาเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว

ปัจจุบันไม่มีหมอฟันคนใดในโลกใช้อีก เพราะว่าพบอาการแพ้ยาได้มาก และมีฤทธิ์เสพติด ปัจจุบันยาชาที่หมอฟันใช้จะเป็นยาชาตระกูล Amides ที่พัฒนาขึ้นมา เช่น ลิโดเคน เมพิวาเคน อาติเคน ซึ่งปลอดภัยกว่า มีโอกาสพบการแพ้ยาชาได้น้อยมาก

“โคเคนที่เป็นสารเสพติด กับ ลิโดเคนที่ใช้เป็นยาชา อยู่กันคนละตระกูล โครงสร้างทางเคมีไม่เหมือนกัน ดังนั้น ไม่ต้องห่วงว่าเวลาหมอฟันฉีดยาชาแล้ว จะตรวจพบ โคเคน ในกระแสเลือด”

ส่วนกรณี ฉีดยาชาลิโดเคนแล้วจะตรวจเจอโคเคนในปัสสาวะไหม นั้น มีรายงานวิจัยตีพิมพ์เมื่อปีที่แล้ว 2019 พบว่าไม่มีหลักฐานใดๆที่พบว่าการฉีดยาชาลิโดเคนจะทำให้เกิดผลบวกเทียม (false positive) เกิดโคเคนในปัสสาวะได้

“ผมเดาเอาเองว่า ในต่างประเทศ คนที่ถูกจับว่าเสพโคเคนคงจะอ้างว่าไปฉีดยาชาทำฟันมาอยู่เรื่อยๆ ดังนั้นจึงมีงานวิจัยมาพิสูจน์ว่า มันไม่เกี่ยวกันนะ”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo