Economics

‘วีระศักดิ์’ ฟันธงไร้ประโยชน์ต้าน ‘อีสปอร์ต’

อีสปอร์ตเป็นประเด็นร้อนทางสังคมที่กำลังถูกชั่งน้ำหนักอย่างเข้มข้น ทั้งการปกป้องคุ้มเด็กเยาวชนที่อาจได้รับผลกระทบจากเกมออนไลน์ ทั้งเสพติดเกม ก่อความรุนแรง และผลต่อสุขภาพ การเป็นไทยแลนด์ 4.0 รวมถึงผลทางเศรษฐกิจ จากการจัดแข่งขัน และการกระตุ้นอุตสาหกรรมกีฬา

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์2

สำหรับนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เกมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นนวัตกรรมที่มีมากกว่าเทคโนโลยี เป็นท่าทีของเขาต่ออีสปอร์ตในวันนี้  เขามองว่า เกมมีเทคโนโลยี มีทุน มีช่องทางกระจาย ข้ามเส้นแบ่งแดนข้ามชาติข้ามภาษา

เกมมีจิตวิทยา

สำคัญที่สุด เกมมีจิตวิทยา อำนาจรัฐบางรัฐอาจชนะชั่วครั้งชั่วคราวในการห้ามเผยแพร่บางเกม บางเวลา และมักทำได้กับเฉพาะเกมที่ตลาดไม่นิยมเท่านั้น  บางรัฐบางสถานที่รับมือถือได้ แต่ก็จะกระทบไปถึงเรื่องอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับเกมไปด้วย

ขณะที่ฝ่ายเรียกร้องให้คุมเวลา หรือบังคับวิธีการเข้าถึงเกมของเด็กเยาวชน กลับไม่มีจิตวิทยา ไม่ค่อยมีกลยุทธ์ มีแต่การบังคับ และใช้อำนาจ จึงไม่ได้รับความร่วมมือ

นายวีระศักดิ์ ให้สาธารณะกลับมุมมองใหม่ เป็น Gamification หรือการใช้เกมเป็นพาหนะให้คนเล่นได้เรียนรู้ ได้ฝึกทักษะการคิด วางแผน และทำงานร่วมกันเป็นทีม การอดทนรอจังหวะ การคำนวนประเมินท่าที การได้ความรู้ด้านการเกษตร ประวัติศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคม ภาษาศาสตร์จึงซ่อนอยู่ในเกมได้ ถ้าทำอย่างระมัดระวัง ก็จะเนียนมาก

ดังนั้นหากผู้ใหญ่ในสังคมไม่เอาแต่คิดจะปฏิเสธการมีอยู่ การมาถึงแล้ว และการแพร่หลายของเกม มาลองคิดทำความร่วมมือกับโลกของเกมจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า ดีกว่าการ คิดเอาแต่ต่อต้าน

อย่าเอาแต่กล่าวโทษ เพราะเกมกระจายไปทั่วแล้ว คนที่จะต้านการติดเกม ต้องรู้จักเกม  รู้จักเทคโนโลยีเบื้องหลังของเกม  ต้องรู้จักแบ่งแยกได้ ว่า ติดเกม ต่างยังไงกับติดแชท และต่างยังไงกับติดเน็ต 

อีสปอร์ต

เคยติดเกมแต่ผ่านมาได้

เขา เล่าประสบการณ์ส่วนตัวให้ฟังว่า เป็นความจริงที่การติดเกม ทำให้เด็กไม่เป็นอันกินอันนอน และไม่เรียน เพราะตนเองเคยผ่านการติดเกมมาแล้ว ทั้งไม่กิน ไม่นอน ไม่พัก ไม่หยุด แม้แต่ไม่เข้าห้องน้ำ ก็เป็นมาแล้ว เป็นทั้งช่วงเด็ก และเคยมางอมแงมอีกช่วงโตแล้วราวอายุ 30 กว่าปี จนเมื่อหันมาออกกำลังกายประจำ ก็ผ่านสถานการณ์นั้นมาได้เรียบร้อย

สิ่งที่ต้องการย้ำ คือ เกมมีจิตวิทยา  และมีเทคโนโลยีที่พัฒนาใหม่เสมอๆ ส่วนจะมีรางวัลตรงใจหรือไม่เป็นเรื่องรอง แต่หากคิดว่าเกมอิเล็กทรอนิกส์ คือคู่แข่ง หรือคู่ต่อสู้ ฝ่ายผู้ใช้อำนาจรัฐ ผู้ใช้อำนาจในรั้วบ้าน หรือในรั้วสถานศึกษาเชื่อว่าจะแพ้เสมอ

เขา ยืนยันท่าทีว่าต้านอย่างไรก็ไม่สำเร็จ แม้จะใช้มาตรการเก็บภาษี กำหนดใบอนุญาต จัดระเบียบ ตัดตอนก็ตาม ต่อให้มีแต่คนเห็นด้วยสนับสนุน ก็ไม่เกิดผล เพราะไม่มีใครมีวิธีการหรือเข้าถึงวิธีจัดการจริงๆ แต่ก็มีผู้ปกครองเด็กบางรายแก้ปัญหาด้วยการร่วมเล่นในเกมกับเด็กในความดูแลเสียเลย แต่ส่วนใหญ่ไม่มีเวลาพอจะเล่นร่วม หรือเรียนรู้ไปกับลูกหลาน

ส่วน สารโดฟามีน ที่หลั่งออกมาในสมองระหว่างเล่นเกมนั้น ยืนยันว่า เกมอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ใช่เหตุเดียวที่ทำให้สมองหลั่งโดฟามีน

อีสปอร์ต1
ภาพจากเฟซบุ๊ค TESF

ดึงเกมเป็นเครื่องมือเรียนรู้

นายวีระศักดิ์ มองว่าขณะนี้เรากำลังขาดความรู้ ขาดจิตวิทยา ขาดกลยุทธ์ มีแต่ความรู้สึก และความปรารถนาดี  ต้องหันมามองเชิงกลยุทธ์และจิตวิทยาสำหรับเรื่องนี้กันให้มากขึ้น โดยเริ่มจาก ปรับท่าที มองเกมอิเล็กทรอนิกส์เป็น เครื่องมือ  ชวนคนทำเกมที่คนนิยมเล่นมาใส่ความร่วมมือ ใส่ความรู้ให้ผู้เล่น แต่ละกลุ่มวัย  อย่างไรก็ตามจะทำได้ขอย้ำว่า ต้องลดความรู้สึกระแวง  มาเป็นเพิ่มความรู้ สู่การมีทักษะในการร่วมใช้ เพื่อนำเทคโนโลยีเกม และเครือข่ายของเกมที่ไม่มีใครไปหยุดมันได้ให้มารับใช้สังคม

ส่วนเรื่องการสกัดไม่ให้เด็กเล็กกว่ามัธยมเข้าถึงเกมจนติด เรื่องนี้สามารถทำได้ โดยห้ามกิจกรรมท้าเล่นเกมแบบที่ยังไม่ใช่เกม หรือห้ามโฆษณาการเล่นเกม ที่ทำให้คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับการดำรงชีวิต เป็นต้น

อีสปอร์ต2
ภาพจากเฟซบุ๊ค TESF

ยันอีสปอร์ตในไทยมีกติกา

“พวกที่ไปอวดอ้างผิดๆ ว่า เล่นเกม คืออีสปอร์ต ซึ่งไม่ใช่เลย เพราะสมาคมอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย มีข้อบังคับว่าสมาชิกสมาคม ต้องอายุบรรลุนิติภาวะ และเกมบางเกมเท่านั้นที่เป็น อีสปอร์ต ทั้งมีกติกาวิธีเล่น รวมถึงมีเงื่อนไขที่ยังทยอยเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ”

 โดยขณะนี้คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ได้ตั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิ และกำลังนัดเชิญบริษัทเกมต่างๆไปหารือเรื่องเหล่านี้ที่ประเทศอาร์เจนตินาเดือนตุลาคม 2561 เพื่อพิจารณาถึงการบรรจุอีสปอร์ตเป็นส่วนหนึ่งของโอลิมปิก

นายวีระศักดิ์ ปิดท้ายว่า ห้ามไปก็แทบไม่เกิดผลแน่นอน  หันมาช่วยกันทำการบ้าน หาความรู้มาแบ่งปันกัน แล้วกำหนดท่าทีใหม่ที่หวังผลได้มากกว่า เพื่อให้ได้ประโยชน์ที่ควรมี และได้อนาคตที่ควรเป็นจะดีกว่า

 

ภาพจากเฟซบุ๊ค TESF

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight