General

คดี ‘บอส อยู่วิทยา’ วุ่น เสียงโต้จากหมอฟัน เลิกใช้รักษามาเป็น 100 ปี!!

คดี บอส อยู่วิทยา วุ่น วงการทันตแพทย์ ยัน เลิกใช้ยาที่มีส่วนผสมของโคเคนนานแล้ว แถมสารที่พบยังเป็นโคเคนคนละชนิดกับที่เคยใช้รักษาฟัน

จากกรณีพนักงานสอบสวน คดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ คดี บอส อยู่วิทยา วุ่น หลังขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ถึงสาเหตุที่ไม่แจ้งข้อหาพบสารแปลกปลอม ที่เกิดจากยาเสพติดในร่างกายของผู้ต้องหา โดยให้เหตุผลว่าทันตแพทย์ยืนยันว่า ได้ให้ยาที่มีส่วนผสมของโคเคนในการรักษาทำฟัน ซึ่งเมื่อดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปผสม จะทำให้เกิดสารแปลกปลอมดังกล่าวในร่างกาย นั้น

คดี บอส อยู่วิทยา

ทันตแพทย์หญิงปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณะสุข เปิดเผยว่า ปัจจุบัน เทคโนโลยีมีความก้าวหน้า และพัฒนาไปไกลมาก จึงไม่มีการนำสารโคเคน ที่ถูกระบุว่าเป็นสารเสพติด เข้ามาใช้ในทางทันตกรรมแล้ว

ดังนั้น กรณีที่ โฆษก กมธ. ระบุ ว่า สารโคเคนที่พบในร่างกายของ นายวรายุทธ อยู่วิทยา มาจากการรักษาฟันนั้น ขอให้ทางโฆษก กมธ. และทางตำรวจผู้ทำคดี เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดที่มาของสารดังกล่าว

ปัจจุบันตัวยาที่ทางทันตกรรมใช้รักษาฟันในช่องปาก ชื่อ “Lidocaine” ซึ่งเป็นยาชาใช้เฉพาะที่ และใช้ในปริมาณน้อยมาก โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ไม่เกิน 6 ชั่วโมงเท่านั้น ก่อนจะหายไป และไม่สามารถตรวจพบในปัสสาวะได้ จึงยืนยันได้ว่ายาชาที่ทางทันตกรรมใช้ เป็นยาตัวละกลุ่มกับที่ปรากฎตามข่าว

โคเคน

ด้าน ทันตแพทย์ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล อุปนายกทันตแพทยสภา ได้เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า ยาชาที่หมอฟันใช้ในปัจจุบันที่ขึ้นบัญชียาหลักแห่งชาติ คือ ลิโดเคน แม้จะลงท้ายด้วยเคนเหมือนกัน แต่เป็นคนละตระกูลกันกับโคเคน โดยโคเคนเคยใช้เป็นยาชา จัดอยู่ในตระกูล Esters ที่เคยใช้มาเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว

ปัจจุบันไม่มีหมอฟันคนใดในโลกใช้อีก เพราะว่าพบอาการแพ้ยาได้มาก และมีฤทธิ์เสพติด ปัจจุบันยาชาที่หมอฟันใช้จะเป็นยาชาตระกูล Amides ที่พัฒนาขึ้นมา เช่น ลิโดเคน เมพิวาเคน อาติเคน ซึ่งปลอดภัยกว่า มีโอกาสพบการแพ้ยาชาได้น้อยมาก

“โคเคนที่เป็นสารเสพติด กับ ลิโดเคนที่ใช้เป็นยาชา อยู่กันคนละตระกูล โครงสร้างทางเคมีไม่เหมือนกัน ดังนั้น ไม่ต้องห่วงว่าเวลาหมอฟันฉีดยาชาแล้ว จะตรวจพบโคเคนในกระแสเลือด”

ส่วนกรณี ฉีดยาชาลิโดเคนแล้วจะตรวจเจอโคเคนในปัสสาวะไหม นั้น มีรายงานวิจัยตีพิมพ์เมื่อปีที่แล้ว 2019 พบว่าไม่มีหลักฐานใดๆที่พบว่าการฉีดยาชาลิโดเคนจะทำให้เกิดผลบวกเทียม (false positive) เกิดโคเคนในปัสสาวะได้

“ผมเดาเอาเองว่า ในต่างประเทศ คนที่ถูกจับว่าเสพโคเคนคงจะอ้างว่าไปฉีดยาชาทำฟันมาอยู่เรื่อยๆ ดังนั้นจึงมีงานวิจัยมาพิสูจน์ว่า มันไม่เกี่ยวกันนะ”

ขณะที่ รศ.วีระชัย พุทธวงศ์ ภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า “Cocaethylene ที่ตรวจพบในเลือด เกิดจากการเสพโคเคนร่วมกับแอลกอฮอล์ ไม่เกี่ยวกับโคเคนรักษาฟัน โคเคนที่ใช้เป็นยาชาเฉพาะที่ในงานทันตกรรม คือ Lidocaine หรือที่เรียกว่า lignocaine หมอใช้ปริมาณน้อย ต่างจากตัวที่ตรวจพบในเลือด”

ห้องทำฟันหมายเลข 10

ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก ห้องทำฟันหมายเลข 10 ระบุว่า

“เรื่องนี้จะไม่แปลกถ้าเป็นเมื่อ ศตวรรษที่ 18 !!! หมอฟันคนนั้นต้องนั่งไทม์แมชชีนมาแน่นอน

หนึ่งในยาที่ใช้มากที่สุดในทางทันตกรรม คือ ยาชา โดย ยาชา ตัวแรกที่นำมาใช้ทางการแพทย์คือโคเคน (cocaine) ในปี ค.ศ. 1859 (150 ปีมาแล้ว!!!) แต่ด้วยข้อเสียของโคเคนที่มีระยะเวลาการออกฤทธิ์สั้น และมีฤทธิ์เสพติด จึงมีการพัฒนายาที่มีสูตรโครงสร้างคล้าย โคเคน ชื่อ Procaine ขึ้นในปีค.ศ. 1904

แต่ในปีค.ศ. 1948 มีการนำ ยาชา ที่มีสูตรโครงสร้าง ต่างไปจาก cocaine และ procaine ได้แก่ lidocaine และ มียาชา ที่พัฒนาต่อเนื่องตามมา ได้แก่ mepivacaine (ค.ศ. 1965) prilocaine (ค.ศ. 1983; ยาชนิดนี้ไม่มีใช้ในประเทศไทย) และ articaine (ค.ศ. 2000)

โดยยาชาทั้งสามกลุ่มนี้ มีสูตรโครงสร้างคนละแบบ กับ โคเคน รวมทั้งกระบวนการขับยาออกจากร่างกาย ก็ได้สารเคมี คนละกลุ่มกับ โคเคน”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo