Business

‘นกแอร์’ แบกหนี้ 2.6 หมื่นล้านไม่ไหว ยื่นฟื้นฟูกิจการเป็นสายการบินที่ 2

“นกแอร์” แบกหนี้ 2.6 หมื่นล้านไม่ไหว ยื่นฟื้นฟูกิจการเป็นสายการบินที่ 2 ล่าสุดศาลล้มละลายฯ รับคำร้องแล้ว ได้พักชำระหนี้อัตโนมัติ

วันนี้ (30 ก.ค. 63) บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ผู้ให้บริการสายการบินราคาประหยัด ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อ ศาลล้มละลายกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ

โดยมีรายละเอียดดังนี้ นกแอร์ มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด จดทะเบียน ณ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์ดำเนินธุรกิจสายการบินขนส่ง ทั้งคน สิ่งของ และไปรษณียภัณฑ์ทางอากาศ มีที่ตั้งบริษัท อยู่เลขที่ 3 อาคารรัจนาการชั้น 17 ถนนสาทรใต้ แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพฯ

นกแอร์ สายการบิน

นายชวลิต อัตถศาสตร์, นายประเวช องอาจสิทธิกุล, นาย วิวัฒน์ ปิยะวิโรจน์, นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร นาย ไต้ ซอง อี และนายเกษมสันต์ วีระกุล กรรมการสองในหกคนนี้ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัท มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ได้รายละเอียดปรากฏตามหนังสือรับรองบริษัท ลูกหนี้เอกสารท้ายคำร้องหนี้มีหนี้สินเป็นจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่า 10,000,000 บาท

โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2553 มีหนี้สินต่อเจ้าหนี้หลายรายรวมกันเป็นจำนวน 26,522,203,418 บาท ดังนี้

  • หนี้สินหมุนเวียน เป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น 2,720,000,000 บาท
  • เจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้หมุนเวียนอื่น 2,679,065,008 บาท
  • รายได้รอตัดบัญชีจากโปรแกรมสิทธิพิเศษแก่ลูกค้า 41,812,871 บาท
  • ประมาณการหนี้สินค่าปรับสภาพเครื่องบินและค่าซ่อมบำรุงเครื่องบินระยะสั้น 58,858,927 บาท
  • ส่วนของหนี้สินตามสัญญาเช่าที่ถึงกำหนดชำระภายในหนึ่งปี1,907,589,409 บาท
  • หนี้สินหมุนเวียนอื่น 98,591,347 บาท
  • รวมหนี้สินหมุนเวียน 7,505,917,562 บาท
  • หนี้สินไม่หมุนเวียนประมาณการหนี้สินค่าซ่อมบำรุงเครื่องบินตามแผนการซ่อมบำรุงประมาณการหนี้สินค่าปรับสภาพเครื่องบิน 6,460,359,841 บาท

โดยศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ เป็นคดีดำ ฟฟ 21/2563 นัดไต่สวนคำร้องวันที่ 27 ตุลาคม 2563 เวลา 09.00 น. ส่งผลให้สายการบิน นกแอร์ อยู่ในสภาวะพักการชําระหนี้ (Automatic Stay) ตามมาตรา 90/12

fig 15 08 2019 04 33 43

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ธุรกิจสายการบินทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดยก่อนหน้านี้ สายการบินที่มีความเกี่ยวข้องกับ นกแอร์ ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจไปแล้ว ได้แก่

  • บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ได้ออกจากการเป็นรัฐวิสาหกิจและยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง โดยศาลฯ มีคำสั่งรับคำร้องและจะนัดไต่สวนวันที่ 17 สิงหาคม 2563 โดยสายการบินไทยเป็นผู้ถือหุ้น 13.28% ในนกแอร์
  • บริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด ได้ปิดกิจการและปลดพนักงาน 425 คน เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุนทุกปีนับตั้งแต่เปิดให้บริการในปี 2557 โดยบริษัท นกมั่งคั่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของนกแอร์ เข้าถือหุ้นในนกสกู๊ต 49.65% ของทุนจดทะเบียน คิดเป็นมูลค่า 1,470 ล้านบาท

ในวันที่ 27 มิถุนายน 2563 นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ออกแถลงการณ์เรื่องการเปิดสายการบินนกสกู๊ตว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบกับแผนการบินและการให้บริการของสายการบิน นกแอร์ แต่อย่างใด

นกแอร์มุ่งมั่นที่จะให้บริการการบินในเส้นทางบินภายในประเทศตามปกติ โดยในปัจจุบันนกแอร์ได้ให้บริการใน 18 เส้นทาง 70 เที่ยวบินต่อวัน ถือเป็นสายการบินที่ให้บริการผู้โดยสารมากที่สุดของไทยในขณะนี้ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนเที่ยวบินตามความต้องการของผู้โดยสารที่มีความต้องการที่จะเดินทางเพิ่มเติมอีกในอนาคต

ส่วนการบินระหว่างประเทศนั้น เมื่อรัฐบาลแต่ละประเทศได้มีการอนุญาตให้มีการทำการบินได้ นกแอร์ก็จะกลับมาให้บริการในเส้นทาง ฮิโรชิมา ย่างกุ้ง และ โฮจิมินห์ตามเดิมในทันที

สายการบินนกสกู๊ต

ด้านนายประเวช องอาจสิทธิกุล ประธานกรรมการบริหารนกแอร์ เปิดเผยว่า จากการประชุมบอร์ดบริษัทวาระพิเศษ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563 นั้น บอร์ดบริษัทได้มีมติรับทราบการเลิกกิจการและชำระบัญชีของบริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด

โดยมีบริษัท นกมั่งคั่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของนกแอร์ เข้าถือหุ้นในสัดส่วน 49.65% ของทุนจดทะเบียนนกสกู๊ต หรือคิดเป็น 1,470 ล้านบาท เนื่องจากบริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด มีผลขาดทุนจากการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้การคมนาคมระหว่างประเทศหยุดชะงัก และยังไม่มีแนวโน้มที่จะกลับมาเป็นปกติในเร็ววันนี้

นายประเวชยังเปิดเผยต่ออีกว่า การยกเลิกกิจการของนกสกู๊ตนั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของนกแอร์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo