Business

‘อีคอมเมิร์ซไทย’ มูลค่ากว่า 2 แสนล้านปีนี้ PwC เผยช่วงโควิดพุ่งเท่าตัว

อีคอมเมิร์ซไทย ทะยานกว่า 2 แสนล้านบาทปีนี้ PwC เผยโควิดดันผู้บริโภคไทย ปรับพฤติกรรมด่วน หันช้อปปิ้งออนไลน์เพิ่มเท่าตัว เดินหน้าสู่สังคมไร้เงินสด

นางสาววิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยว่า ปีนี้คาดว่ามูลค่าตลาด อีคอมเมิร์ซไทย จะสูงกว่า 2 แสนล้านบาท หลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคชาวไทย ปรับพฤติกรรมไปสู่ดิจิทัล ภายในเวลาชั่วพริบตา

อีคอมเมิร์ซไทย

ทั้งนี้พบว่า ในช่วงล็อกดาวน์ ผู้บริโภคชาวไทยหันไปซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว โดยเป็นการซื้อสินค้าในกลุ่มที่เกี่ยวกับสุขภาพ เช่น หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ อาหารออร์แกนิก รวมไปถึงเทคโนโลยีเกี่ยวกับสุขภาพ เนื่องจากไวรัสโควิด -19 ทำให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจสุขภาพ ความเป็นอยู่มากขึ้น

ขณะเดียวกัน ยังพบว่า ผู้บริโภคไทย ยังปรับตัวไปสู่ สังคมไร้เงินสดมากขึ้น โดยหันมาใช้บริการ อีเพย์เมนต์ เพิ่มขึ้น เนื่องจากความสะดวกสบาย ในการช้อปปิ้งออนไลน์ และยังช่วยหลีกเลี่ยง การสัมผัสกับเงินสด ซึ่งอาจเป็นแหล่งของเชื้อโรค

พฤติกรรมดังกล่าว ยังส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีก ทั้งห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต หันมาเพิ่มช่องทางการชำระ ด้วยผ่านดิจิทัลเพย์เมนต์ มากขึ้นด้วย ดังนั้นธุรกิจที่หันมามุ่งเน้นทำตลาด ผ่านช่องทางออนไลน์ จะต้องมีระบบป้องกันความปลอดภัย ของข้อมูลลูกค้า และภัยไซเบอร์ ในด้านต่าง ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ให้ผู้บริโภค

สำหรับผลสำรวจมุมมองผู้บริโภคทั่วโลก (Global Consumer Insights Survey) พบว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นฐาน ในการที่ผู้บริโภคทำงาน บริโภค สื่อสาร และดูแลสุขภาพของตนเอง

new normal ๒๐๐๗๓๐

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ของผู้บริโภค ในทุก ๆ มิติ รวมถึงวิธีจับจ่ายสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน

ผลสำรวจพบว่า แม้การซื้อสินค้าที่ร้านขายของชำ ยังคงเป็นช่องทางหลัก ที่ผู้บริโภคเลือกใช้ แต่ 35% ของผู้บริโภค ที่ทำการสำรวจ หันมาใช้ช่องทางออนไลน์ในการซื้อหาอาหาร ขณะที่ 86% ของผู้ที่ซื้อสินค้าออนไลน์ในเวลานี้ มีแผนจะใช้ช่องทางออนไลน เพื่อซื้อสินค้าต่อไป แม้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม จะสิ้นสุดลง

ขณะที่สินค้าประเภทอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารนั้น ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส การซื้อสินค้าที่ร้านค้า ยังเป็นตัวเลือกหลัก เมื่อเทียบกับช่องทางออนไลน์ โดย 47% ของผู้บริโภคกล่าวว่า พวกเขาจับจ่ายสินค้าที่ร้านค้า เป็นประจำทุกวัน หรือทุกสัปดาห์ เปรียบเทียบกับการช้อปปิ้งออนไลน์ ผ่านโทรศัพท์มือถือ 30%, ทางคอมพิวเตอร์ 28% และผู้ช่วยเสียงอัจฉริยะ 15%

อย่างไรก็ตาม หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นต้นมา การช้อปปิ้งออนไลน์สินค้ากลุ่มของใช้จำเป็น ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก แบ่งเป็นการช้อปผ่านโทรศัพท์มือถือ 45%, คอมพิวเตอร์ 41% และ แท็บเล็ต 33%

shopping online ๒๐๐๗๓๐ 0

แนวโน้มของการช้อปปิ้งออนไลน์ ที่เติบโตนี้ เห็นได้เด่นชัดใน สาธารณรัฐประชาชนจีน และ ตะวันออกกลาง โดย 60% และ 58% ของผู้ตอบแบบสอบถาม บอกว่า พวกเขาหันมาช้อปปิ้ง ผ่านโทรศัพท์มือถือ มากขึ้นตามลำดับ

พร้อมกันนี้ ยังนี้พบว่า ผู้บริโภคให้ความสำคัญ กับการดูแลตนเองเพิ่มขึ้น โดย 51% ของผู้บริโภคในเมืองเห็นด้วย หรือเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า พวกเขาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพจิต และ คุณภาพชีวิต รวมถึงสุขภาพทางกาย และการรับประทานอาหารที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากโควิด-19

นอกจากนี้ ผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในเมือง ซึ่งเข้าร่วมการสำรวจ หลังจากการแพร่ระบาด ยังมองเรื่องความปลอดภัย และความมั่นคง และการดูแลสุขภาพว่า มีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตพอ ๆ กับการมีงานทำ โดย 49% และ 45% ของผู้ตอบแบบสอบถาม มีความเห็นดังกล่าว ตามลำดับ เปรียบเทียบกับการมีงานทำที่ 45%

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo