Politics

ยอดผู้ติดเชื้อโควิดทั่วโลกพุ่ง 17 ล้านคน ย้ำต้องปิดประตู Travel Bubble

ยอดผู้ติดเชื้อโควิดทั่วโลก พุ่ง 17 ล้านคน “หมอธีระ” ชี้ทุกทวีปมีการระบาดรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องและยังคุมไม่ได้ ย้ำ!! ต้องปิดประตู Travel Bubble ไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat รายงาน ยอดผู้ติดเชื้อโควิดทั่วโลก โดยระบุว่า สถานการณ์ทั่วโลกล่าสุดวันนี้ 30 กรกฎาคม 2563 ยอดผู้ติดเชื้อโควิดทั่วโลก ทะลุ 17 ล้านอย่างเป็นทางการ… และทะลุไปเยอะทีเดียว

ติดเชื้อเพิ่มอีกถึง 288,823 คน ยอดรวมตอนนี้ 17,132,791 คน ตายเพิ่มวันเดียวสูงมาก 6,953 คน ยอดเสียชีวิตตอนนี้ 668,398 คน

ยอดผู้ติดเชื้อโควิดทั่วโลก

  • อเมริกา ติดเพิ่ม 62,142 คน รวม 4,550,625 คน ตายเพิ่ม 1,369 คน
  • บราซิล ติดเพิ่ม 72,377 คน รวม 2,553,265 คน สองสามวันก่อนดูยอดติดเชื้อรายวันลดลง แต่มาวันนี้พุ่งกลับขึ้นมามากกว่าเดิมอย่างมาก
  • อินเดีย สถานการณ์ไม่ดีเลย จำนวนติดเชื้อรายวันเกินห้าหมื่นไปแล้ว ติดเพิ่ม 52,259 คน รวม 1,584,384 คน
  • รัสเซีย ติดเพิ่ม 5,475 คน รวม 828,990 คน
  • เม็กซิโก ติดเพิ่มเจ็ดพันกว่า เปรูติดเพิ่มสูงมากถึง 10,208 คนในวันเดียว
  • สเปน ฝรั่งเศส อิหร่าน ปากีสถาน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ล้วนติดกันหลักพัน สำหรับสเปนกับฝรั่งเศสนั้น แนวโน้มดูจะรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • กลุ่มประเทศยุโรปอื่นๆ ส่วนใหญ่ติดกันหลักร้อย เฉกเช่นเดียวกับสิงคโปร์ ฮ่องกง และออสเตรเลีย
  • เพื่อนบ้านเราอย่างญี่ปุ่น ดูสถานการณ์ไม่ดี ติดเชื้อพุ่งไปถึง 940 คน หากยังไม่สามารถควบคุมได้ ความหนาแน่นของประชากรและลักษณะการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่จะเป็นปัจจัยที่ทำให้การระบาดขยายวงกว้างในอีกไม่ช้า
  • ส่วน เกาหลีใต้ มาเลเซีย ติดเพิ่มกันหลักสิบ ในขณะที่จีน…ขยับจากหลับสิบ ทะลุไปเป็น 101 คนไปแล้ว
  • เวียดนาม…หากเราตามข่าว จะพบว่าการระบาดใหม่ครั้งนี้ต่างจากเดิมมาก และขยายจากดานังที่เป็นเมืองท่องเที่ยวไปอีกหลายเมือง คุมลำบากกว่าเดิม คาดว่า สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อจากภายนอกประเทศ ต้องเอาใจช่วยให้ควบคุมได้โดยเร็ว

บทเรียนของทั่วโลกสอนให้เรารู้ว่า

หนึ่ง ไวรัสโรค COVID-19 ลามรุนแรงทั่วโลก ขณะนี้แทบทุกทวีปมีสถานการณ์ระบาดรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องและยังคุมไม่ได้

สอง การจะมาเกี่ยวก้อยทำ สัญญาปาก สัญญาใจ สัญญากระดาษ เพื่อให้เดินทางท่องเที่ยวระหว่างกันนั้น เป็นแนวคิดที่อันตราย และอาจคุกคามสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชนในประเทศ

สาม การมีแนวคิดจะนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ และกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ เช่น กองถ่ายภาพยนตร์ ทีมแสดงสินค้า ฯลฯ เข้าสู่ประเทศไทยนั้น ย่อมมีความเสี่ยงที่จะเกิดการเล็ดรอดของคนติดเชื้อมาสู่ชุมชนได้ หากระบบคัดกรอง กักตัว และติดตามนั้นไม่มีประสิทธิภาพ 100%

ยอดผู้ติดเชื้อโควิดทั่วโลก

สิ่งที่รัฐควรพิจารณา คือ

1. ทบทวนมาตรการที่วางแผนไว้ โดยตระหนักถึงความเสี่ยงทั่วโลกที่มีอยู่ขณะนี้ ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง… ลดการพึ่งพา หากจะอนุญาตกลุ่มเป้าหมายต่างๆ เข้ามา ขอให้ชัวร์ว่าจำเป็นต้องทำจริงๆ เท่านั้น

2. หากเกิดระบาดขึ้นใหม่ โอกาสที่จะคุมได้มีน้อยมาก ผู้บริหารหน่วยงานรัฐบางหน่วยควร “งด” การออกมาป่าวประกาศโฆษณาสรรพคุณตนเองว่า “ระบาดระลอกใหม่…เราเอาอยู่” เพราะจะเป็นการสร้างความคาดหวังเกินจริง และมีโอกาสคลาดเคลื่อนสูง รวมถึงอาจทำให้เกิดความประมาทในสังคมวงกว้าง

คำพูด…ที่หวังจะสร้างความมั่นใจทางท่องเที่ยวและธุรกิจนั้น อาจกลับกลายมาเป็นการสร้างความประมาทในการดำรงชีวิต และเสี่ยงต่อการระบาดซ้ำที่รุนแรง เราเรียนรู้มาแล้วจากการโฆษณาจำนวนวันที่ไม่มีเคสติดเชื้อในประเทศ…มิใช่หรือ?

3. ฟองสบู่ท่องเที่ยว… ควรปิดประตูล็อคไว้ ใส่กุญแจสามชั้น เก็บไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน แล้วค่อยประเมินสถานการณ์ขณะนั้นอีกครั้ง การเปิดรับให้เกิดการท่องเที่ยวระหว่างประเทศนั้น เป็นความเสี่ยงสูงสุดที่ไม่สามารถยอมรับได้

หลายต่อหลายประเทศก็มีบทเรียนสอนให้เราเห็นแล้วว่า ระบาดซ้ำจากเชื้อจากนอกประเทศทั้งสิ้น

4. การขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ของรัฐ ควรยืนบนพื้นฐานแนวคิด “อดทน… อดกลั้น… อดออม… พอเพียง… ยืนบนขาตนเอง… ลดการพึ่งพา” และยอมรับว่า นี่อยู่ในระหว่างศึกสงคราม การใช้ชีวิตและระบบเศรษฐกิจทั่วโลกไม่มีทางเหมือนเดิมอีกต่อไป
ตราบใดที่การระบาดของโรคยังรุนแรงเช่นนี้ ตามธรรมชาติของโรคระบาดในอดีต มีขึ้นก็มีลง มักใช้เวลาอีกราว 6-18 เดือน แต่หากมียาหรือวัคซีนก็จะสามารถจัดการควบคุมได้เร็วขึ้น

หน้าที่ของคนสร้างนโยบายคือ ปกป้องไม่ให้คนไทยของเราติดเชื้อ มีชีวิตรอด ประคับประคองให้พอหายใจหายคอไปได้ตลอดรอดฝั่ง และช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ

ไม่ใช่มาตั้งเป้าว่า “จะยอมให้คนติดเชื้อในประเทศได้ 100-500 คนต่อวัน” ใครที่เสนอแนวคิดแบบนี้…ไม่ควรให้อยู่ในอำนาจครับ

เหตุผลคือ… “ทัศนคติการให้คุณค่าต่อชีวิตนั้นย่อมสะท้อนความเป็นคน”

ประเทศไทยต้องทำได้ ช่วยกันใส่หน้ากากเสมอ… ล้างมือบ่อยๆ… อยู่ห่างคนอื่นหนึ่งเมตร… พูดน้อยลง… พบปะคนน้อยลงสั้นลง… เลี่ยงที่แออัดที่ชุมนุมที่อโคจร… คอยสังเกตอาการตนเองและครอบครัว หากไม่สบายให้รีบไปตรวจรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ

ด้วยรักต่อทุกคน
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK