COVID-19

ช่วยเหลือชาวประมง ผ่านแล้ว 2 มาตรการ วงเงินเฉียด 3,000 ล้าน

ช่วยเหลือชาวประมง คืบหน้า ผ่าน 2 มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เผยชาวประมงยื่นขอกู้แล้วกว่า 2,800 ล้านบาท จากกรอบวงเงินกว่าหมื่นล้าน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมประมงมีความก้าวหน้าของ 2 มาตรการ ช่วยเหลือชาวประมง ได้แก่

ช่วยเหลือชาวประมง

1. การออกร่างกฎกระทรวง ยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียม ใบอนุญาตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ในที่สาธารณสมบัติ ของแผ่นดินทุกชนิด เป็นเงินจำนวน 59.5 ล้านบาท โดยขณะนี้ร่างฉบับดังกล่าว ผ่านการเห็นชอบในหลักการจากคณะรัฐมนตรี และอยู่ในระหว่างเสนอต่อ คณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อพิจารณาเร่งด่วนต่อไป

2. โครงการสินเชื่อ เพื่อเสริมสภาพคล่อง ผู้ประกอบการประมง จำนวน 1,678 ราย โดยมีผู้แจ้งความประสงค์ ขอกู้ในวงเงินสินเชื่อ รวมแล้วจำนวน 2,841,267,080 บาท

สำหรับข้อมูล ณ วันที่ 24 กรกฏาคม 2563 โครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง ผู้ประกอบการประมง กรอบวงเงิน 10,300 ล้านบาท จากการเปิดรับสมัครให้ชาวประมงพื้นบ้านและพาณิชย์ เข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 1 – 24 กรกฎาคม 2563 มีผู้ประกอบการประมง แจ้งความประสงค์ เข้าร่วมโครงการฯ แล้ว จำนวน 1,678 ราย จาก 21 จังหวัดชายฝั่งทะเล รวมวงเงินสินเชื่อที่ต้องการ จำนวน 2,841,267,080 บาท

ทั้งนี้ แบ่งออกเป็น ผู้ประกอบการประมงพื้นบ้าน จำนวน 803 ราย เรือประมงพื้นบ้าน 835 ลำ วงเงินสินเชื่อที่ต้องการประมาณ 162 ล้านบาท ผู้ประกอบการประมงพาณิชย์ จำนวน 893 ราย เรือประมงพาณิชย์ 1,196 ลำ วงเงินสินเชื่อที่ต้องการประมาณ 2,679 ล้านบาท

ด้านนายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากการที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดเก็บค่าธรรมเนียม ใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ในที่จับสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จากผู้ได้รับใบอนุญาต ให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ในที่จับสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

อลงกรณ์ 1
อลงกรณ์ พลบุตร

แต่เนื่องจากปัจจุบัน ทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับปัญหา การแพร่ระบาด ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศ ที่ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำฯ ไม่สามารถขายผลผลิตได้ตามปกติ กระทบต่อรายได้ ของพี่น้องชาวประมง

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มีนโยบาย มอบหมายให้กรมประมง หามาตรการช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย และ บรรเทาปัญหาความเดือดร้อน ให้แก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่มีการเลี้ยงหอยทะเล และสัตว์น้ำ ในกระชังทั่วประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ดังนั้น กรมประมง จึงเสนอร่างกฎกระทรวง ยกเว้นค่าธรรมเนียม ใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ในที่จับสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ……. ต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่ออาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 วรรคหนึ่งแห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ในการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ และคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการ และจะส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อพิจารณาเร่งด่วนต่อไป

สำหรับสาระสำคัญในร่างกฎกระทรวงฯ กำหนดให้มีการยกเว้น ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินทุกชนิด ทั้งการเพาะเลี้ยงหอยทะเล การเลี้ยงปลาในกระชัง และสัตว์น้ำอื่นๆ ทั่วประเทศ เป็นเงินจำนวน 59.5 ล้านบาท

ประมง

ทั้งนี้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งมีอยู่จำนวน 21,041 ราย ในพื้นที่ 77 จังหวัด รวมพื้นที่กว่า 113 ล้านตารางเมตร เริ่มตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงฯ มีผลบังคับใช้ จนถึง 31 ธันวาคม 2565 จะได้รับการยกเว้น 1 รอบใบอนุญาตการเพาะเลี้ยง (จำนวน 2 ปี : ปี 2563 – 2565) โดยจังหวัดที่ได้ชำระค่าธรรมเนียมไปแล้ว จะทำการยกเว้น ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเพาะเลี้ยง ในรอบปีถัดไป

ส่วนโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง ผู้ประกอบการประมง กรอบวงเงิน 10,300 ล้านบาท ที่กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดทำโครงการเงินกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับพี่น้องชาวประมงให้สามารถกู้เงินทุนได้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี

จากนั้น รัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 ต่อปี และ ผู้ประกอบการประมงจะต้องจ่ายสมทบอีกร้อยละ 4 ต่อปี กำหนดชำระคืนเงินกู้ให้แล้วเสร็จ ภายในระยะเวลา 7 ปีนับตั้งแต่วันที่กู้

ในส่วนของการจดทะเบียนเรือประมงพื้นบ้าน ครม. มีมติเห็นชอบ แผนการจัดการ กองเรือประมงพื้นบ้าน ตามที่กองทัพเรือเสนอ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มเรือมีทะเบียน ซึ่งพบว่ามาแจ้งกับเจ้าท่า 16,000 ลำ และ 2. กลุ่มเรือที่ยังไม่มีทะเบียน จะต้องได้รับหนังสือรับรองจากกรมประมง เพื่อประกอบการจดทะเบียนกับกรมเจ้าท่า ประมาณ 35,000 ลำ

การดำเนินการที่ผ่านมากรมประมงได้เปิดให้ชาวประมงขอหนังสือรับรองไปแล้ว 2 ครั้ง ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 – มกราคม 2563 หลังจากปิดครั้งที่ 2 พบว่า ยังมีชาวประมงที่ไปแจ้งกับกรมเจ้าท่าแล้ว แต่ไม่ได้ขอหนังสือรับรองกับกรมประมงจำนวนประมาณ 1,400 กว่าลำ กรมประมงจึงได้เปิดให้เรือกลุ่มนี้มาขอหนังสือรับรองได้ตั้งแต่ 22 กรกฏาคม 2563 จนถึง 31 สิงหาคม 2563

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo