Business

ภาคอุตสาหกรรมเริ่มฟื้นตัว ดันดัชนีผลผลิตฯ ฟื้นตัวต่อเนื่องเดือนที่สอง

ภาคอุตสาหกรรมเริ่มฟื้นตัว สศอ. เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 4.18% จากเดือนพ.ค. แต่เทียบ มิ.ย.63 ยังติดลบ 17.66%

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน มิถุนายน 2563 หดตัวลง 17.66% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ถือว่า ภาคอุตสาหกรรมเริ่มฟื้นตัว โดยขยายตัว 4.18% จากเดือน พฤษภาคม 2563 และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

ภาคอุตสาหกรรมเริ่มฟื้นตัว

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากหลายอุตสาหกรรมหลัก เริ่มทยอยกลับมาขยายตัว ส่งสัญญาณการฟื้นตัว ของเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม แม้ว่าทั่วโลก ยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้กิจกรรมสำคัญทางเศรษฐกิจ รวมทั้งกิจกรรมด้านการขนส่งทั่วโลก หยุดชะงักลง เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว และยังส่งผลให้ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ไตรมาส 2/2563 หดตัวลง 19.97% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2562

สำหรับอุตสาหกรรมหลัก ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรม ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการ อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร (หักน้ำตาล) ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.30% อุตสาหกรรม ปิโตรเคมีขยายตัว 2.25%

นอกจากนี้ ยังพบว่า อุตสาหกรรมหลักอื่น ๆ เริ่มกลับมาเพิ่มกำลังการผลิตอีกครั้ง เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ ที่ขยายตัวจากเดือน พฤษภาคม 28% โดยตลาดในประเทศขยายตัว 43.50% และตลาดส่งออกขยายตัว 67.40% เนื่องจากในช่วงเดือน มิถุนายน ผู้ประกอบการเริ่มกลับมา เปิดสายการผลิต ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศไทย ที่ค่อย ๆ ฟื้นตัว

ขณะที่พฤติกรรมการบริโภค ในยุคชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ที่เปลี่ยนแปลงจากเดิม ได้ส่งผลต่อความต้องการสินค้าคงทนลดลง ประชาชนชะลอการซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูง ทำให้อุตสาหกรรมหลักหดตัวลง และส่งผลลบต่อดัชนี MPI เดือน มิถุนายน 2563 ได้แก่ การผลิตรถยนต์ และเครื่องยนต์ น้ำมันปิโตรเลียม และเครื่องปรับอากาศ และชิ้นส่วน แต่ความต้องการในสินค้า จำพวกอุปโภคและบริโภค กลับขยายตัวเพิ่มขึ้น

แรงงาน ๒๐๐๗๒๙

อุตสาหกรรมหลัก ที่ยังคงขยายตัวดี ในเดือนมิถุนายน ได้แก่ อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.78% จากผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง และอาหารปลาเป็นหลัก เนื่องจากความต้องการอาหารสัตว์ สำหรับสัตว์เลี้ยง ที่มีการเติบโตขึ้นต่อเนื่อง

อาหารทะเลกระป๋อง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 30.46% โดยเฉพาะปลาทูน่ากระป๋อง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลให้เกิดความต้องการอาหารที่เก็บไว้ได้นานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

ผลิตภัณฑ์นม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.74% จากผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มและนมผง เนื่องจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมถึงการทำโปรโมชั่นและเพิ่มช่องทางจำหน่ายออนไลน์ โดยได้รับคำสั่งซื้อจากมาเลเซีย อินโดนีเซียและพม่าเพิ่มขึ้นหลังผู้ผลิตในมาเลเซียปิดโรงงานชั่วคราวตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

เครื่องใช้ในครัวเรือน ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.74% จากผลิตภัณฑ์ตู้เย็น เตาอบไมโครเวฟ และกระติกน้ำร้อน เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น และให้มีความต้องการ สินค้าในกลุ่มนี้มากขึ้น รวมถึงการส่งออกที่เพิ่มขึ้น จากการเริ่มเปิดประเทศ ของกลุ่มลูกค้า โดยเฉพาะตลาดหลัก จากประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศในภูมิภาคเอเชีย อย่าง ญี่ปุ่น และบังคลาเทศ

ในส่วนของ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤษภาคม 2563 หดตัวลง 23.19% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่หลายประเทศ ได้ใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาด อย่างเข้มข้น ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว กิจกรรมสำคัญทางเศรษฐกิจทั่วโลก หยุดชะงักลง รวมทั้งกิจกรรม ด้านการขนส่ง

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น หลังดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือนพฤษภาคม ขยายตัวเพิ่มขึ้น จากเดือนก่อน ที่ 2.86% จากการเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศไทย ส่งผลให้เกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้น ในบางอุตสาหกรรม ที่สามารถตอบสนองต่อผู้บริโภคได้ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร  อุตสาหกรรมยา

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo