Politics

‘คำนูณ’ จี้นายกฯสั่งเอง ตั้งกรรมการอิสระระดับชาติ สอบปมไม่สั่งฟ้อง ‘บอส’

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ ข้อความในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว “Kamnoon Sidhisamarn” ระบุว่า …ตอบโจทย์ให้รอบคอบและรอบด้าน !  มีคำถามมาถึงผมว่าคณะกรรมการ 2 ชุด คือ ชุดอัยการ (7 คน) และชุดตำรวจ (10 คน) ที่ตั้งขึ้นมาช่วงวันหยุดยาวนี้ จะช่วยบรรเทาความอับอาย อึดอัด คับข้อง และคุกรุ่น ของสังคมไทย ได้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด และถ้าไม่ได้ ใคร ควรต้องทำอย่างไร ?
ขอตอบแบบคิดเร็ว ๆ ว่า “ได้บ้าง”! อย่างน้อยก็แสดงว่า ผู้นำประเทศ ได้ยินเสียงประชาชน รับรู้อารมณ์ความรู้สึกประชาชน มีปฏิกิริยาตอบสนองประชาชนได้ไม่ช้าเกินไป แต่เมื่อเทียบกับอาการของโรคแล้ว… ก็เปรียบเสมือนคนไข้หนัก จากหลายโรครุมเร้า ถูกหามเข้าไอซียู อนาคตยังไม่รู้หมู่ หรือจ่า เป็นตายเท่ากัน ได้รับการรักษาแค่ให้กินพาราฯ กับ ทายาแดง จะหวังให้หายคงไม่ได้ แค่รักษาชีวิตต่ออายุยังไม่รู้จะได้ไหม ต้องรักษามากกว่านี้ ถ้าต้องผ่าตัดก็ต้องผ่าตัด เนื้อไหนร้าย ต้องตัดทิ้ง แม้อวัยวะถ้าจำเป็นต้องสละ เพื่อรักษาชีวิตก็ต้องตัดสินใจทำ
คำนูญ2
สังคมไทยเบื่อหน่าย กับระบบคณะกรรมการเต็มทน โดยเฉพาะกรรมการ จากหน่วยเดียวกันสอบกันเอง คิดเร็ว ๆ นะครับว่าถ้าจะยังใช้ระบบคณะกรรมการก็ต้องถึงขั้นนี้ครับ
“คณะกรรมการอิสระระดับชาติ”
“คณะกรรมการอิสระระดับชาติที่ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒินอกองค์กรอัยการ และองค์กรตำรวจอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง”
“คณะกรรมการอิสระที่ ประธานกรรมการต้องไม่ใช่อัยการ หรือตำรวจ”
“คณะกรรมการอิสระระดับชาติ ที่ตั้งโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรี”
“คณะกรรมการอิสระระดับชาติ ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ เป็นเจ้าพนักงานของรัฐตามประมวลกฎหมายอาญา มีอำนาจเรียกเอกสาร เรียกสำนวนการสอบสวน และบุคคลทุกฝ่ายเข้ามาชี้แจง”
คำนูญ1
“คณะกรรมการอิสระระดับชาติ ที่มีอำนาจตรวจสอบทั้งคดีที่เป็นปัญหา และเสนอแนะภาพรวมของการแก้ไข ปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญา ขั้นก่อนถึงศาล ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยาว โดยมีระยะเวลาการทำงานเพื่อเสนอรายงานเบื้องต้นภายใน 15 วัน”
ย้ำอีกครั้งว่า ต้องเป็นคำสั่งนายกรัฐมนตรี ระบุหน้าที่ อำนาจ และกรอบระยะเวลาการทำงานให้ชัดเจน จึงจะตอบโจทย์ได้รอบด้าน  และควบคู่ไปกับระบบคณะกรรมการดังกล่าว นายกรัฐมนตรีจะต้องเร่งนำเสนอร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับใหม่ ที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการชุด ท่านมีชัย ฤชุพันธุ์ (ชุดที่ 2) เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมของรัฐสภาในฐานะร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับ การปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 โดยไม่แก้ไขหลักการสำคัญให้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ของรัฐสภา ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ต่อไป
จึงจะเป็นการตอบโจทย์ได้รอบคอบและรอบด้านยิ่งขึ้น จึงจะเป็นการบรรเทาอาการอับอาย อึดอัด คับข้อง และคุกรุ่น ของสังคมไทยได้อย่างมีนัยสำคัญ

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight