General

อ่านก่อน คลิก ‘I accept’ เท่ากับลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์

คลิก “I accept” สพธอ. เปิดข้อมูล “กดยอมรับ” ถือเป็นการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ เกิดข้อผูกพันตามสัญญา แนะศึกษา การทำธุรกรรมออนไลน์ ให้รอบคอบ

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกิจออนไลน์ โดยเฉพาะ การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่มีผลทางกฏหมาย ซึ่งจะพบข้อความ ให้ คลิก “I accept” เพื่อไขข้อข้องใจว่า หากคลิกไปแล้ว เท่ากับเป็นการลงลายมือชื่อหรือไม่ โดยยกตัวอย่าง การกู้ยืมเงินออนไลน ดังนี้

ลายเซ็นต์อิเล็กทรอนิกส์

  • เมื่อมีการกู้ยืมเงินออนไลน์ ผู้กู้ต้องสร้างบัญชีออนไลน์ กรอกข้อมูลรวมถึงชื่อ และสร้าง password
  • จากนั้นมีข้อความข้อกำหนดหรือเงื่อนไขการกู้เงินปรากฏ ให้ผู้กู้รับทราบและยอมรับเงื่อนไข
  • เมื่อผู้กู้ยอมรับ จะปรากฏสัญญากู้ที่เป็นทางการและชื่อของผู้กู้ในสัญญา เพื่อให้ผู้กู้ได้อ่านรายละเอียด
  • ต่อจากนั้น ผู้กู้จึงคลิก “I Accept” และจะได้รับสัญญาที่ตกลงแล้วในรูปแบบไฟล์ PDF ซึ่งไม่สามารถทำการแก้ไขข้อความได้
  • ศาลตัดสินว่า คำว่า “I” ถือว่าเป็นเครื่องหมายชัดแจ้ง ที่ผู้กู้ได้ใช้เครื่องหมายนั้น ในการแสดงเจตนารับรอง และตกลงผูกพันตนเองกับข้อสัญญา

ดังนั้น การคลิก “I Accept” ถือเป็นการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์

สำหรับประเทศไทย เพื่อเป็นการเสริมการบังคับใช้กฎหมาย ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งออกมาตั้งแต่ปี 2544 รองรับ การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ให้มีผลทางกฎหมาย เช่นเดียวกับ การลงลายมือชื่อบนเอกสารกระดาษ และรองรับ หลักความเป็นกลางทางเทคโนโลยี (Technology Neutrality) ที่สามารถเลือกใช้เทคโนโลยีใดก็ได้ ในการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์

ETDA ในฐานะหน่วยงานหลักในการพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนการทำธุรกรรมออนไลน์ของประเทศ ได้จัดทำ “ข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่าด้วยแนวทางการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ETDA Recommendation on ICT Standard for Electronic Transactions: Electronic Signature Guideline) เลขที่ ขมธอ. 23-2563”

ประเภท

ทั้งนี้ มาตรฐานฯ ดังกล่าว ได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นแนวทางและมาตรฐานให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการเลือกใช้วิธีการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้เหมาะสมและลดความเสี่ยงในการทำธุรกรรมออนไลน์

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะมาตรฐานฯ ฉบับนี้ เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตามข้อกำหนด ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอาจยังมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการลง ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตามกฎหมายอื่นที่กำหนดไว้ เป็นการเฉพาะ ดังนั้น ผู้ใช้งานควรมีการศึกษาข้อกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย

สำหรับ “การคลิกปุ่ม แสดงการยอมรับหรือตกลง” ตามข้อเสนอแนะมาตรฐานฯ อยู่ในประเภทที่ 1 ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป ซึ่งเป็นลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบใด ๆ (กล่าวคือ เป็นอักษร อักขระ ตัวเลข เสียง หรือสัญลักษณ์อื่นใด ที่สร้างขึ้นให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์) ที่มีลักษณะตามที่กำหนด ในมาตรา 9 แห่งกฎหมายว่าด้วย ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น

การพิมพ์ชื่อไว้ท้ายเนื้อหาของอีเมล, การสแกนภาพของลายมือชื่อ ที่เขียนด้วยมือ และ แนบไปกับเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ การใช้สไตลัส (stylus) เขียนลายมือชื่อด้วยมือลงบนหน้าจอ และบันทึกไว้ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์, การทำเครื่องหมายในช่องแสดงการยอมรับ

ทั้งนี้ รวมถึงการใช้ระบบงานอัตโนมัติ (automated workflow system) ที่มีการยืนยันตัวผู้ใช้งาน มาประกอบกับรูปแบบ ของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ประเภทที่ 1 ข้างต้นด้วย

องค์ประกอบของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภทที่ 1 คือ

  • “การพิสูจน์และยืนยันตัวตน” มีการพิสูจน์และยืนยันตัวตนที่น่าเชื่อถือ และเหมาะสมกับความเสี่ยงของธุรกรรม
  • “เจตนาในการลงลายมือชื่อ” มีกระบวนการ หรือ หลักฐานที่แสดงได้ว่า บุคคลได้ยอมรับ การแสดงเจตนา ที่ตนได้ลงลายมือชื่ออย่างชัดเจน
  • “การรักษาความครบถ้วนของข้อมูล” มีหลักฐาน หรือ ใช้บุคคลที่สามที่เชื่อถือได้ เพื่อแสดงว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงความหมาย ของข้อความที่ลงลายมือชื่อ และ รับรองความครบถ้วนของข้อมูล

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo