Business

‘ประกันสังคม’ รายได้ไม่ถึง 8.1 พันบาท ลุ้น! ได้เติมเงินชดเชยครบ 5 พันบาท

“ประกันสังคม” รายได้ไม่ถึง 8.1 พันบาท ลุ้น! ได้เติมเงินส่วนต่าง กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยให้ครบ 5 พันบาท นาน 3 เดือน เท่าโครงการเราไม่ทิ้งกัน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติโครงการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ซึ่งยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาฯ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ วงเงินรวม 896.640 ล้านบาท

โครงการดังกล่าวจะจ่ายเงินชดเชยรายได้แก่ ผู้ประกันตน ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ที่ยังส่งเงินสมทบไม่ครบ 6 เดือน ภายใน 15 เดือน และเพิ่งว่างงานในเร็วๆ นี้ จำนวน 59,776 คน

เนื่องจากลูกจ้างกลุ่มนี้จ่ายเงินสมทบกองทุนฯ ไม่ถึง 6 เดือนตามเงื่อนไข จึงไม่ได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานหรือเลิกจ้างจากกองทุนประกันสังคม รวมถึงไม่ได้รับเงินเยียวยา 15,000 บาท จากโครงการเราไม่ทิ้งกันที่ได้ปิดลงทะเบียนแล้ว

ประกันสังคม

นอกจากการเยียวยา ผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 6 เดือนแล้ว กระทรวงแรงงานยังมีโครงการเยียวยาผู้ประกันตนที่มีรายได้ไม่ถึง 8,100 บาทต่อเดือนด้วย เนื่องจากผู้ประกันตนกลุ่มนี้ได้รับเงินชดเชยกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยจากโควิด-19 ไม่ถึง 5,000 บาท เมื่อคำนวณจากสูตรเงินชดเชยในอัตรา 62% ของค่าจ้างรายวัน

ดังนั้น กระทรวงแรงงานจึงเสนอให้เติมเงินส่วนต่างให้ผู้ประกันตนกลุ่มนี้ ที่มีจำนวน 86,128 คน ให้ครบ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เท่ากับการเยีวยาผู้ประกอบอาชีพอิสระจากโครงการเราไม่ทิ้งกัน เนื่องจากถือว่าเป็นผู้เสียภาษีเหมือนกัน

โดยล่าสุดเรื่องอยู่ในชั้นของคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทฯ ซึ่งต้องลุ้นว่าจะผ่านความสู่การพิจารณาของ ครม. เมื่อใด

นางพิศมัย นิธิไพบูลย์

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 นางพิศมัย นิธิไพบูลย์ ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม โฆษกสำนักงานประกันสังคม กล่าวถึงความกังวลของผู้ประกันตน และสื่อมวลชน พร้อมแจงว่า ปัจจุบัน ประกันสังคม มีเงินกองทุนว่างงานอยู่จำนวนกว่า 160,000 ล้านบาท ซึ่งมีเพียงพอต่อการจ่ายสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตน

สำนักงานประกันสังคม มีการประมาณการเบื้องต้นว่า มีจำนวนผู้มาขอรับสิทธิประโยชน์จากกรณีว่างงาน 1.2 ล้านคน คาดว่า เป็นเงินทั้งหมดจำนวน 20,000 – 30,000 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานฯ มีเงินกองทุนเพียงพอ ที่จะนำไปจ่ายสิทธิประโยชน์ดังกล่าว โดยไม่มีปัญหาแต่อย่างใด พร้อมทั้งได้เตรียมสำรองสภาพคล่องไว้รอการจ่ายเงินแล้ว ขอให้ผู้ประกันตนมั่นใจได้ว่ากองทุนมีเงินกองทุนเพียงพอ นอกจากนี้ เงินลงทุน 2 ล้านล้านบาท ยังอยู่ครบถ้วน มิได้หายไปไหน

แรงงาน1 1

สำหรับเงินลงทุนกองทุน ประกันสังคม ถึง วันที่ 31 มีนาคม 2563 จำนวน 2,032,841 ล้านบาท ลงทุนใน

  1. หลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง จำนวน 1,671,176 ล้านบาท คิดเป็น 82% ของเงินกองทุน ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน หุ้นกู้บริษัทเอกชนที่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และหน่วยลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ
  2. ลงทุนในหลักทรัพย์ จำนวน 361,665 ล้านบาท คิดเป็น 18% ของเงินกองทุน ได้แก่ หุ้นสามัญ หน่วยลงทุนในหุ้นต่างประเทศ หน่วยลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐาน ทองคำ

ซึ่งเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการประกันสังคมที่กำหนดให้ต้องมี สัดส่วนหลักทรัพย์มั่นคงอย่างน้อย 60% ซึ่งการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลจะมีปริมาณที่สูงกว่าหลักทรัพย์ประเภทอื่น เนื่องจากเป็นการลงทุนที่สร้างรายได้ที่สม่ำเสมอให้กับกองทุน

ประเด็นกรณีการจ่ายเงินช่วยเหลือจาก ‘ประกันสังคม’ ล่าช้า กระทรวงแรงงาน โดย สำนักงานประกันสังคม ได้ดำเนินการ นำเรื่องการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยให้ขยายความคุ้มครองผู้ประกันตนจากภัยอันเกิดจากโรคที่แพร่หรือระบาดในมนุษย์ โดยกฎหมายได้ ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันศุกร์ ที่ 17 เมษายน 2563 เวลา 18.30 น.

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo