General

‘วีระ สมความคิด’ ส่งจดหมายถึงนายกฯ จี้ ‘ตรวจสอบ-ลงโทษ’ กรณี ‘บอส อยู่วิทยา’

“วีระ สมความคิด”  ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี และประชาชนคนไทย เรียกร้องให้ตรวจสอบ และลงโทษผู้กระทำความผิด ช่วย “บอส อยู่วิทยา” หลุดคดีขับรถชนนายดาบตำรวจเสียชีวิตเมื่อ 8 ปี ก่อน

จากกรณีที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ออกมายืนยันว่า นายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ทายาทกระทิงแดง หลุดพ้นจากข้อกล่าวหาทั้งหมดในคดี ขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิตเมื่อเดือนกันยายน ปี 2555 หลังจากพนักงานอัยการ มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายแล้วนั้น

collage 8

นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน ได้ส่งจดหมายเปิดผนึก ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2563 ระบุว่า เป็นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี และประชาชนไทย  ขอให้ตรวจสอบ และลงโทษกับผู้กระทำความผิดที่ช่วยเหลือนายวรยุทธ ไม่ให้ได้รับโทษตามกฏหมาย โดยมีใจความว่า

จากกรณีเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555 นายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ได้ขับรถยนต์เฟอร์รารี่ทะเบียน ญญ 1111 กรุงเทพมหานคร ชนดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ ที่บริเวณปากซอยสุขุมวิท 49 แต่ไม่หยุดรถเป็นเหตุให้ลากร่างดาบวิเชียรไปประมาณ 200 เมตรจนร่างกายแหลกเหลวถึงแก่ความตายอย่างทรมาน

ต่อมาพนักงานสอบสวน สน. ทองหล่อ ได้แจ้งข้อหานายวรยุทธรวม 4 ข้อหา คือ  (1) ขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด (2) เกิดอุบัติเหตุแล้วไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือ (3) ขับรถในขณะมึนเมา และ (4) ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โดยความผิดตาม (1)-(2) มีอายุความ 1 ปี ส่วนความผิดตาม (3) มีอายุความ 5 ปี ซึ่งขาดอายุความไปแล้วตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2560 คงเหลือคดีประมาทเป็นเหตุให้คนตายซึ่งจะขาดอายุความในวันที่ 3 กันยายน 2570

คดีนี้ มีการวางแผนเพื่อช่วยเหลือผู้กระทำความผิด อย่างเป็นระบบมาโดยตลอด โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยงาน ให้ความร่วมมือ

เริ่มจากตำรวจเชื่อผู้กระทำความผิด อย่างง่ายดาย โดยเขาอ้างว่า ขณะขับรถไม่ได้เมาสุรา (ไม่เมาแล้วอ้างว่าไม่รู้ไม่เห็น ไม่รู้สึกว่า ขับรถชนผู้ใดได้อย่างไร และที่ตำรวจตรวจพบแอลกอฮอล์ในตัวเขาเนื่องจาก เมื่อกลับมาถึงบ้าน เขาได้เอาเหล้าของพ่อมาดื่มจนเมา คือเมาตอนเช้า หลังขับรถชนตำรวจตาย)

นอกจากนี้ มีการนำเอาตัวพ่อบ้านมาเป็นผู้ต้องหาแทน แต่ถูกจับได้ และไม่มีใครเชื่อ จึงโกหกประเด็นนี้ไม่สำเร็จ

ส่วนพนักงานสอบสวน ก็มีพฤติกรรมปล่อยปละละเลย ปล่อยให้คดีตาม (1)-(3) ขาดอายุความ เพราะหากผู้ต้องหา ไม่หนีออกนอกประเทศ เมื่อฟ้องคดี ก็ต้องนำตัวส่งฟ้องต่อศาลได้ เมื่อคดีเข้าสู่ศาล ก็ไม่มีเหตุที่จะได้รับความปราณีจากศาล เพราะคดีขับรถเร็ว ชนคนแล้วไม่หยุดช่วยเหลือ และเมาแล้วขับ ซึ่งจะเป็นเหตุทำให้ศาลไม่สามารถรอการลงโทษได้ ต้องติดคุกสถานเดียว

จึงต้องทำให้ความผิดเหล่านี้ ขาดอายุความ จะได้ไม่ถูกนำมารวม ในคดีขับรถโดยประมาท ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต

สำหรับคดีประมาททำให้ผู้อื่นเสียชีวิต นั้น เบื้องต้นอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งฟ้องนายวรยุทธ ซึ่งตำรวจจะต้องนำตัวนายวรยุทธ มาส่งอัยการ เพื่อนำตัวส่งฟ้องต่อศาล พร้อมคำฟ้องภายในอายุความ

แต่เนื่องจากมีการช่วยเหลือให้ผู้ต้องหาสามารถหลบหนีไปต่างประเทศได้สำเร็จ จึงต้องทำเป็นเนียนเพื่อตบตาประชาชน โดยมีการออกหมายจับ และแจ้งตำรวจสากลให้ทราบ

แต่ที่ทำให้ประชาชนเกิดความสงสัยคือ ต่อมาอัยการสูงสุด มีการกลับคำสั่งของตัวเอง เป็นคำสั่งเด็ดขาด ไม่ฟ้องผู้ต้องหา และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็เชื่อฟังอัยการดีมาก ไม่คัดค้านเลย จึงทำให้คดีนี้ถึงที่สุด (แต่ยังสามารถรื้อคดีขึ้นมาได้ หากมีพยานหลักฐานใหม่)

จุดเปลี่ยนสำคัญของคดีนี้อยู่ตรงนี้ คือ สาเหตุที่อัยการหยิบยกคดีที่มีหลักฐานสมบูรณ์พอฟ้องแล้ว มาทบทวนใหม่ เนื่องจากมีผู้ร้อง (นายกฯต้องไปหาผลสอบของคณะกรรมาธิการกฏหมายฯ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มาตรวจดู) ไปยังคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่แต่งตั้งโดย คสช. ซึ่งมีพล.ร.อ.ดิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ ให้มีการสอบสวนเรื่องนี้

ต่อมาคณะกรรมาธิการดังกล่าวได้สอบหาข้อเท็จจริงแล้ว สรุปความเห็นว่า ผู้ต้องหาไม่ได้กระทำความผิด จึงทำเรื่องขอความเป็นธรรม ถึงอัยการสูงสุด โดยอัยการสูงสุด ซึ่งเคยปฏิเสธการร้องขอแบบนี้มาหลายครั้ง แต่ครั้งนี้กลับยอมรับการร้องขอของกรรมาธิการฯ คณะนี้

อัยการสูงสุดรีบมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนสอบข้อเท็จจริงเพิ่ม จากนั้นพนักงานสอบสวน ก็กลับคำสั่งเดิมจากสั่งฟ้องนายวรยุทธ เป็นสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธเนื่องจากพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง และอัยการมีความเห็นตามตำรวจทันที จึงยกเลิกคำสั่งฟ้องนายวรยุทธ เปลี่ยนมาเป็นคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องนายวรยุทธดังกล่าว

เมื่อไปตรวจสอบรายชื่อของคณะกรรมาธิการฯ คณะดังกล่าวได้พบชื่อของน้องชายพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ถึง 2 คน คือ พล.ร.อ.ดิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ และพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ

นอกจากนี้ ยัง มี ผบ.ตร. พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ประธาน ป.ป.ช. พลตำรวจเอกวัชรพล ประสานราชกิจ และรองอัยการสูงสุดคนหนึ่ง ก็ร่วมอยู่ในคณะกรรมาธิการฯคณะนี้ด้วย (คงมองเห็นภาพแล้วนะว่า พวกที่เชื่อว่ามีการร่วมมือกัน ช่วยเหลือนายวรยุทธได้มารวมอยู่ในคณะกรรมาธิการฯคณะนี้ พวกเขาจึงมั่นใจว่า หากมีการฟ้องร้องให้มีการตรวจสอบความผิดดังกล่าวในอนาคต พวกเขาก็มั่นใจว่าสามารถเอาอยู่ เพราะทั้งหมดเป็นสายตรงของผู้มีอำนาจรัฐใน คสช. ทั้งสิ้น)

วันที่ 22 เมษายน 2559 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตำรวจรวม 11 คน แล้วส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ต่อมา 29 กรกฎาคม 2562 ป.ป.ช. มีมติชี้มูลตำรวจที่มีพฤติกรรมดังกล่าว จนเป็นเหตุให้คดีตาม พ.ร.บ. จราจรทางบกขาดอายุความ ว่า “มีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความตั้งใจ อุตสาหะ เพื่อให้เกิดผลดี หรือความก้าวหน้าแก่ราชการ เอาใจใส่ระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของทางราชการและประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ” จึงส่งเรื่องมาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการทางวินัย

วันที่ 31 มีนาคม 2563 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งให้ลงโทษด้วยการกักยาม ภาคทัณฑ์ และยุติเรื่อง

ความจริงกรณีที่ตำรวจที่ปล่อยให้คดีขาดอายุความ ถือเป็นการกระทำความผิดอาญาแผ่นดิน เป็นความผิดร้ายแรง ไม่ใช่เรื่องผิดวินัยเล็กน้อย เป็นกาารปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ทำให้ผู้กระทำความผิดได้รับประโยชน์โดยมิชอบ ทำให้รัฐและประชาชนเสียหาย สมควรต้องถูกลงโทษตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 157

ทั้งหมดนี้ จึงทำให้เชื่อว่า ป.ป.ช. อาจจะช่วยเหลือตำรวจที่กระทำความผิดดังกล่าว ให้ได้รับโทษในสถานเบา การกระทำดังกล่าวของ ป.ป.ช. ก็เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 157 เช่นกัน

ประธาน ป.ป.ช. ก็รู้กันดีว่า คือ อดีตนายตำรวจ ที่เคยเป็นเลขานุการส่วนตัวของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ชายของ พล.ร.อ.ดิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ ประธานกรรมาธิการฯ ที่ส่งเรื่องร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด จนอัยการสูงสุดต้องสั่งให้ตำรวจ ทำการสอบหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม และในที่สุดอัยการก็มีการกลับคำสั่งเดิม จากสั่งฟ้องเป็นคำสั่งเด็ดขาดสั่งไม่ฟ้อง

501904 700x438 1

ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็เป็นหน่วยงานเดียวกันกับที่จับกุม ตั้งข้อหา และสั่งฟ้องผู้ต้องหา มาตั้งแต่ต้น แต่เมื่อถูกสั่งให้สอบหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ก็มากลับคำสั่งเป็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา ที่สำคัญจากการสอบเพิ่ม มีการระบุว่าดาบตำรวจ ที่ตาย ก็เป็นผู้กระทำความผิดด้วย เนื่องจากขับรถตัดหน้ารถของนายวรยุทธอย่างกระชั้นชิด (ตำรวจไปเอาข้อเท็จจริงนี้มาจากที่ใดทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการสรุปสำนวนสั่งฟ้องเอาไว้เช่นนี้)

เมื่อตำรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มใหม่ และมีความเห็นใหม่ว่านายวรยุทธไม่มีความผิดเช่นนี้ อัยการสูงสุดซึ่งเชื่อว่าตั้งท่ารออยู่แล้ว จึงรีบมีความเห็นตามตำรวจทันที ด้วยการกลับคำสั่งฟ้อง นายวรยุทธ เป็นคำสั่งเด็ดขาดสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา และตำรวจโดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก็ไม่คัดค้านแต่อย่างใดทั้งสิ้น (ทั้งที่ก่อนหน้านี้ตำรวจมีความเห็นสั่งฟ้องนายวรยุทธ)

ทั้งหมดนี้จึงทำให้เชื่ออย่างสนิทใจว่า น่าจะมีการวางแผนล่หน้าอย่างเป็นระบบ หรือรู้เห็นเป็นใจกันมาก่อน นับตั้งแต่มีการวางแผนให้มีผู้ยื่นเรื่องร้องเรียนเข้าไปยังกรรมาธิการกฏหมายฯของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งมีน้องชายของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรงไปตรงมา จึงขอให้นายกรัฐมนตรีเรียกผลสอบของคณะกรรมาธิการกฏหมายฯ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดดังกล่าวมาตรวจสอบว่ามีการดำเนินการอย่างถูกต้อง โปร่งใส ตรงไปตรงมา หรือไม่ อย่างไร และต้องนำมาผลการตรวจสอบดังกล่าวมาเปิดเผยให้ประขาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง ตรงไปตรงมา มิฉะนั้น ประชาชนทั่วไปจะเข้าใจว่านายกรัฐมนตรีก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่รู้เห็นเป็นใจกับกรณีดังกล่าวนี้

หากนายกรัฐมนตรีไม่รีบดำเนินการตรวจสอบกรณีดังกล่าวนี้ภายใน 7 วัน เพื่อให้ประชาชนกลับมามีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ประชาชนก็จำเป็นต้องออกมาขับไล่นายกรัฐมนตรีให้พ้นจากตำแหน่ง เพื่อเป็นการหยุดยั้งการใช้อำนาจโดยมิชอบหรือโดยทุจริตของผู้มีอำนาจรัฐในรัฐบาลบางคน ที่กำลังสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองขณะนี้

นาย วีระ สมความคิด
เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน

25 กรกฎาคม 2563

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo