Economics

‘ร.ฟ.ท.’ ทุ่ม 7.5 พันล้านผุดโรงซ่อมบำรุง 3 แห่ง

S 66174983

“การรถไฟฯ” ผุดโรงซ่อมบำรุง 3 แห่ง วงเงินลงทุน 7.5 พันล้านบาท โดยเตรียมเปิดประมูลโรงซ่อมรกจักรที่แก่งคอยก่อน วงเงิน 1.7 พันล้านบาท

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า การรถไฟฯ มีโครงการก่อสร้างโรงซ่อมบำรุงใหม่ 3 แห่ง มูลค่ารวม 7,500 ล้านบาท เพื่อรองรับรถไฟทางคู่ที่กำลังก่อสร้างและนโยบายเพิ่มการขนส่งสินค้าทางของรัฐบาล

โครงการเร่งด่วนที่สุดในขณะนี้ คือ โครงการก่อสร้างโรงซ่อมบำรุงหัวรถจักรแห่งใหม่ บริเวณชุมทางแก่งคอย จ.สระบุรี วงเงิน 1,700 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างแก้ไขราคากลางและคาดว่าจะเปิดประมูลได้ในเดือนธันวาคมนี้ สำหรับโรงซ่อมบำรุงแห่งนี้จะทำหน้าที่บำรุงรักษารถจักรดีเซลไฟฟ้าขนาด 20 ตัน/เพลา จำนวน 20 คัน และรถจักรอีก 50 คัน ที่กำลังจะจัดซื้อในอนาคต

ลำดับถัดมาคือ โรงซ่อมบำรุงรถสินค้าขนาด 8 หมื่นตารางเมตร บริเวณคลอง 19 จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งคาดว่าการออกแบบและการศึกษาขั้นสุดท้ายจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน จากนั้นจะเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฯ พิจารณาได้ในปี 2562 และเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาตามลำดับ

โรงซ่อมบำรุงรถสินค้า บริเวณคลอง 19 จะใช้วงเงินลงทุนไม่เกิน 3,000 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินก่อสร้าง 2,000 ล้านบาทและวงเงินติดตั้งอุปกรณ์อีกไม่เกิน 1,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเปิดประมูลได้ในช่วงต้นปี 2563 เริ่มก่อสร้างช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ใช้เวลาก่อสร้างอีก 2 ปี จึงแล้วเสร็จในปี 2565-2566

รูปแบบการลงทุนอาจจะเป็นรัฐเอกชนร่วมลงทุน (PPP) เนื่องจากการรถไฟฯ มีบุคลากรน้อย ภาครัฐไม่ต้องการแบกความเสี่ยงไว้ฝ่ายเดียว และต้องการให้เอกชนนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ด้วย แต่การพีพีพีก็ต้องทำให้ภาครัฐได้รับประโยชน์และความรู้ไม่สูญหายไปจากการรถไฟฯ ด้วย

สำหรับโรงซ่อมแห่งนี้ จะมาทดแทนโรงซ่อมบำรุงรถสินค้าย่านพหลโยธินในปัจจุบัน เนื่องจากการรถไฟฯ ไม่ต้องการนำรถสินค้าเข้ามาซ่อมบำรุงในกรุงเทพฯ แล้ว ขณะเดียวก็ต้องการขยายโรงซ่อมให้มีพื้นที่มากขึ้น เพราะการรถไฟฯ ต้องจัดหารถสินค้าบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ใหม่อีกกว่า 1,000 คันในอนาคต เพื่อเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางจาก 11.8 ตัน/ปี เป็น 35.38 ตัน/ปี ตามนโยบายของรัฐบาล

นอกจากนี้ การรถไฟฯ ได้กันพื้นที่ในโรงซ่อมบำรุงรถสินค้าคลอง 19 ไว้สำหรับการประกอบรถสินค้าเองด้วย เพราะการประกอบรถเป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมระบบรางและไม่ได้ใช้เทคโนโลยีซับซ้อน เป็นการประกอบโครงรถสำหรับวางตู้คอนเทนเนอร์และคัสซีเท่านั้น

“พอเราขนสินค้ามากขึ้น เราก็ต้องซ่อมรถมากขึ้น เพราะฉะนั้นพื้นที่ย่านพหลฯ ไม่มีศักยภาพเพียงพอแล้ว เราต้องหาพื้นที่ในการซ่อมรถใหม่ แต่การลงทุนยังไม่แน่ใจว่า รูปแบบจะเป็นอย่างไร เพราะว่าแนวโน้มเหมือนรัฐบาลอาจจะให้เราพีพีพีกับเอกชนในการก่อสร้าง แล้วเราก็มองถึงการประกอบรถสินค้าเองด้วย เพราะเป็นการเริ่มต้นอุตสาหกรรมระบบราง” แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับโครงการที่ 3 คือ โครงการก่อสร้างโรงซ่อมหนักรถโดยสารประเภทชุดบนพื้นที่ 252 ไร่ วงเงินรวม 2,807 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างออกแบบละเอียดและได้เลือกที่ตั้งใน จ.สุพรรณบุรี เพราะอยู่ใกล้กรุงเทพฯ และเป็นพื้นที่ของการรถไฟฯ เอง ไม่ต้องเวนคืน

โรงซ่อมแห่งนี้จะรอบรับการซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ (Overhaul) ของรถโดยสารใหม่ 115 คัน ที่จะมีการซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ 6-8 ปีต่อครั้ง รวมถึงรถโดยสารดีเซลราง 186 คัน ที่อยู่ระหว่างขออนุมัติโครงการ นอกจากนี้ยังสามารถซ่อมบำรุงแบบประจำวันได้อีกด้วย

Avatar photo