Business

ปักธงไทย ‘เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลก’ ปั้นรายได้ 4.5 หมื่นล้านก่อนโควิด

เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลก ไทยพร้อมฝ่าทางตันวิกฤติโควิด-19 เผยปี 2561 สร้างรายได้เข้าประเทศถึง 45,000 ล้านบาท แนะชู “บีซีจีโมเดล” ของรัฐบาลขับเคลื่อน

คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยววุฒิสภา จัดงานระดมสมอง “การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หลังวิกฤติโควิด-19” เพื่อผ่าทางตันอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หลังวิกฤติโควิด-19 พร้อมขานรับผลักดันประเทศไทยสู่ “เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลก” โดยที่ประชุมเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพมากพอ ที่จะเป็น เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลก

เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลก

พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ประธานกรรมาธิการท่องเที่ยววุฒิสภา กล่าวว่า ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคต การพัฒนาด้านการ ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จึงควรมองในภาพรวมของผลิตภัณฑ์ และการบริการด้านการท่องเที่ยว อย่างครบวงจร และนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามา สนับสนุนการดำเนินงาน เพื่อให้ทุกคน สามารถเข้าถึง สิ่งอำนวยความสะดวกได้ง่ายขึ้น

ตัวอย่างเช่น การสร้างแพลตฟอร์มเชิงสุขภาพ ที่ไม่ได้เน้นเพียงด้านบริการทางการแพทย์ แต่อาจเพิ่มแอปพลิเคชัน แนะนำการท่องเที่ยวในประเทศไทย การวางแผนค่าใช้จ่ายสำหรับการท่องเที่ยว ตลอดจนถึงแผนการท่องเที่ยว ที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นที่นิยม และเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย รวมถึงสามารถรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เดินทางเข้ามารับบริการด้านสุขภาพ ในรูปแบบของครอบครัวได้อีกด้วย

นางศรีสุดา วนภิญโญศักดิ์ รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกาตะวันออก และอเมริกา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตัวเลขการท่องเที่ยวปี 2562 มีนักท่องเที่ยวถึง 40 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศถึง 1.9 ล้านล้านบาท ขณะที่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งได้สำรวจเมื่อปี 2561 พบว่า มีรายได้ประเทศถึง 45,000 ล้านบาท และก่อนเกิดวิกฤติโควิด นักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร

ด้าน นพ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์ ที่ปรึกษา สมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ถือว่าอยู่ในสถานการณ์ยังไม่ปลอดภัย เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันและรักษา โดยระบุว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน เชื้อไวรัสได้กลายพันธุ์มาแล้วถึง 5 รอบ

นอกจากนี้ ยังทำลายภูมิคุ้มกันมนุษย์ จึงทำให้มีคำถามว่า วัคซีนที่กำลังวิจัยกันอยู่นั้น จะทันต่อการกลายพันธุ์ของไวรัสหรือไม่ และ โควิด-19 จะเป็นอมตะทำลายชีวิตผู้คนบนโลกนี้ไปอย่างไม่มีทางรักษาใช่หรือไม่

อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ไทยดำเนินการอยู่ขณะนี้ ส่งผลให้ได้รับคำยกย่องจากทั่วโลก โดยล่าสุดสำนักข่าว CNN ยกย่องว่าไทย คือ1 ใน 4 ประเทศร่วมกับ ฟินแลนด์ กรีซ นิวซีแลนด์ ที่ผู้นำประเทศและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ดูแล เอาใจใส่ และบริหารจัดการ ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ขณะที่ พญ.ประภา วงศ์แพทย์ นายกสมาคมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพไทย (TMTA) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงวิกฤติโควิด-19 สมาชิกของสมาคมฯ ยกเว้นโรงพยาบาลเอกชน จะเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกือบทั้งหมด อาทิ คลินิคเฉพาะทาง ต่างๆ บริษัทธุรกิจ ท่องเที่ยว สปา แพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกฯลฯ

ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

สำหรับปัญหาที่พบคือ เงินทุนหมุนเวียน ที่ค่อนข้างจำกัด ทำให้ขาดความมั่นคง ในการดำเนินธุรกิจระยะยาวได้ยั่งยืน อีกทั้งมีสินทรัพย์ค้ำประกันไม่เพียงพอ สำหรับการค้ำประกันสินเชื่อทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ จึงมีความอ่อนไหวต่อความเสี่ยงเรื่องรายได้มาก รวมทั้งขาดความสามารถในการแข่งขัน กับกลุ่มทุนที่ใหญ่กว่า และไม่มีภูมิคุ้มกันต่อปัจจัยเสี่ยงอื่น ทำให้การท่องเที่ยวและการบริการสุขภาพ หลายสาขาต้องปิดกิจการ และเลิกจ้างพนักงานลูกจ้าง

สำหรับโครงการช่วยเหลือของรัฐบาล เช่น “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่ให้คูปองส่วนลดโรงแรม 40% คูปองอาหาร 600บาท/วัน และคืนเงินค่าตั๋วเครื่องบิน 40% คาดว่าจะสามารถกระตุ้นการใช้จ่ายให้กับธุรกิจโรงแรม รีสอร์ตร้านอาหารและสายการบินได้

ดังนั้น ทางสมาคมฯ จึงขอเสนอให้รัฐบาล เพิ่มการสนับสนุนการ ท่องเที่ยว รูปแบบโปรแกรม ทัวร์สุขภาพ ที่จะทำให้เกิดการจับคู่ธุรกิจต่าง ๆ เช่น โรงแรม รีสอร์ต จับคู่กับโรงพยาบาล คลินิก สปา แพทย์แผนไทย แพทย์ทางเลือก และ ผู้ให้บริการอื่น ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชน ในการดูแลสุขภาพ และสอดคล้องกับ สังคมผู้สูงอายุ ในปัจจุบันด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo