Economics

‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ คาดเฟดยังคงดอกเบี้ยรับมือเศรษฐกิจอ่อนแรง!

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดเฟดยังคงดอกเบี้ยที่ระดับ 0.0-0.25% ในการประชุม 28-29 ก.ค.นี้ ชี้เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างมากในปีนี้ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิดที่ยังมีความรุนแรง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เฟด จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.0-0.25% สำหรับการประชุมนโยบายการเงินที่จะมีขึ้นในวันที่ 28-29 กรกฎาคมนี้ โดยมองว่ามาตรการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว น่าจะเพียงพอที่จะรองรับเศรษฐกิจสหรัฐ ที่มีแนวโน้มอ่อนแรง และน่าจะใช้ระยะเวลายาวนานในการฟื้นตัว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ทั้งนี้ เป็นที่แน่ชัดว่า เศรษฐกิจสหรัฐ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างมากในปีนี้ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาด ที่ยังมีความรุนแรง และยังไม่สามารถควบคุมได้ ขณะที่ตลาดแรงงานที่อ่อนแรง จะเป็นปัจจัยหลักที่กดดันอุปสงค์ภายในประเทศต่อไป และส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐ ไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

โดยล่าสุด IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐ ในปีนี้จะหดตัวที่ -6.6% YoY และจะกลับมาขยายตัวที่ 3.9% YoY ในปีหน้า ซึ่งมาตรการภาครัฐต่างๆ ทั้งมาตรการทางการเงิน และมาตรการทางการคลัง ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว น่าจะเพียงพอที่จะประคองเศรษฐกิจสหรัฐ ให้อยู่ในกรอบที่ IMF คาดการณ์ไว้ โดยที่ผ่านมา เฟด ได้ดำเนินนโยบายต่างๆ ดังต่อไปนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ทั้งนี้ มาตรการทางการเงินต่างๆ เหล่านี้ รวมถึงมาตรการทางคลังที่ได้ออกมาแล้ว น่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ในระดับหนึ่ง และส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่น่าทรุดตัวลงไปมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

อย่างไรก็ดี หากเศรษฐกิจสหรัฐ มีแนวโน้มทรุดตัวลงไปมากกว่าและยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ เฟดก็ยังพอมีทางเลือกในการทำนโยบายเพิ่มเติม โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มีความเป็นไปได้ ที่เฟดอาจจะใช้นโยบายการควบคุม เส้นอัตราผลตอบแทน (yield curve control) ขณะที่ เฟดน่าจะหลีกเลี่ยงการใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ หากยังไม่มีความจำเป็น

ทั้งนี้ นโยบาย yield curve control จะช่วยให้เฟด สามารถรักษาอัตราผลตอบแทน ของพันธบัตรรัฐบาล ให้อยู่ในระดับต่ำต่อไปในระยะข้างหน้า โดยเฟดไม่จำเป็น ต้องเพิ่มการเข้าซื้อสินทรัพย์มากเกินควร อันจะส่งผลต่อความยั่งยืนทางการคลัง เนื่องจากการที่ธนาคารกลาง เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล อีกนัยหนึ่งหมายถึง การที่รัฐบาลก่อหนี้มากขึ้น ผ่านการออกพันธบัตร อย่างไรก็ดี อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลในปัจจุบัน ก็ยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาว

อีกทั้ง เฟดได้ส่งสัญญาณว่าจะไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตอันใกล้ จึงส่งผลให้ยังไม่มีความจำเป็นในการใช้นโยบาย yield curve control เพื่อควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนในปัจจุบัน

นอกจากนี้ การนำนโยบาย yield curve control มาใช้อาจก่อให้เกิดผลเสีย เช่น จะทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยอาจปรับสูงขึ้นในอนาคต ซึ่งจะขัดแย้งกับสิ่งที่เฟดต้องการจะส่งสัญญาณ อีกทั้ง อาจจะก่อให้เกิดการบิดเบือนกลไกราคาในตลาดพันธบัตร ขณะที่ประสิทธิผลของนโยบาย yield curve control ก็ยังไม่เห็นผลแน่ชัดในประเทศที่มีการนำนโยบายนี้มาใช้อย่างเช่นญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ดังนั้น เฟดคงต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนนำนโยบายนี้ออกมาใช้

Fed banner

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความเป็นไปได้ที่เฟดจะใช้นโยบาย yield curve control ในระยะข้างหน้ายังมีมากกว่าการใช้ดอกเบี้ยนโยบายติดลบ ซึ่งน่าจะเป็นตัวเลือกสุดท้ายของเฟด เนื่องจากนโยบายดังกล่าวจะสะท้อนมุมมองทางลบของเฟดต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งจะก่อให้เกิดความวิตกกังวลในตลาด และส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเงิน ขณะที่ประเทศที่มีการนำนโยบายนี้ออกมาใช้ในช่วงก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด เช่น ญี่ปุ่น รวมถึงอียู ก็ยังเผชิญภาวะเศรษฐกิจโตในระดับต่ำ ดังนั้น หากยังไม่มีความจำเป็นจริงๆ เฟดน่าจะยังไม่เลือกใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ

ทั้งนี้ การประชุมเฟดในรอบ 15 – 16 กันยายน และ 4 – 5 พฤศจิกายน จะเป็นรอบการประชุมที่ใกล้การเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 8 พฤศจิกายน ซึ่งโดยปกติแล้ว เฟดมีแนวโน้มที่จะไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน ในช่วงใกล้ก่อนการเลือกตั้ง เพื่อรักษาเสถียรภาพในตลาดการเงิน

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ยังความไม่แน่นอนสูง และจะมีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐในระยะต่อไป ดังนั้น ทิศทางนโยบายของเฟด น่าจะขึ้นอยู่กับ ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐเป็นหลัก โดยหากแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ เฟด อาจพิจารณาเปลี่ยนแปลงนโยบาย หรือออกนโยบายอื่นๆ เพิ่มเติมได้

อย่างไรก็ดี แม้ว่า เฟดจะยังมีทางเลือกในการดำเนินนโยบายการเงินเพิ่มเติม แต่ประสิทธิผลของนโยบายการเงิน จะลดลงเรื่อยๆ จึงอาจจะทำให้ต้นทุนส่วนเพิ่มสูงกว่า ผลประโยชน์ที่จะได้รับ ดังนั้น เฟด คงต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อน โดยปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ที่ยังไม่ดีขึ้นเป็นหลัก ทำให้การออกนโยบายการเงินเพิ่มเติม อาจเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุดเท่าใดนัก และ อาจไม่ได้ช่วยกระตุ้นภาคเศรษฐกิจจริงเท่าที่ควร

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo