Economics

‘ประกันสังคมมาตรา 33’ ไม่ต้องลงทะเบียนเพิ่ม รอรับเงินชดเชย 15,000 บาทได้เลย

ผู้ประกันตนมาตรา 33 ของกองทุนประกันสังคมจำนวน 59,776 ราย มีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชยรายได้จำนวน 5,000 บาท 3 งวดในเร็วๆ นี้ โดยจ่ายครั้งเดียว รวมเป็นเงิน 15,000 บาท

เงื่อนไขในการรับเงินครั้งนี้ คือ ต้องเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นพนักงานเอกชน ที่เพิ่งว่างงาน และจ่ายเงินสมทบประกันสังคมไม่ถึง 6 เดือน ภายในเวลา 15 เดือนย้อนหลัง ทำให้ไม่เข้าเงื่อนไขการรับเงินทดแทนระหว่างว่างงานจากกองทุนประกันสังคม

นอกจากนี้ ยังไม่เคยได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 ในสัดส่วน 62% ของค่าจ้างรายวัน และไม่เคยได้รับเงินเยียวยาจากโครงการอื่นๆ ของภาครัฐ เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน โครงการเยียวยากลุ่มเปราะบาง เป็นต้น

ประกันสังคมมาตรา 33

ล่าสุดนางพิศมัย นิธิไพบูลย์ รองเลขาธิการ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษก สปส. เปิดถึงความคืบหน้าของโครงการจ่ายเงินชดเชยดังกล่าวให้ ประกันสังคมมาตรา 33 กับพีพีทีวีออนไลน์ว่า ลูกจ้างที่มีสิทธิ์รับเงินชดเชยรายได้ 15,000 บาทจำนวนเกือบ 6 หมื่นคน ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่

เนื่องจากสำนักงานประกันสังคมได้คัดแยกรายชื่อออกมาแล้ว โดยคัดกรองจากกิจการที่มาขึ้นทะเบียนรับรองขอเงินชดเชยให้ลูกจ้างก่อนนี้ แต่ก็มีผู้ประกันตนบางส่วน ซึ่งเป็นส่วนน้อย ที่มีข้อมูลไม่ครบถ้วน ทางสำนักงานประกันสังคมก็จะติดต่อขอข้อมูลกลับไป

“ยืนยันว่าขณะนี้มีข้อมูลและจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์ที่แน่ชัดแล้ว ไม่ต้องลงทะเบียนเพิ่ม” นางพิศมัยกล่าว

นอกจากนี้ นางพิศมัยยังประเมินว่าเงิน 15,000 บาท จะโอนเข้าบัญชีผู้ประกันตนได้ไม่เกินกลางเดือนสิงหาคม 2563 สอดคล้องกับที่นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โฆษกกระทรวงการคลัง ให้สัมภาณ์ไว้ก่อนหน้านี้

รถไฟฟ้า85634

สำหรับ ผู้ประกันตน มาตรา 33 คือ ลูกจ้างที่มีอายุระหว่าง 15-60 ปี และทำงานในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็น “พนักงานเอกชน”

ผู้ประกันตนกลุ่มนี้จะได้รับสิทธิประโยชน์ที่สำคัญ 7 ด้านจากสำนักงานประกันสังคม ได้แก่ เจ็บป่วย เสียชีวิต ว่างงาน คลอดบุตร ทุพพลภาพ ชราภาพ และ สงเคราะห์บุตร

โดยสิทธิประโยชน์ด้านกรณี ว่างงาน ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากสำหรับ ประกันสังคมมาตรา 33 ในขณะนี้ เพราะทั่วโลกและประเทศไทยกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แรงงานจำนวนมากจึงมีโอกาสตกงาน หรือถูกให้หยุดงานชั่วคราว

สำหรับ ผู้ประกันตนมาตรา 33 ทั่วไปที่ส่งเงินสมทบมากกว่า 6 เดือน สามารถรับเงินทดแทนกรณีว่างงานได้ตามปกติ

โดยล่าสุดรัฐบาลได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ทดแทนระหว่างว่างงานแก่ประกันสังคมมาตรา 33 ในกรณีที่ถูกเลิกจ้าง ลาออก หรือสิ้นสุดระยะเวลาการจ้าง เป็นระยะเวลา 2 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อรองรับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น

fig 24 03 2020 03 35 09

1.ผู้ประกันตนถูกเลิกจ้าง

ผู้ประกันตนจะได้รับเงินว่างงานในอัตรา 70% ของค่าจ้างรายวัน โดยได้รับไม่เกิน 200 วัน ภายในระยะเวลา 1 ปีปฏิทิน จากเดิมจะได้รับเงินทดแทนระหว่างว่างเงินกรณีถูกเลิกจ้างในอัตรา 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย ปีละไม่เกิน 180 วัน

2.ผู้ประกันตนลาออก หรือสิ้นสุดระยะเวลาการจ้าง

ผู้ประกันตนจะได้รับเงินว่างงานในอัตรา 45% ของค่าจ้างรายวัน โดยได้รับไม่เกิน 90 วัน  ภายในระยะเวลา 1 ปีปฏิทิน จากเดิมจะได้รับเงินทดแทนระหว่างว่างงานกรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญา 30% ของค่าจ้างเฉลี่ย ปีละไม่เกิน 90 วัน

สำหรับกรณีที่ ประกันสังคมมาตรา 33  ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเพราะเหตุตามข้อ 1 หรือเหตุตามข้อ 1 และ 2  เกินหนึ่งครั้งภายในระยะเวลา 1 ปีปฏิทิน ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานทุกครั้งรวมกันไม่เกิน 200 วัน

แต่ในกรณีขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเหตุตามข้อ 2 เกินหนึ่งครั้งภายในระยะเวลา 1 ปีปฏิทิน ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานทุกครั้งรวมกันไม่เกิน 90 วัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo