Digital Economy

เปิดเบื้องหลัง องค์กรไทยสปีดรับ ‘Disruption’ ไม่ทันจริงหรือ

 

monitor 1307227 1280
มีหลายหลักฐานว่า ทุกวันนี้ธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทยและอีกหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจค้าปลีก การเงินการธนาคาร วงการการแพทย์ ภาคการเกษตร หรือแม้กระทั่งวงการสื่อเองก็ได้รับผลกระทบ โดยหลายคนชี้ว่า แกนกลางของการเปลี่ยนแปลงนั้นมาจาก “เทคโนโลยี” ที่พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดดนั่นเอง

เมื่อตระหนักได้ดังนั้น ภาพที่เราได้เห็นในช่วง 2 – 3 ปีที่่ผ่านมาจึงเป็นการออกมาประกาศทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการขององค์กรต่าง ๆ ว่า ธุรกิจกำลังปรับใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น บ้างก็ประกาศว่ากำลัง Reskill บุคลากร หรือการประกาศว่าธุรกิจกำลังทดลองในเส้นทางใหม่ ๆ แต่ในมุมของอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC (South East Asia Center) ในฐานะศูนย์พัฒนาภาวะผู้นำและผู้บริหารระดับสูง กลับมองต่างออกไป โดยเธอระบุว่า บางทีสิ่งที่องค์กรมองอาจไม่ใช่สิ่งที่ตรงกับความเป็นจริงก็เป็นได้

“ทุกวันนี้ การจัดมิดไนท์เซลล์ของห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ มีคนให้ความสนใจลดลงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เหตุเพราะคนไทยทุกวันนี้สามารถซื้อของราคาถูกได้ตลอดเวลา หรือการที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเปิดผลวิจัยว่า ในอีก 10 – 15 ปีข้างหน้า 50% ของมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะประสบภาวะขาดทุน และล้มละลาย” นางอริญญากล่าว พร้อมกับระบุว่า “ปัญหาคือองค์กรทุกวันนี้ ไม่สามารถใช้ศักยภาพเดิมในการแข่งขันได้อีกต่อไป องค์กรต้องมีการ Reskill คน และดึง Talents ใหม่ ๆ เข้ามา แต่สิ่งที่ตามมาคือ เราคิดว่าคนเก่ง คือคนเก่งตลอดชีวิต ซึ่งมันผิด คนเก่งเหล่านั้นอาจจะไม่สามารถใช้ทักษะที่เคยเรียนรู้มาในการนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายใหม่ได้เช่นกัน ผลก็คือ Talents เหล่านั้นหมดกำลังใจและลาออก ส่งผลให้องค์กรเผชิญตัวเลขการ Turnover สูงมากขึ้นอีกต่อ”

SEAC คุณอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC 2614 re
นางอริญญา เถลิงศรี

จากเส้นทางดังกล่าว SEAC ยังพบว่า ทุกวันนี้ มีผู้บริหารระดับสูงที่ยอมรับว่า ‘เหนื่อย’ มากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากตัวผู้บริหารเองไม่สามารถนำพาพนักงานในองค์กรให้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ซึ่ง SEAC พบว่า สภาพทั้งหมดเหล่านี้เกิดจากความท้าทาย 3 ประการ ได้แก่

  • ยุค Disruption ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้แม้ระดับผู้บริหารเองก็มองอนาคตไม่ชัด และไม่สามารถคาดการณ์อนาคตไกล ๆ ได้อีกต่อไป
  • ภาษาที่ใช้ภายในองค์กรไม่ใช่ภาษาเดียวกัน อาจกล่าวให้เห็นภาพได้เช่น ผู้บริหารระดับสูงอาจใช้ภาษาที่เน้นการสั่งการ ซึ่งภาษาเหล่านั้นไม่ได้สามารถสร้างบรรยากาศของการเข้าอกเข้าใจกัน ทำให้การสื่อสารที่ควรจะทำได้อย่างรวดเร็วระหว่างพนักงานเกิดความหยุดชะงักหรือไม่ลื่นไหล
  • ความเร็วในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในองค์กรนั้นต่างกัน โดยในจุดนี้ต้องยอมรับว่าในองค์กรนั้นมีทั้งคนที่อยากจะเปลี่ยนแปลงและต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ทำให้การขับเคลื่อนองค์กรแต่ละแห่งนั้น ใช้เวลาไม่เท่ากัน

สำหรับแนวทางในการเปลี่ยนบรรยากาศในองค์กรให้สามารถสปีดตัวตามการเปลี่ยนแปลงได้นั้น นางอริญญาเผยว่า จำเป็นต้องมีทักษะพิเศษบางประการ นั่นคือ

  • การสร้างภาวะผู้นำที่ไม่จำกัดเฉพาะตำแหน่งผู้นำในองค์กร หากแต่ต้องใส่ทักษะนี้ให้กับพนักงานทุกคน ผ่านการพัฒนาวิธีคิด และวิธีในการทำงานร่วมกับผู้อื่น
  • ฝึกการทำงานแบบยืดหยุ่น เพื่อให้สามารถปรับตัวและปรับวิธีการในการทำงานให้เหมาะกับแต่ละบุคคลได้
  • ฝึกความสามารถในการสื่อสาร โดยในยุค Disruption ผู้บริหารต้องเข้าใจและสามารถสื่อสารกับพนักงานตลอดเวลา เพื่อให้ภาพของการเปลี่ยนแปลงที่องค์กรต้องการจะมุ่งไปนั้น ชัดเจนมากขึ้น

“เราจัดการอบรมให้ผู้บริหารระดับ C-Level มาเยอะมาก แต่สุดท้ายก็พบว่า คนจำนวน 5 – 10 คนไม่สามารถผลักดันคน 200 – 300 คนได้ แต่ถ้าทุกคนในองค์กรรู้จักการตั้งเป้าหมาย ทั้งในเรื่องงาน ครอบครัว รวมถึงเรื่องของส่วนรวมได้ก็จะสามารถนำพาตัวเองให้ก้าวไปข้างหน้าได้โดยที่ไม่ต้องรอให้ใครมาสั่ง”

ทั้งนี้ นางอริญญายังได้กล่าวทิ้งท้ายถึงการเตรียมตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงว่าในมุมของเธอนั้น ทุกคนในองค์กร ต้องเปิดรับข้อมูลที่เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นตลอดเวลา เพื่อจะได้ทำความเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง และพร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ รวมถึงพร้อมที่จะโยนทักษะเก่า ๆ ที่ใช้ไม่ได้แล้วทิ้งไปด้วย

“ทั้งโลกจะมุ่งสู่การ Reskill ครั้งใหญ่ ดังนั้น ต้องไม่ยึดติดกับทักษะ หรือความสำเร็จในอดีต เพราะใน 5 ปีข้างหน้า เราเชื่อว่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยมีเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่งานเดิม ๆ ที่มนุษย์เคยทำ สถาบันการศึกษา ธนาคาร ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจอาหาร ฯลฯ เหล่านี้จะได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็ว ดังนั้น สิ่งที่ทำได้วันนี้คือ การ Reframe แนวคิดใหม่ได้แล้ว”

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight