Technology

สำเร็จ!! ปลูกผลึกโปรตีนบนสถานีอวกาศ ส่งต่อญี่ปุ่น ร่วมพัฒนา ‘ยาต้านมาลาเรีย’

พัฒนายาต้านมาลาเรีย หลังปลูกผลึกโปรตีนบนสถานีอวกาศ สำเร็จ ส่งต่อองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น ทดลองต่อ เผยมีงานวิจัยรอส่งไปทดลองในอวกาศอีกหลายงาน

ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ นักวิจัยอาวุโส ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือไบโอเทค จาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ประเทศไทย ได้ส่งงานวิจัยสัญชาติไทย การทดลองปลูกผลึกโปรตีนในอวกาศเพื่อ พัฒนายาต้านมาลาเรีย ให้ทำการทดลองในสถานีอวกาศนานาชาติ หรือ ISS เมื่อช่วงกลางปีที่แล้ว ล่าสุด งานวิจัยดังกล่าวสำเร็จ ได้ผลึกโปรตีนที่มีคุณภาพ พร้อมใช้ในการศึกษาต่อ เพื่อการออกแบบยาต้านมาลาเรียต่อไป

พัฒนายาต้านมาลาเรีย

สำหรับงานวิจัยดังกล่าว เป็นผลงานของ ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ ที่ได้รับคัดเลือกจาก โครงการวิจัยวิทยาศาสตร์อวกาศ และการทดลองในอวกาศ National Space Exploration หรือ NSE ของ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า ให้ทำการทดลอง ในสถานีอวกาศนานาชาติ หรือ ISS

“การตกผลึกโปรตีน มีความสำคัญตรงที่ จะเห็นโครงสร้างของตัวโปรตีน ที่เป็นเป้าหมายของยา อย่างชัดเจน ซึ่งจะทำให้สามารถออกแบบตัวยา ที่จะสามารถจับกับโปรตีนตัวนี้ ได้ดียิ่งขึ้น เมื่อเห็นตัวโครงสร้างที่ชัดเจน เปรียบเสมือนเห็นตัวแม่กุญแจ แล้วเราหาลูกกุญแจไปจับ เพื่อให้มันเหมาะสม”ดร.ชัยรัตน์ กล่าว

ทั้งนี้ การตกผลึกโปรตีน ในอวกาศ จะได้ตัวผลึกที่มีคุณภาพ ที่ดีกว่าการตกผลึกโปรตีน บนพื้นผิวโลก เพราะในอวกาศไม่มีแรงโน้มถ่วง ตัวผลึกก็สามารถสร้างได้แบบธรรมชาติที่สุด ในตัวของมันเอง และผลการตกผลึกครั้งนี้ ก็ออกมาดีเกินคาด

หลังกลับมาจากการทดลอง ในสถานีอวกาศฯ ผลึกโปรตีน ได้ถูกส่งต่อไปยัง องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ JAXA เพื่อทำการทดลองต่อ โดยการยิงแสงซินโครตรอน เพื่อดูการกระเจิงของแสง สิ่งที่ต้องการคือ ข้อมูลการกระเจิงของแสง แล้วเอาข้อมูลมาคำนวณ สร้างเป็นโครงสร้าง 3 มิติของโปรตีน ในคอมพิวเตอร์ เพื่อดูว่าหน้าตาเป็นอย่างไร มีช่องไหน ที่สามารถนำมาใช้ออกแบบสารเคมี (ยา) ที่สามารถจับกับโปรตีนตัวนี้ได้ดี

ผลึกโปรตีน

นอกจากนี้ โปรตีนดังกล่าว ยังมีความสำคัญต่อเชื้อ ถ้ายับยั้งการทำงานของโปรตีนตัวนี้ได้ เชื้อมาลาเรียก็จะตาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการวิจัยต่อไป จุดมุ่งหมายสุดท้าย ของภาพรวมทั้งหมด คือ ตั้งใจที่จะหายาในการต้าน “มาลาเรีย”

ด้าน นายโยชิซากิ อิสุมิ หัวหน้าทีมส่งโปรตีนไปอวกาศจาก JAXA กล่าวว่า ได้ดำเนินการเติมสารละลายโปรตีน ณ ฐานยิงจรวด ศูนย์อวกาศเคนเนดี้ ก่อนที่จะทำการส่ง เพียงไม่กี่ชั่วโมง เพื่อป้องกันการทำปฏิกิริยาก่อนของสสาร จึงทำให้ได้ผลึกอวกาศที่มีคุณภาพ และสมบูรณ์มาก โดยจะส่งข้อมูลการกระเจิงของแสง และผลการฉายแสงซินโครตรอน กับโครงสร้างผลึกอวกาศให้จิสด้า ภายในเดือนกรกฎาคมนี้

ดร.อัมรินทร์ พิมพ์หนู หัวหน้าโครงการ NSE ของจิสด้า กล่าวว่า การทดลองดังกล่าวของ แม้ว่าจะยังไม่สามารถพัฒนา เป็นตัวยาต้านโรคมาลาเรียได้ในตอนนี้ แต่เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า จะสามารถพัฒนาได้ต่อไปในที่สุด เนื่องจากว่า ข้อมูลผลึกโปรตีนจากอวกาศที่ได้มานั้น มีความสำคัญที่สุด ในการพัฒนาตัวยา และนี่เป็นเหตุผลที่โครงการ NSE ของจิสด้า ได้คัดเลือกเอางานวิจัยดังกล่าว ส่งไปทดลองในอวกาศ

ผนึกโปรตีน

ขณะเดียวกัน โครงการ NSE ยังมีงานวิจัย ที่จะรอส่งไปทดลองในอวกาศ อีกหลายงานวิจัย อาทิ การทดลองคุณภาพอาหารไทยในอวกาศ, การทดลองปลูกพืช เพื่อเป็นแหล่งอาหารในอวกาศ หรือ การทดลองเลี้ยงเชื้อแบคทีเรีย เพื่อพัฒนาอุปกรณ์ ป้องกันรังสีคอสมิกจากอวกาศ เป็นต้น

ในแต่ละงานวิจัย จะเป็นการส่งเสริมวิทยาศาสตร์อวกาศในประเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และ สุขภาพของประชาชน รวมทั้งวางรากฐานให้กับ New Space Economy ต่อไป โดยจิสด้าพร้อมที่จะผลักดัน และเดินหน้าเต็มกำลัง ในเรื่องการสำรวจอวกาศ ของประเทศไทย

พร้อมกันนี้ จะทำหน้าที่สำคัญ ในการสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน ร่วมกันมุ่งนำประโยชน์จากอวกาศมาใช้ เพื่อการวิจัยและพัฒนา ทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งการสร้างธุรกิจใหม่ และต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอวกาศได้ต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo