General

กมธ. ICT วุฒิสภา ชง 4 ข้อ 3 แผน กำจัด ‘เฟคนิวส์ – ข้อมูลบิดเบือน’

กำจัดเฟคนิวส์ – ข้อมูลบิดเบือน กมธ.ICT วุฒิสภา เสนอแนวทาง 4 แนวทาง 3 แผนงานระยะสั้น จัดระบบ พร้อมกำชับ ดีอีเอส สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงโทษเด็ดขาด

นางประภาศรี สุฉันทบุตร สมาชิกวุฒิสภา กรรมาธิการ การเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารและการโทรคมนาคม วุฒิสภา (กมธ.ICT) เปิดเผยถึงการ กำจัดเฟคนิวส์ ว่า กมธ.ได้ประชุมเพื่อพิจารณาหาทางแก้ปัญหา “ข่าวปลอม” (Fake News) ที่ถูกสร้างขึ้น จากการบิดเบือนเนื้อหา จากความเป็นจริง ด้วยการนำเสนอ ข้อความอันเป็นเท็จ ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ในสาระสำคัญ ถูกเผยแพร่ ในสังคมออนไลน์

fake 1903823 1280

ทั้งนี้ กมธ. ICT โดยพลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานกมธ. ได้รายงานผลการดำเนินการ ศึกษาติดตามเร่งรัดการแก้ปัญหา ต่อที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 20 กรกฏาคม ที่ผ่านมา ว่า กมธ. ได้กำชับและเร่งรัด ให้กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กวดขันในการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ อย่างเฉียบพลัน เพื่อให้เป็นคดีตัวอย่าง

นอกจากนี้ ยังป้องปราม การปล่อยข่าวปลอม ส่งต่อข้อมูลหรือข่าวสาร ทั้งที่มีเจตนา และไม่มีเจตนาหาประโยชน์ ให้ใช้วิจารณญาณในการพิจารณา ด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้ข้อมูลหรือข่าวสารใด เป็นหนึ่งในเครื่องมือการกระทำความผิด

พลเอกอนันตพร ได้รายงาน เสนอการจัดระบบการบริหารจัดการ ข้อมูลบิดเบือน หรือข่าวปลอม ว่าต้องจัดการอย่างเป็นระบบ และบูรณาการ โดยมี 4 องค์ประกอบที่จำเป็นได้แก่

1. ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา และภาคประชาชน โดยทุกภาคส่วน ให้ความรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ และรุ่นเก่า ให้เท่าทันสื่อ ในเรื่องของข้อมูลข่าวสาร ผ่านรูปแบบสื่อต่าง ๆ โดยสามารถตรวจสอบ ความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลได้ด้วยตัวเอง อีกทั้งยังพร้อมตั้งสมมติฐานของข้อมูล ว่ามีข้อเท็จจริงเพียงใด

2. ควรมีหน่วยงานกลางของรัฐ รับผิดชอบทางเทคโนโลยี ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูล บิดเบือนออนไลน์ ตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยการทำ Data analytics เป็น AI เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการคาดการณ์ กับข้อมูลบิดเบือน โดยรวดเร็วทันการ แทนการเอาหน้าที่และอำนาจ ไปฝากไว้กับหน่วยงานใด หน่วยงานหนึ่ง

3. ควรมีการบรรจุการเรียนการสอน ในเรื่องการตรวจสอบ ข่าวปลอม ผ่านเว็บไซด์หรือ แพลตฟอร์มต่างๆให้เป็นหลักสูตรขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ

4. ควรมีการรายงานผลการตรวจสอบข้อมูลบิดเบือนที่พบ และอยู่ในความสนใจของประชาชน ไปถึงสื่อต่าง ๆ รวมทั้งองค์กร หรือบุคคล ที่อาจจะได้รับผลกระทบ จากข้อมูลบิดเบือนนั้น ๆ แม้ว่าข้อมูลดังกล่าว ได้มีการลบออกไปแล้วก็ตาม

นอกจากนี้ ยังรายงานข้อเสนอแนะ และข้อสังเกตของ กมธ.ICT ในการแก้ไขปัญหา ระยะสั้น 3 ประการ ประกอบด้วย

  • ควรมีแผนการ เกี่ยวกับกลยุทธ์การสื่อสาร ในยามเกิดวิกฤติ ข่าวปลอม โดยกำหนดหน้าที่ และอำนาจความรับผิดชอบให้ชัดเจนว่า ในสถานการณ์จริง หน่วยงาน หรือองค์กรใดมีหน้าที่ดำเนินการ
  • ควรมีการวางแผน ประสานงาน ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในยามที่เกิดวิกฤติ ปล่อย ข่าวปลอม และซักซ้อมตามแผนการ อยู่เป็นประจำ
  • ควรสร้างแหล่งข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่เชื่อถือได้ เพื่อให้ประชาชน สามารถตรวจสอบได้ ว่าอันไหนข่าวจริง ข่าวปลอม ได้อีกด้วย

การเดินหน้ากำจัด ข่าวปลอม เพราะส่งผลให้เกิดผลกระทบหลายด้าน อาทิ การรั่วไหลของข้อมูล จากการถูกแฮ็กความลับส่วนบุคล หรือขององค์กร, เกิดพฤติกรรมการกลั่นแกล้ง (Cyber Bullying)ทำให้เกิดความเกลียดชังและนำมาซึ่งความแตกแยกในสังคม, เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคข่าวสาร ทั้งขาดการวิเคราะห์ข้อมูล เกิดความความเชื่อในรูปแบบที่ผิด การโพสต์ข้อมูลโดยขาดการกลั่นกรอง เป็นต้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo