Business

ไม่ต้องกลัวตกงาน!! 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ต้องการแรงงานกว่า 1.69 ล้านคน

10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ต้องการแรงงาน กว่า 1.69 ล้านคน “สุริยะ” เผยเร่งดันแผนพัฒนาแรงงาน ร่วมฟื้นฟูอุตสาหกรรมไทย ยกระดับแรงงานรับอุตสาหกรรม 4.0

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมไทย ยังมีความต้องการแรงงาน อีกมาก โดยเฉพาะ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ต้องการแรงงานปี 2563 – 2567 ประมาณ 1,695,117 คน โดยแบ่งเป็น ความต้องการในระดับวิชาชีพ จำนวน 735,373 คน ระดับอุดมศึกษา จำนวน 959,744 คน

แรงงาน ๒๐๐๗๒๓

สำหรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ,  อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร, อุตสาหกรรมหุ่นยนต์, อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์, อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, อุตสาหกรรมดิจิทัล และ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

ขณะที่ ข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ชี้ให้เห็นถึงความต้องการแรงงานในช่วง 6 ไตรมาส (เดือน มกราคม 2562 – กรกฏาคม 2563) จากโรงงาน ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการแล้ว แต่ยังไม่ได้แจ้งประกอบกิจการ มีความต้องการแรงงานอีกกว่า 141,593 คน โดยอุตสาหกรรมที่มีความต้องการทางด้านแรงงานสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมพลาสติก

ด้านนายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) จะเป็นอุตสาหกรรม ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการยุคใหม่ ที่เกิดขึ้น ทั้งในอนาคต และสถานการณ์โควิด-19

ทั้งนี้ เห็นได้จาก 3 อุตสาหกรรมหลัก ที่ได้รับอานิสงส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากทั่วโลก ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, เวชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์รักษาโรค และอาหาร

จากความต้องการแรงงานดังกล่าว ทำให้ต้องเตรียมศักยภาพแรงงานไทย ให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง เข้าสู่อุตสาหกรรมวิถีใหม่ และอุตสาหกรรม 4.0 ใน 2 ด้าน ดังนี้

1. ด้านความต้องการแรงงาน (Demand Side) พัฒนาระบบนิเวศด้านแรงงาน (Labour Ecosystem) เพื่อรองรับการพัฒนาแรงงานในภาคอุตสาหกรรม เร่งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถานศึกษา และสถานประกอบการ เพื่อให้เกิดการถ่ายทอด แลกเปลี่ยนความรู้ และสร้างองค์ความรู้ใหม่ระหว่างกัน

สุริยะ 2
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

นอกจากนี้ ยังจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมฝีมือแรงงานในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย จัดทำฐานข้อมูลความต้องการด้านแรงงานทั้ง Demand Side และ Supply Side เพื่อให้สามารถพัฒนานักศึกษา ครูผู้สอน ให้ตรงกับทิศทาง ความต้องการแรงงาน ในภาคอุตสาหกรรม พัฒนาการวิจัย และเทคโนโลยี ยกระดับทักษะแรงงาน ในภาคอุตสาหกรรม

พร้อมกันนี้ ยังสนับสนุนด้านทุนวิจัย ที่ตรงกับความต้องการของ อุตสาหกรรม พัฒนาฐานข้อมูลความต้องการบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ของสถานประกอบการและฐานข้อมูลผู้เชี่ยวชาญในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐ ให้ทันสมัยสามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง

2. ด้านการผลิตแรงงาน (Supply Side) เพิ่มประสิทธิภาพการศึกษา ให้เอื้อต่อการพัฒนากำลังคนใน ภาคอุตสาหกรรม จัดทำหลักสูตร การฝึกอบรมแบบเข้มข้นในระยะสั้น เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างกำลังคน ในภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมระบบการศึกษาทางไกล ผ่านระบบออนไลน์ (E-learning) เพื่อสร้างโอกาส ในการพัฒนาตนเอง ส่งเสริมภาพลักษณ์การอาชีวศึกษา

ขณะเดียวกัน จะเร่งปรับค่านิยม และวางรากฐานทักษะอาชีพ ให้แก่ผู้เรียน ตั้งแต่วัยการศึกษาขั้นพื้นฐาน พัฒนาทักษะ และองค์ความรู้ของแรงงาน ให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม จัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะความรู้ในระยะสั้น เน้นการฝึกอบรม เพื่อผลิตกำลังคน ให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถานศึกษา และสถานประกอบการ ในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นต้น

การดำเนินการดังกล่าว จะทำให้หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง มีข้อมูลที่จำเป็น เพื่อใช้ประกอบในการกำหนดแนวทาง การพัฒนาแรงงาน ภาคอุตสาหกรรมของประเทศ

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาแรงงานใน ภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐไม่สามารถดำเนินการเพียงลำพังได้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งปัจจัยที่จะส่งผลให้เกิดความสำเร็จ ในการพัฒนาทักษะกำลังคน จำเป็นต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคการศึกษา และแรงงาน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือดูแลเพื่อฟันฝ่าวิกฤติครั้งนี้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo