COLUMNISTS

วิกฤติการเมืองทำเศรษฐกิจพัง

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
98

นักวิชาการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ 2 คน คือ ผศ.ดร พงษ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ รศ.ดร ยุทธนา เศรษฐปราโมทย์ อาจารย์คณะพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ออกมาพูดเป็นข่าวสัปดาห์ก่อน โดยสรุปผลจากงานวิจัยว่าด้วยความไม่แน่นอนทางการเมืองในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (2540-2560) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจาก 5 รูปแบบหลัก

000 Hkg7390393

ไล่เรียงตั้งแต่ การเลือกตั้ง การรัฐประหาร การชุมนุม และการประท้วงทางการเมือง การปฏิรูปทางการเมือง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอาจารย์พงษ์ศักดิ์ ชี้ว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลในเชิงลบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้ง ระยะสั้น และ การเจริญเติบโตในระยะยาว

อาจารย์ยุทธนาขยายความเพิ่มเติมอีกว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อ การขยายตัวของจีดีพีของประเทศเฉลี่ย 0.4 % ต่อปี

ก่อนชี้เฉพาะเจาะจงลงไปว่าช่วงวิกฤติการเมือง 3 ครั้งคือ การชุมนุมของ กลุ่มพันธมิตรฯ (มวลชนเสื้อเหลือง ไล่อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ปี 2549)  ตามด้วย การชุมนุมของ นปช. ( มวลชนเสื้อแดงไล่อดีตนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 2551) และการชุมนุมของ กปปส. (มวลมหาประชาชนไล่ อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปี 2556 ) ทำจีดีพีหายไปเพิ่มเป็น 2 เท่าจากวิกฤติการเมืองครั้งก่อนหน้า หรือลดลงเฉลี่ยถึงปีละ 1 %

ปัจจัยหลักที่ทำให้จีดีพีหล่นหาย ไปคือ การลงทุนเอกชนที่ลดลงเพราะธรรมชาติของนักลงทุนเมื่อไม่มั่นใจในทิศทางก็หยุดดูโดยเฉพาะนักลงทุนต่างประเทศ

อาจารย์ยุทธนายังระบุด้วยว่า ความขัดแย้งทางการเมืองทำให้การลงทุนภาคเอกชนลดลงต่ำจากปกติ คือในภาวะปกติการลงทุนขยายตัวมากกว่า จีดีพีประเทศ โดยยกตัวอย่างตัวเลขเศรษฐกิจปีนี้ที่ คาดการณ์กันว่า จีดีพีจะขยายตัวราว 4.5 % ขณะที่การลงทุนเอกชนขยายตัว 3 % กว่า

ตัวเลขจีดีพีที่หายไปเกี่ยวโยงในทุกภาคส่วน หลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลต้องทำงบฯ ขาดดุลต่อเนื่องเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่เอกชนอ่อนแรงซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อวินัยการคลัง สถานการณ์ของกิจการเล็กใหญ่ อย่างดีที่สุดคือ กำไรลดลง แต่หลายบริษัทผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่เกิดวิกฤติการเมืองสามครั้ง หลายแห่งม้วนเสื่อปิดกิจการ คนตกงาน รวมไปถึง ตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง

ดร.สมคิด จาตุรศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ไปปาฐกถาในงาน ไทยแลนด์ โฟกัส 2018 : เดอะ ฟิวเจอร์ อีส นาว พูดถึงเรื่องนี้เช่นกันแต่ให้ภาพอีกมุม โดยยืนยันว่า เศรษฐกิจได้ฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ โดยอ้างอิงตัวเลข จีดีพี จากเดิมที่ขยายตัวเพียง 0.9 % ในปี 2557 ทะยานขึ้นมาเป็น 4.8 %ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

รองนายกฯสมคิดยังโชว์ให้บรรดาผู้บริหารกองทุนจากทั่วโลกที่มารวมตัวกันในงานนี้ด้วยว่า ดัชนีทุกตัวภาคเศรษฐกิจดีขึ้นหมด การบริโภค ความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรมสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ การส่งออกพุ่งพรวด 10 % (ครึ่งปีแรก)

พร้อมกับย้ำว่าในช่วงหลังการขยายตัวไม่ได้มาจากภาคส่งออก แต่ แต่เพราะความเชื่อมั่นที่เกิดขึ้น ทำให้คนกล้าบริโภค รัฐบาลกล้าลงทุน เอกชนกล้าลงทุน ซึ่งสะท้อนความการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความเชื่อมั่น

ดร.สมคิดยกตัวเลขคำขอบีโอไอปี 2558 ที่มียอดเพียง 6,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.94 แสนล้านบาทเศษ ) ขยับมาเป็น 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว6.15 แสนล้านบาท) ในปี 2560 ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง มายืนยันว่า การลงทุนเอกชน นั้นกำลังดีวันดีคืน

ดูตัวเลขที่ ดร.สมคิด ยกมาโชว์โอกาสที่ตัวเลขการลงทุนจะกลับมาเข้าที่เข้าทาง หรือ ขยายตัวมากกว่าจีดีพีประเทศเช่นที่เคยเป็นในเร็ววันนี้ แต่ที่ยังคาดเดาไม่ได้คือ วิกฤติการเมืองจะหมุนกลับมาอีกหรือไม่