Economics

ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นขยับขึ้นต่อเนื่อง หลังคลายล็อกดาวน์

ส.อ.ท. เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายนขยับขึ้นต่อเนื่อง หลังรัฐบาลคลายล็อกดาวน์ พร้อมจี้รัฐเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน มิถุนายน 2563 อยู่ที่ระดับ 80.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 78.4 ในเดือนพฤษภาคม 2563 โดยค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากปัจจัยบวกที่รัฐบาลผ่อนปรนมาตรการควบคุมโควิด-19 ระยะที่ 3 และ 4 รวมทั้งยกเลิกคำสั่งห้ามออกนอกเคหะสถาน (เคอร์ฟิวส์) ทำให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น

สุพันธุ์ มงคลสุธี ส.อ.ท.237631

ขณะที่ ด่านการค้าชายแดน เริ่มทยอยเปิดในหลายพื้นที่ ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าไทย นอกจากนี้ ตลอดเดือนมิถุนายน จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายวันอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แต่ยังคงต่ำกว่าระดับ 100 แต่ผู้ประกอบการ ยังมีความกังวลต่อสภาพคล่อง และการเข้าไม่ถึงสินเชื่อ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดย่อม ปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท รวมทั้งต้นทุนประกอบการสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน ราคาวัตถุดิบ และค่าขนส่งโลจิสติกส์ที่ปรับตัวสูงขึ้น

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 90.1 ลดลงจากระดับ 91.5 ในเดือนพฤษภาคม 2563 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับความอ่อนแอของกำลังซื้อในประเทศในช่วง 3 เดือนข้างหน้าจากความเปราะบางของเศรษฐกิจ และความกังวลของการกลับมาระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกสอง ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงฤดูฝนมีไม่มากนัก

ดังนั้น มาตรการภาครัฐฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังจากโควิด-19 จึงมีความสำคัญต่อากรขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า

สำหรับข้อเสนอแนะที่มีต่อภาครัฐ มีดังนี้

1. ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น ขอให้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสนับสนุนการซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

2. ขอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาค้ำประกันสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ตามวงเงินกู้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 5 แสนล้านบาทต่อ หลังจากหมด พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพื่อจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการได้ง่ายขึ้น

3. ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติม เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

Avatar photo