General

เกษตรฯ เดินหน้าลุย ‘1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่’ งบเกือนหมื่นล้าน

1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ กระทรวงเกษตรฯ พร้อมลุย หลังครม. อนุมัติ เพื่อแก้ปัญหาความยากจนด้วยศาสตร์พระราชา-เกษตรทฤษฎีใหม่  เปิดศูนย์เรียนรู้ทุกตำบล

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า หลังจาก ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ งบประมาณ 9,805.707 ล้านบาท เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมดำเนินโครงการดังกล่าวแล้ว

1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่

ทั้งนี้ ได้วางเป้าหมายดำเนินการในกลุ่มเกษตรกร 4,009 ตำบล หรือเฉลี่ยตำบลละ 16 ราย รวมทั้งสิ้น 64,144 ราย รวมทั้งมีการจ้างงาน ตำบลละ 8 คน รวม 32,072 ราย รายได้เดือนละ 9000 บาท/ราย เป็นระยะเวลา 12 เดือน

ดังนั้น แต่ละตำบล จะมีทีมตำบลรวม 24 คน เป็นทีมงานที่จะร่วมกันทำงานตลอดเวลา 12 เดือน เพื่อจุดประกาย ขยายผลเกษตรทฤษฎีใหม่ในตำบลของตนต่อไป

สำหรับโครงการดังกล่าว ได้ยกร่างและนำเสนอ โดยคณะทำงานเกษตรทฤษฎีใหม่ ของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน ภายใต้ คณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งมีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน

นอกจากนี้ ยังเป็นส่วนหนึ่ง ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ภายหลังได้รับผลกระทบจาก การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) กรอบวงเงินรวมทั้งสิ้น 400,000 ล้านบาท ภายใต้แผนงาน “การสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก” ใน พรบ.เงินกู้ และถือเป็นโครงการที่ได้รับการอนุมัติในชุดแรก

อลงกรณ์
อลงกรณ์ พลบุตร

วัตถุประสงค์โครงการ เพื่อส่งเสริมแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อการพึ่งตนเองลงไปถึงระดับหมู่บ้าน ซึ่งถือเป็นทางรอด และต้นแบบของเกษตรรายย่อย เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อวิกฤติต่าง ๆ และสร้างความมั่นคงทางอาหารในที่สุด โดยใช้หลักของ เกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดิน เพื่อการอยู่อาศัย และมีชีวิตอย่างยั่งยืน

การดำเนินโครงการ จะแบ่งพื้นที่เป็นส่วน ๆ ได้แก่ พื้นที่น้ำ พื้นที่ดินเพื่อเป็นที่นาปลูกข้าว พื้นที่ดินสำหรับปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น พืชไร่นานาพันธุ์ และที่สำหรับอยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์ ในอัตราส่วน 30:30:30:10 เป็นหลักการในการบริหารจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

โครงการดังกล่าว จะดำเนินการโดยแต่งตั้ง คณะกรรมการบริหารโครงการฯ กำหนดคุณสมบัติเกษตรกร จัดทำคู่มือการดำเนินการ เกษตรทฤษฎีใหม่ รับสมัคร และคัดเลือกเกษตรกร ที่จะเข้าร่วมโครงการ โดยต้องมีพื้นที่เกษตรตั้งแต่ 3 ไร่ และพร้อมอุทิศตน เป็นต้นแบบศูนย์เรียนรู้ชุมชน

อลงกรณ์1

ขณะที่พื้นที่จะถูกนำมาออกแบบแปลงตามหลักทฤษฎีใหม่ และสอดคล้องกับภูมิสังคม โดยจะได้รับสระเก็บน้ำความจุรวม 4,000 ลูกบาศก์เมตร การส่งเสริมและปัจจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจากกรมประมง การปรับสภาพและบำรุงดินจากกรมพัฒนาที่ดิน การส่งเสริมด้านพืชและไม้ผลจากกรมส่งเสริมการเกษตร การส่งเสริมปัจจัยด้านปศุสัตว์ และพืชเลี้ยงสัตว์จากกรมปศุสัตว์

ที่สำคัญ เกษตรกร จะได้รับการอบรมบ่มเพาะ ให้มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ในแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ และพร้อมที่จะเป็นวิทยากร ถ่ายทอดในหมู่บ้านของตนต่อไป

ด้านเป้าหมายความสำเร็จของโครงการ 1 ตำบล1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ คาดว่าในอนาคต จะมีพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน เพิ่มขึ้นรวม 192,432 ไร่ พื้นที่เก็บกับน้ำจุได้ รวม256 ล้าน ลูกบาศก์เมตร และพื้นที่ปลูกป่าเพิ่มขึ้น 19,253 ไร่

ในส่วนของ เกษตรกร จะได้รับการพัฒนา ให้มีความมั่นคงในอาชีพอย่างยั่งยืน 64,144 ราย เกิดการจ้างงาน 32,072 คน ตลอดจนมีแปลงต้นแบบ เพื่อการเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ รวม 64,144 แปลง ทั่วประเทศอีกด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo