COVID-19

‘บิ๊กตู่’ ลั่น ‘ไม่มีวีไอพี’ แจงต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องคุมเข้มกิจการเสี่ยงสูง กันโควิดรอบ 2

ไม่มีวีไอพี “บิ๊กตู่” ลั่นต้องปฏิบัติตามมาตรการเหมือนกัน หลังผ่อนตลายกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง แจงแผนเปิดรับต่างชาติ อยู่ในขั้นตอนเตรียมการ อย่าตื่นตระหนก

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการประชุม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมฯ ว่า นายกรัฐมนตรี ขอให้ทำความเข้าใจว่า รัฐบาลไม่ได้อนุญาตหรืออนุโลมให้ วีไอพี โดยจะ ไม่มีวีไอพี ต้องปฏิบัติตามมาตรการเหมือนกัน

ไม่มีวีไอพี

ทั้งนี้ ยืนยันว่า การปฏิบัติทุกอย่าง เป็นไปตามข้อกำหนดและความจำเป็น และมีมาตรการเข้มข้นขึ้น จากมาตรการผ่อนคลายต่างๆ ทั้งการเปิดกิจการ ที่มีความเสี่ยงสูง การรับคนไทยเดินทางกลับเข้าประเทศ และการเตรียมความพร้อม เพื่อผ่อนคลายการบังคับใช้กฎหมายในอนาคต

พลเอกประยุทธ์ ยังได้ให้นโยบายเกี่ยวกับ ประเด็นการอนุญาต ให้ต่างชาติเข้ามาในราชอาณาจักร ว่ายังอยู่ในช่วงเตรียมการ ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขอให้ทุกฝ่ายสร้างการรับรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง พัฒนาปัจจัยความพร้อมในการดำเนินการ โดยขอให้จัดทำสื่อ infographic ประชาสัมพันธ์ เพื่อชี้แจงให้ประชาชนทราบ มีความเข้าใจที่ถูกต้อง และทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกเวลา เพื่อให้ประชาชนคลายความตระหนกและเป็นการป้องกันการเผยแพร่และขยายผลของข่าวปลอมได้อีกช่องทางหนึ่ง

สำหรับการขยายระยะเวลา ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ออกไปอีก 1 เดือนนั้น สภาความมั่นคงแห่งชาติพิจารณาเห็นว่า ในภาพรวมทั่วโลกยังคงมีการระบาดที่รุนแรง อีกทั้ง มีคนไทยจากต่างประเทศและชาวต่างชาติ ที่ได้รับการผ่อนผันเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ มาตรการผ่อนคลายภายในประเทศที่ดำเนินการอยู่ เป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง ต่อการแพร่ระบาดของโรค จึงจำเป็นต้องมีการกำกับดูแล โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ตามกฎหมายเชิงป้องกัน ในการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ ต้องมีระบบการบริหารในลักษณะการรวมศูนย์ ที่เป็นเอกภาพ และมีประสิทธิภาพ และอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะเป็นเครื่องมือเตรียมความพร้อมประเทศในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ฐานชีวิตใหม่

ส่วนการนำแรงงาน 3 สัญชาติ (ลาว เมียนมา กัมพูชา) กลับเข้ามาทำงาน ได้สั่งการให้ กระทรวงแรงงาน พิจารณาวางแผนการนำเข้าในรายละเอียด ตามห้วงเวลาที่เหมาะสม แบ่งกลุ่มจัดลำดับตามความจำเป็น และปฏิบัติตามมาตรการที่ ศบค. กำหนด โดยกำหนดลำดับความเร่งด่วนของแรงงาน ตามกลุ่มธุรกิจที่มีความจำเป็น และมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ ตามลำดับเวลา (Timeline) เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินการ ณ บริเวณด่านช่องทางเข้าราชอาณาจักรที่ได้รับอนุญาตไว้

คัดกรอง

พร้อมกันนี้ ต้องเพิ่มขีดความสามารถ ในการตรวจคัดกรองโรคต่อวัน โดยจะต้องเข้มงวด กับมาตรการในการขนส่งแรงงานดังกล่าว ไปยังสถานที่กักกันโรค ซึ่งสถานที่ฯ ดังกล่าวจะต้องมีการควบคุมมาตรฐาน ให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรค ที่ทางราชการกำหนด

“ส่วนมาตรการบุคคลต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมือง ขอให้ทุกฝ่ายดำเนินการอย่างเข้มงวด ระมัดระวัง ไม่ปกปิดข้อมูล และพร้อมชี้แจงในทุกรายละเอียด” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ด้านการช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ นายกฯ สั่งการให้กระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ติดตามการดำเนินมาตรการช่วยเหลือให้ครอบคลุมและทั่วถึงทุกกลุ่ม และกำหนดมาตรการ เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพ ให้เพียงพอรองรับแรงงานที่ต้องการทำงาน และเร่งสร้างทักษะใหม่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางอาชีพ หรือลักษณะการทำงานที่จะเปลี่ยนแปลงไป

สำหรับการจัดทำข้อตกลงพิเศษ (Special Arrangement) มีกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มนักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญ ที่เดินทางเข้าไทยในระยะสั้นไม่เกิน 14วัน และพิจารณาภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด เช่น การอนุญาตให้ ชาวต่างชาติ เข้ามาจัดการแสดงสินค้าในราชอาณาจักร การอนุญาตให้ชาวต่างชาติ เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ การอนุญาตให้ชาวต่างชาติ ในรูปแบบ Package Tour ที่เชื่อมโยงกับ Medical and Wellness เข้ามาในราชอาณาจักร การดำเนินการต่อผู้ถือบัตรสมาชิกพิเศษประเทศไทย หรือไทยแลนด์ อีลิท การ์ด

medical tourism ๒๐๐๗๐๙

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พิจารณารายละเอียดที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับคณะกรรมการเฉพาะกิจ และกระทรวงสาธารณสุข โดยนายกรัฐมนตรี สั่งการให้กำหนดข้อปฏิบัติอย่างชัดเจน ควบคุม ติดตามตัวผู้เดินทางเข้าประเทศได้

“โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันเยียวยา โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง โดยพิจารณาจัดกิจกรรมการประชุม สัมมนา ส่งเสริมการท่องเที่ยวต่างๆ ตามที่ภาคเอกชนในจังหวัดระยองได้ร้องขอด้วย” นางนฤมล กล่าว

ในส่วนของสถานการณ์การชุมนุม เป็นอีกเหตุการณ์ที่น่าห่วงกังวล ต่อสถานการณ์การแพร่ระบาด โดยนายกฯ ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการอย่างเข้มงวดรอบคอบ ทั้งฝ่ายมั่นคง และสาธารณสุขต้องดูแล ไม่ละเลยมาตรการป้องกันโรค โดยภาครัฐต้องส่งเสริมช่องทาง และเปิดโอกาสให้แสดงความเห็นอย่างสันติ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo