COVID-19

การศึกษาไทยหลังโควิด พลิกโฉมครั้งใหญ่ เกิดสาขาใหม่เพิ่ม ก้าวสู่ ‘New Normal’

การศึกษาไทยหลังโควิด เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ สอวช. คาด มหาวิทยาลัยปรับตัว เปิดสาขาใหม่เพิ่มมากขึ้น นักศึกษาลงช่วยพัฒนาชุมชน เกิดสตาร์ทอัพแนวใหม่จำนวนมาก

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยว่า หลังจากสถานศึกษากลับมาเปิดการเรียนการสอน ก็จะมีมาตรการการป้องกัน ผสมผสานการเรียน ทั้งทางออนไลน์ และออฟไลน์ ส่งผลให้ การศึกษาไทยหลังโควิด จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากการปรับตัวของสถานศึกษา และนักศึกษา

การศึกษาไทยหลังโควิด

ทั้งนี้ การเรียนทั้งทางออนไลน์ และออฟไลน์ จะส่งผลให้เกิดสตาร์ทอัพ ด้านการเรียนการสอนขึ้นจำนวนมาก ขณะที่มหาวิทยาลัย จะมีการเปิดหลักสูตรพัฒนาทักษะ สำหรับกลุ่มอาชีพมากขึ้น ในขณะที่ นักเรียนและนักศึกษา เริ่มหันไปสนใจการเรียนสาขาใหม่ ๆ ทำให้มหาวิทยาลัย ต้องเร่งปรับหลักสูตร

นอกจากนี้ ยังเชื่อว่า นักศึกษาทั้งที่เรียนอยู่ และจบใหม่ จะมีบทบาท เข้าไปช่วยพัฒนาชุมชนมากขึ้น จนเกิดเป็น local startup และ social enterprise จำนวนมาก

“การแข่งขันการระหว่างมหาวิทยาลัย มีสูงขึ้น เกิดการลดขนาด และแบ่งตลาดกันอย่างชัดเจน หลักสูตรมีการผสมผสาน ระหว่างการเรียนออนไลน์ และออฟไลน์ สถานศึกษาบางแห่งที่ไม่สามารถตอบโจทย์ตลาดใหม่ได้ ต้องปิดตัวลง การเรียนการสอน เน้นไปที่การพัฒนาทักษะ และการเรียนรู้ตลอดชีวิตมากขึ้น” ดร.กิติพงค์ กล่าว

สำหรับมาตรการฟื้นฟู เป้าหมายสำคัญ คือ ปรับเปลี่ยนรูปแบบของการศึกษา และ การเรียนรู้ของสถาบันการศึกษา ให้ก้าวเข้าสู่ความเป็น “new normal schools” สามารถจัดการศึกษาและการเรียนรู้ ได้อย่างต่อเนื่อง มีคุณภาพ คนทุกกลุ่ม สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งจะทำให้นักเรียน นักศึกษา หรือผู้เรียนทุกช่วงวัย สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา แม้ในภาวะวิกฤติ

ส่วนประเด็นด้านองค์ความรู้ ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ที่สำคัญเพื่อรองรับการฟื้นฟู และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ ในด้านการศึกษา คือ การปฏิรูปการศึกษา และการเรียนรู้ ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะประกอบด้วย มาตรการที่จำเป็น สำหรับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย คือ สถานศึกษา ได้แก่

technology ๒๐๐๗๒๑

  • การพัฒนานวัตกรรม และระบบบริหารจัดการอาคารสถานที่ การจัดการเรียนกลุ่มเล็ก ในสถานศึกษา เพื่อทำให้ผู้เรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา สามารถรักษาระยะห่างทางสังคม และลดความเสี่ยง ต่อการแพร่ระบาด ของโรคในสถานศึกษา
  • การพัฒนา และใช้โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ ที่จำเป็นต่อการยับยั้งการแพร่ระบาด ของโรคในสถานศึกษา
  • การพัฒนาระบบบริหารจัดการ เพื่อรองรับการเรียน ผ่านสื่อผสมผสาน เพื่อการเรียนออนไลน์และออฟไลน์
  • การยกระดับทักษะ และความรู้พื้นฐานด้านดิจิทัล ครู บุคลากรทางการศึกษา ให้สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอน และพัฒนาสื่อการสอน เพื่อทดแทนหรือเสริมการเรียน ในระบบปกติได้ รวมถึงเพื่อให้บุคลากรสนับสนุน มีทักษะด้านดิจิทัล เพียงพอต่อการสนับสนุน กิจกรรมทางการศึกษา ของสถานศึกษา
  • การพัฒนาทักษะการสอน และเนื้อหาการสอน ที่เหมาะสมกับการเรียน ผ่านระบบดิจิทัล และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน รวมถึงให้ความรู้ด้าน health education กับครูและบุคลากรทางการศึกษา

โรงเรียน ๒๐๐๗๒๑

ในส่วนของนักเรียนและผู้ปกครอง หากมีความจำเป็นต้องเรียนจากที่บ้าน ก็ต้องมีความรู้พื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อจะได้เข้าใจถึงการใช้อุปกรณ์ ที่จำเป็นต่อการเรียนทางไกล เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน ซิมการ์ด สำหรับเข้าถึงอินเทอร์เน็ต

ขณะเดียวกัน ทางสถานศึกษาควรพิจารณา สนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็น ต่อการเรียนทางไกลให้แก่ผู้เรียน โดยการอุดหนุนค่าใช้จ่าย เพื่อซื้ออุปกรณ์ หรือจัดหาอุปกรณ์ ให้นักเรียนสามารถยืมเรียนได้

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้เอสเอ็มอี พัฒนานวัตกรรม สำหรับใช้ในสถานศึกษา ที่กลับมาเปิดการเรียนการสอน เช่น นวัตกรรมสำหรับตรวจคัดกรอง การสืบเสาะ และการติดตามผู้ติดเชื้อ หรือมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อในสถานศึกษา นวัตกรรมสื่อการสอนที่ใช้ทดแทน หรือเสริมการเรียนปฏิบัติการ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ระยะไกล การพัฒนาแพล๊ตฟอร์มกลาง ที่บรรจุบทเรียนออนไลน์ที่เข้าถึงได้ง่ายและทันสมัย เป็นต้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo