Politics

ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 1 เดือน! ‘บิ๊กตู่’ ยันไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม

ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีก 1 เดือน! “นายกรัฐมนตรี” เผย “ศบค.” จ่อเคาะพรุ่งนี้ เหตุกฎหมายปกติไม่ครอบคลุม ยันต่ออายุไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม เตือนนักศึกษาระมัดระวังการก้าวล่วง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ได้ข้อสรุปเตรียมเสนอ ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่จะหมดอายุวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ต่อไปอีก 1 เดือน โดยจะนำเข้าสู่ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ เพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค.เป็นผู้พิจารณาอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (22 ก.ค.)

ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (22 ก.ค.) ศบค.ชุดใหญ่ จะมีการพิจารณาว่า จะต่ออายุการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ซึ่งจะหมดเวลาบังคับใช้ในวันที่ 31 กรกฎาคม นี้ หรือไม่ โดยต้องพิจารณาตามความจำเป็น และคำนึงถึงสิ่งสำคัญ ในการใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้

“ตนเคยย้ำหลายครั้งว่า กฎหมายปกติไม่ครอบคลุม การต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะพระราชบัญญัติการชุมนุมมีบังคับใช้อยู่แล้ว ตนไม่จำเป็นต้องสั่งการอะไรเพิ่มเติม เพียงแต่ห่วงกังวล และสั่งการให้ดำเนินการ ด้วยความระมัดระวัง” นายกรัฐมนตรี กล่าว

โดย ที่ประชุมศบค. ก็จะมีการพิจารณาเรื่องการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปหรือไม่ โดยที่ประชุมจะหารือว่า มีความจำเป็นอะไรอย่างไร แต่ที่สำคัญสุดเคยพูดไปหลายครั้งแล้วว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับนี้มีไว้ใช้เพื่ออะไร เพราะหลายกฎหมายไม่ครอบคลุม และยืนยันไม่ได้เอากฎหมายนี้ไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการชุมนุม เพราะมีพ.ร.บ.การชุมนุมอยู่แล้ว

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก หรือ Free Youth ว่า การชุมนุมตนมีความเป็นห่วงเด็ก นักศึกษา เป็นห่วงแทนพ่อแม่ ผู้ปกครอง จึงได้กำชับกับเจ้าหน้าที่ว่าให้ดูแลสถานการณ์ด้วยความระมัดระวัง และอยากเตือนให้ระมัดระวังเรื่องการก้าวล่วง เป็นสิ่งที่ไม่สมควรจะเกิดขึ้น

“ตนไม่ต้องการพูดเรื่องนี้มาก ไม่อยากให้ถูกขยายความจนเป็นประเด็น ส่วนข้อเรียกร้อง 3 ข้อของกลุ่มนักศึกษานั้น ก็อยู่ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอยู่แล้ว เป็นไปตามกลไกและกระบวนการปกติ” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ได้เข้ามาพบกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ห้องทำงานตึกบัญชาการ ทั้งนี้ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก ได้เข้าพูดคุยด้วย

โดย พล.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า กรณีที่มีรายงานข่าวว่า คณะกรรมการเฉพาะกิจฯ เตรียมเสนอให้ที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ ในวันที่ 22 กรกฎาคมนี้ พิจารณาขยายเวลาประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่จะครบกำหนดในวันที่ 31 กรกฎาคมออกไปอีกหนึ่งเดือน โดยครอบคลุมเดือนสิงหาคมว่า เดี๋ยวพรุ่งนี้ (22ก.ค.) มีประชุมศบค.

เมื่อถามถึงแนวโน้มที่จะต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และผลดีผลเสียที่จะตามมา เลขาฯสมช. กล่าวว่า “เดี๋ยวว่ากันอีกที”

ผู้สื่อข่าวถามถึงเหตุผลความจำเป็นในการต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พล.อ.สมศักดิ์ กล่าวย้ำว่า “ให้รอฟังพรุ่งนี้”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เสนอให้ขยายเวลการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563

ทั้งนี้ เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีการผ่อนคลายมาตรการในระยะที่ 5 ในกลุ่มเสี่ยงสูง และยังต้องควบคุมการเดินทางเข้าออกประเทศ

โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด -19 ในภาพรวมทั่วโลกยังคงมีความรุนแรงในหลายภูมิภาค รวมทั้งรัฐบาลได้มีมาตรการผ่อนคลายภายในประเทศในระยะที่ 5 จึงยังมีความจำเป็นต้องบังคับใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. ทั้งการควบคุมการเดินทางเข้า-ออกราชอาณาจักรในทุกช่องทาง การจัดทำระบบติดตามตัว การกักตัว และการเฝ้าระวังบุคคลต้องสงสัย

รวมทั้งการกำหนดมาตรการควบคุมโรคที่สามารถใช้บังคับอย่างครอบคลุมในทุกกิจการ/กิจกรรม แบบบูรณาการทั้งพลเรือน ทหารและตำรวจ เพื่อการบริหารจัดการวิกฤตให้เป็นเอกภาพ ลดความเสี่ยงไม่ให้มีการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศในระลอกที่สอง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo