General

อ่านที่นี่!! เทคนิคชม ‘ดาวหางนีโอไวส์’ ดูได้ด้วยตาเปล่าวันนี้ ในรอบกว่า 6,000 ปี

ชมดาวหางนีโอไวส์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยเคลื่อนที่เข้าใกล้โลกที่สุด 23 กรกฎาคมนี้ แแต่ชัดสุด วันนี้ พร้อมแนะเทคนิคตามล่า

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผู้คนทั่วโลกและนักดาราศาสตร์ ต่างเฝ้า ชมดาวหางนีโอไวส์ หรือ C/2020 F3 (NEOWISE) โดยเฉพาะวันที่ 18-23 กรกฎาคม 2563 เนื่องจากโคจรออกห่างดวงอาทิตย์มากขึ้น และกำลังเข้าใกล้โลก

ชมดาวหางนีโอไวส์

ทั้งนี้ ในวันที่ 23 กรกฏาคม 2563 จะเป็นวันที่ ดาวหางนีโอไวส์ เคลื่อนที่เข้าใกล้โลกที่สุด ที่ระยะห่าง 103 ล้านกิโลเมตร แต่จากข้อมูลพบว่าดาวหางจะมีค่าค่าความสว่างจะลดลง รวมทั้งในคืนดังกล่าวตรงกับคืนดวงจันทร์ขึ้น 2 ค่ำ อาจมีแสงจันทร์รบกวนเล็กน้อย หลังจากนั้นความสว่างจะลดลงเรื่อยๆ จนไม่สามารถสังเกตเห็นได้

ดังนั้น ช่วงเวลาในการ ชมดาวหางนีโอไวส์ ที่เหมาะสมสำหรับเฝ้าสังเกตการณ์ ดาวหางนีโอไวส์ ด้วยตาเปล่า ครั้งเดียวในรอบกว่า 6000 ปี จะเป็นวันนี้ (21 กรกฎาคม) เนื่องจาก เป็นคืนเดือนมืด ไร้แสงจันทร์รบกวน โดยคาดว่า จะมีค่าอันดับความสว่างปรากฏประมาณ 5

“ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ดาวหางนีโอไวส์ ได้รับความสนใจจากนักดาราศาสตร์และผู้คนบนโลก เนื่องจากปรากฏสว่างเหนือน่านฟ้าหลายประเทศ ต่างพากันติดตามและบันทึกภาพดาวหางดังกล่าวเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก”นายศุภฤกษ์ กล่าว

ขณะที่ ในประเทศไทย ช่วงครึ่งแรกของเดือนกรกฎาคม 2563 ดาวหางนีโอไวส์ จะปรากฏในช่วงรุ่งเช้า ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ตำแหน่งใกล้ขอบฟ้ามาก และยังเพิ่งโคจรผ่านจุดที่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด จึงถูกแสงอาทิตย์กลบ สังเกตได้ค่อนข้างยาก

ชมดาวหางนีโอไวส์

แต่ในช่วงครึ่งหลัง ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป จะดาวหางนีโอไวส์จะเปลี่ยนมาปรากฏในช่วงหัวค่ำ หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และความสว่างจะลดลงเรื่อยๆ แต่ยังคงสว่างในระดับที่ยังสามารถสังเกตการณ์ได้ด้วยตาเปล่า จึงเป็นโอกาสดีที่คนไทยจะได้ยลโฉมและบันทึกภาพความสวยงามของดาวหางดวงนี้

ดาวหางนีโอไวส์ หรือ C/2020 F3 (NEOWISE) เป็นดาวหางคาบยาว จากข้อมูลล่าสุดพบว่าโคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบใช้เวลาประมาณ 6,767 ปี ค้นพบโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศไวส์ (Wide-field Infrared Survey Explorer : WISE) ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์ในช่วงคลื่นอินฟราเรด ในโครงการสำรวจประชากรดาวเคราะห์น้อยและวัตถุใกล้โลก เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563

ขณะเดียวกัน สดร. ยังได้จัดกิจกรรมสังเกตการณ์ วงแหวนดาวเสาร์ ในคืนใกล้โลกที่สุดในรอบปี 4 จุดสังเกตการณ์ ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ หอดูดาวภูมิภาคนครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และสงขลาตั้งแต่เวลา 18.00-22.00 น. จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้ร่วมลุ้นชมดาวหางนีโอไวส์ ในวันดังกล่าวด้วย

ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง www.facebook.com/NARITPage

สิ่งควรรู้สำหรับกูรูนักล่าดาวหางนีโอไวส์ (NEOWISE)

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ยังได้แนะนำเทคนิค และวิธีการตามล่าดาวหางนีโอไวส์ รวมทั้งเทคนิคการถ่ายภาพดาวหางในเบื้องต้น ดังนี้

ตำแหน่ง

  • การติดตามข่าวสารจากเว็บไซต์ ที่ได้จากการเฝ้าสังเกตการณ์ของนักดาราศาสตร์ ซึ่งจะมีหอดูดาวสังเกตการณ์ตลอดทั้งปี และคอยอัพเดทข่าวสารเกี่ยวกับดาวหาง ที่อาจมีค่าความสว่างมากขึ้น จนสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น https://theskylive.com ซึ่งมีข้อมูลดาวหางแบบ Real Time และค่าความสว่าง ตำแหน่งดาวหางล่วงหน้าอย่างละเอียด
  • การหาตำแหน่งดาวหางจาก โปรแกรม Stellarium ซึ่งควรอัพเดทโปรแกรมเวอร์ชั่นล่าสุด และสามารถดาวน์โหลดข้อมูลดาวหางลงไว้ในโปรแกรมบนคอมพิวเตอร์ของเรา เพื่อตรวจสอบตำแหน่งดาวหางในแต่ละวันได้ รายละเอียดตามลิงก์ : https://bit.ly/2CcgdPi
  • การวางแผนถ่ายภาพดาวหางในแต่ละวัน โดยสามารถใช้ โปรแกรม Stellarium ในการแสดงทิศทางการเคลื่อนที่ของดาวหาง รวมทั้งการคาดการณ์ค่าความสว่างของดาวหาง ในแต่ละช่วงได้อีกด้วย และควรตรวจสอบดวงจันทร์ที่อาจจะทำให้มีแสงรบกวนได้ สามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ : https://bit.ly/2ZOjqwW

หามุมรับภาพ

  • อุปกรณ์สำหรับถ่ายภาพดาวหางสว่าง มีเพียง กล้องดิจิทัล, ขาตั้งกล้องที่มั่นคง, เลนส์ไวแสง แต่สำหรับดาวหางนีโอไวส์ครั้งนี้ แนะนำเลนส์ที่ช่วงทางยาวโฟกัส 24-70 mm. หรือ 70 – 200 mm. เนื่องจากขนาดปรากฏของดาวหางมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก
  • การหามุมรับภาพ เพื่อให้เราสามารถวางแผนเลือกใช้เลนส์และอุปกรณ์ที่เหมาะสมในการถ่ายภาพดาวหาง โดยสามารถใช้ โปรแกรม Stellarium ในการหามุมรับภาพ ตามลิงก์ : https://bit.ly/2WydE1o
  • การตั้งค่าถ่ายภาพดาวหาง เริ่มจากการใช้ค่ารูรับแสงกว้าง เช่น f/2.8 เพื่อให้กล้องไวแสงมากที่สุด คำนวณค่าความเร็วชัตเตอร์จากสูตร 400/600 ให้สัมพันธ์กับช่วงทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่เราเลือกใช้ รายละเอียดตามลิงก์ : https://bit.ly/2Cpsdxw ตั้งค่าความไวแสง ISO โดยอาจเริ่มจาก ISO 800 ขึ้นไป และปรับเพิ่มขึ้นตามสภาพแสงของท้องฟ้า
  • การมองหาดาวหางด้วยตาเปล่า ในระหว่างวันที่ 18-23 กรกฎาคม 2563 นี้ สามารถเริ่มต้นมองหาไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตั้งแต่เวลา 19.30 น. เป็นต้นไป และใช้การถ่ายภาพด้วยเลนส์มุมกว้างประกอบการค้นหา เนื่องจากกล้องถ่ายภาพสามารถรวมแสงวัตถุจางๆ ได้ดีกว่าตาเปล่า แล้วเช็คดูภาพที่หลังกล้อง หรืออาจใช้กล้องสองตาในการค้นหาด้วยเช่นกัน

ขอบคุณข้อมูลและภาพ : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT)

อ่านข่าวเพิ่มเติมที่

 

Avatar photo