Business

‘สินเชื่อไร้ดอกเบี้ย’ 3 ปี ธ.ก.ส. จับมือ NIA พัฒนาเกษตรไทย ด้วยนวัตกรรม

สินเชื่อไร้ดอกเบี้ย 3 ปี ธ.ก.ส. ร่วมมือ NIA ลุยพัฒนาภาคเกษตรด้วยนวัตกรรม ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ “BCG” หวังสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก

นายสุรชัย รัศมี รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วย “ความร่วมมือด้านการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรม” ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA)  จัด สินเชื่อไร้ดอกเบี้ย 3 ปี โดย ธ.ก.ส. จะสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน และ NIA รับชำระดอกเบี้ยแทน 3 ปีแรกสูงสุดถึง 5 ล้านบาทต่อโครงการ

สินเชื่อไร้ดอกเบี้ย

สำหรับความร่วมมือดังกล่าว จะเป็นการร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ โดยอาศัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการพัฒนาขีดความสามารถ ในการผลิต และผลักดันธุรกิจ ด้านนวัตกรรมทางการเกษตร ตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต ให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างความมั่นคงด้านอาหาร และความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ อันนำไปสู่การพัฒนาภาคเกษตรไทย อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ จะเน้นกลุ่มเป้าหมาย เกษตรกร ธุรกิจชุมชน ผู้ประกอบการภาคเกษตรและ สตาร์ทอัพ รวมถึงผลักดันให้เกิดธุรกิจเกษตรสมัยใหม่ ที่นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้เพิ่มขีดความสามารถในการผลิต การจัดการสินค้าเกษตร และการพัฒนาทรัพยากรการเกษตร ร่วมกับการสร้างระบบนิเวศ ที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ

ขณะที่แนวทางความร่วมมือ จะเน้นพัฒนาหลักสูตร การบ่มเพาะธุรกิจชุมชน ที่สามารถนำเทคโนโลยี และนวัตกรรม มาแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร เพื่อก้าวไปสู่ การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร สร้างการเปลี่ยนแปลงจากเกษตรดั้งเดิม สู่เกษตรสมัยใหม่ ตลอดห่วงโซ่การผลิต สอดคล้องกับนโยบายเกษตร 4.0

นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับการขับเคลื่อน ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ที่เรียกว่า “BCG” ซึ่งประกอบไปด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล

เกษตร จีน

ขณะเดียวกัน ธ.ก.ส. พร้อมให้การสนับสนุนสินเชื่อภายใต้โครงการ “นวัตกรรมดี…ไม่มีดอกเบี้ย” ให้กับผู้ประกอบการภาคเกษตร หรือผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม และ สตาร์ทอัพ นำไปใช้ในการพัฒนาต้นแบบ หรือเทคโนโลยี ที่สามารถนำไปสู่กระบวนการผลิตได้จริง หรือพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ สิทธิบัตรหรือเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิม ในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน MLR + 2% (ปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 4.875 ต่อปี)

ขณะที่ NIA จะเป็นผู้สนับสนุนด้านดอกเบี้ย ด้วยการชำระดอกเบี้ย แทนผู้ประกอบการธุรกิจ ที่เข้าร่วมโครงการ เป็นระยะเวลา 3 ปี วงเงินดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อโครงการอีกด้วย

ก่อนหน้านี้ ธ.ก.ส.และ NIA ได้ร่วมกัน ผลักดันให้เกิดการสร้างนวัตกรรม มีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ ในวงกว้าง และเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งมี 2 ตัวอย่างผู้ประกอบการ ได้แก่

  • บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด โครงการสถาบันวิจัยรสชาติอาหาร บริการวิจัย พัฒนา และผลิตเครื่องปรุงรสครบวงจร ด้วยวิธีการผลิตแบบ Cellular Manufacturing ซึ่งเน้นการผลิตขนาดเล็ก แต่เร็ว และยืดหยุ่นสูง โดยการแบ่งปันทรัพยากร และความเชี่ยวชาญของบริษัท ทำให้สามารถวิจัย พัฒนา และผลิตเครื่องปรุงรสรสชาติใหม่ ๆ ได้ในราคาถูก รวดเร็ว
  • บริษัท ดำเนินฟู้ด จำกัด โครงการเครื่องบรรจุวุ้นมะพร้าวอินทรีย์ แบบอัตโนมัติ พร้อมอุโมงค์ลดอุณหภูมิแบบต่อเนื่อง โดยใช้ระบบการดึงความร้อนผ่านตัวผลิตภัณฑ์ ที่สามารถลดอุณหภูมิจาก 80-90 องศาเซสเซียส เหลือ 50-55 องศาเซลเซียส ใช้เวลา 10-20 นาที ซึ่งช่วยลดการเกิดฟองอากาศบริเวณผิวหน้าของวุ้น และเพิ่มกำลัง การผลิตได้ถึง 3 เท่าต่อวัน

cellular manufacturingด้าน ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า การส่งเสริม และพัฒนา นวัตกรรมการเกษตร และ โครงการ นวัตกรรมดี…ไม่มีดอกเบี้ย ในครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร การพัฒนาขีดความสามารถในการผลิต การจัดการสินค้าเกษตร และการพัฒนาทรัพยากรการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความยั่งยืนของภาคเกษตรและความมั่งคั่งด้านอาหาร

สำหรับโครงการ นวัตกรรมดี… ไม่มีดอกเบี้ย NIA จะสนับสนุนดอกเบี้ยเงินกู้ แทนผู้ประกอบการนวัตกรรม ในวงเงินสนับสนุนดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อโครงการ ระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี และ ธ.ก.ส. จะเป็นผู้รับผิดชอบวงเงินกู้ ให้กับผู้ประกอบการนวัตกรรม ซึ่งเป็นการร่วมผลักดัน ให้เกิดการสร้างนวัตกรรม มีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจในวงกว้าง และเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

“ความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่เข้มแข็ง ในการพัฒนานวัตกรรมในภาคเกษตรของไทย ให้ยืนอยู่ได้ในสถานการณ์โลกที่ผันแปร ทั้งยังเป็นเครื่องมือและอาวุธสำคัญที่จะช่วยพลิกโฉมการเกษตรไทยให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และสร้างโอกาสการเป็นผู้นำในธุรกิจเกษตรระดับโลกในอนาคตอันใกล้นี้”ดร.พันธุ์อาจ กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo