General

ปิดตำนาน ‘มนุษย์กินคน’ ล้างมลทิน ‘ซีอุย’ เผาศพ 23 ก.ค.นี้

กรมราชทัณฑ์ ส่งจดหมายถึงโรงพยาบาลศิริราช แจ้งกำหนดทำพิธีฌาปนกิจศพ น.ช.ซีอุย หรือ หลีอุย แซ่อึ้ง ผู้ต้องหาคดีฆาตกรรม เมื่อ 60 ปีที่แล้ว  ที่วัดบางแพรกใต้ 23 กรกฎาคมนี้ ปิดตำนาน “มนุษย์กินคน”

พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันท์ อธิบดี กรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ กรมราชทัณฑ์จะทำพิธี ฌาปนกิจศพ น.ช.ซีอุย หรือ หลีอุย แซ่อึ้ง ผู้ต้องหาคดีฆาตกรรม เมื่อ 60 ปีที่แล้ว โดยจะจัดพิธีในเวลา 10.00 น. ที่วัดบางแพรกใต้ จังหวัดนนทบุรี หลังจากที่ศพของนายซีอุย ถูกดอง และจัดแสดงไว้ที่ พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ อาคารอดุลยเดชวิกรม โรงพยาบาลศิริราช มาเป็นเวลานาน

ซีอุย

อย่างไรก็ดี  หลังจากมีชาวบ้าน อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้เข้าร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนว่า การจัดแสดงนิทรรศการศพซีอุย ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้เสียชีวิต เนื่องจากผู้ต้องหาได้เสียชีวิตไปนานแล้ว ไม่ควรจะลิดรอนสิทธิ จึงได้ประสานไปยังโรงพยาบาลศิริราช เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาดังกล่าว

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวว่า ทางกรมราชทัณฑ์เห็นว่า นายซีอุย เป็นบุคคลไร้ญาติและอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ สามารถดำเนินการได้ จึงกำหนดให้มีการเผาศพนายซีอุย โดยจะเชิญผู้เกี่ยวข้อง ทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ชาวบ้าน อำเภอทับสะแก เจ้าหน้าที่ และสื่อมวลชนเข้าร่วมในงานฌาปนกิจ ดังกล่าวด้วย

109833059 605955703389079 7766623146520861380 n e1595233597474

จุดเริ่มต้นปิดตำนาน “ซีอุย” 

ทั้งนี้  เรื่องราวของซีอุย หรือ “มนุษย์กินคน” กลับมาเป็นที่สนใจของสังคมไทยอีกครั้ง เมื่อปีที่แล้ว จากแคมเปญรณรงค์ “นำร่างซีอุย แซ่อึ้ง ออกจากพิพิธภัณฑ์ศิริราช คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ล้างฉายามนุษย์กินคน” บนเว็บไซต์ Change.org

นายฟาโรห์ จักรภัทรานน ผู้ตั้งแคมเปญรณรงค์ดังกล่าว ระบุถึงวัตถุประสงค์ว่า เพื่อให้สังคมไทย ได้เรียนรู้จากความผิดพลาดว่า ในอดีตเคยมีชายคนหนึ่ง ตกเป็นจำเลยสังคม เพราะการเผยแพร่ข่าวลือ ที่ไม่มีพยานหลักฐานของสื่อสำนักพิมพ์ และเพื่อเป็นอีกหนึ่งย่างก้าว ในการตระหนักถึงสิทธิและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทั้งตนเอง และผู้อื่นของคนไทย

ก่อนจะมาเป็น “มนุษย์กินคน”

ตามบันทึกคำให้การของตำรวจ ระบุว่า ซีอุยเกิดประมาณปี 2464 ตำบลฮุนไหล เมืองซัวเถา ประเทศจีน เมื่อโตเป็นวัยรุ่น ได้ถูกเกณฑ์ไปประจำหน่วยทหาร ต่อสู้ในสงครามจีน-ญี่ปุ่น เมื่อสงครามสิ้นสุด จึงถูกเกณฑ์ไปรบกับฝ่ายเหมาเจ๋อตุง จากนั้น หนีทหารเข้ามาในไทย เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2489

เมื่อซีอุยมาถึงไทย ถูกกักตัวอยู่ที่กองตรวจคนเข้าเมือง 10 วัน ก่อนที่นายทินกี่ แซ่อึ้ง จะมารับรองออกไปได้ จากนั้นก็พักอยู่จังหวัดพระนคร ที่โรงแรมเทียนจิน ตรอกเทียนกัวเทียน ประมาณ 5-6 วัน ก่อนจะเดินทางไปทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตรงกับคำให้การเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2501 ที่ยืนยันว่า “มาอยู่เมืองไทยครั้งแรกที่ตำบลทับสะแก ประจวบคีรีขันธ์”

หลังจากนั้น ซีอุยก็เดินทางไปมาทำงานรับจ้างอยู่หลายที่ ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ขึ้นอยู่กับงานที่ทำ โดยในช่วง 8 ปีแรก ในไทย ซีอุยไม่ได้ก่อคดีร้ายแรงใด ๆ นอกจากคดีทะเลาะวิวาทบ้างเป็นบางครั้ง

แต่เงื่อนงำที่สำคัญก็คือ เส้นทาง และแหล่งพักพิงของซีอุย ตรงสถานที่เกิดเหตุของคดีทั้ง 7 อย่างเหลือเชื่อ คือ ประจวบคีรีขันธ์ 5 คดี กรุงเทพฯ นครปฐม และระยอง แห่งละ 1 คดี

หลังจากที่ซีอุยถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2501 คดีสะเทือนขวัญของซีอุยได้ถูกบอกเล่าเป็นตำนานของฆาตกรอันโหดเหี้ยม ทุกครั้งที่เด็กมีความประพฤติไม่ดี ผู้ใหญ่มักจะขู่ด้วยคำพูดที่ว่า “เดี๋ยวให้ซีอุยมากินตับ” ทำให้ภาพของการเป็นฆาตกรโรคจิต หรือปิศาจ ถูกผลิตซ้ำจากผู้ใหญ่ สู่เด็กในยุคนั้น

ซีอุย

เป็นหนึ่งในอาจารย์ใหญ่

ศ.นพ.สงกรานต์ นิยมเสน หัวหน้าภาควิชานิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราข ได้ขอรับศพซีอุยจากทางราชการมาผ่าตรวจสมอง ส่วนร่างถูกเก็บรักษาในลักษณะดองแห้งโดยการฉีดฟอร์มาลีนเข้าหลอดเลือด แช่น้ำยารักษาทั้งร่างไว้ 1 ปี และทำการทาขี้ผึ้งทุก ๆ 2 ปี เพื่อป้องกันเชื้อรา

ร่างของซีอุย ถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ โดยเขียนข้อความว่า “นายซีอุย แซ่อึ้ง (มนุษย์กินคน)” แต่หลังจากมีเสียงทักท้วง ศิริราชได้เอาคำว่า “มนุษย์กินคน” ออกและให้ข้อมูลเพียงว่า “ผู้ถูกประหารชีวิตจากคดีฆ่าผู้อื่น”

ศ.พิเศษ นพ. สรรใจ แสงวิเชียร อดีตหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐออนไลน์ไว้เมื่อปี 2552 ว่า ซีอุย เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในยุคหนึ่ง ถ้าไม่มีชื่อเสียง ก็ไม่ได้อยู่ในพิพิธภัณฑ์

“อวัยวะข้างในไม่ได้ทำอะไรเลย แค่ฉีดยาเท่านั้น ร่างที่โชว์ก็ไม่ได้ มีความผิดปกติอะไรหรอก ที่จะบอกว่าคนอย่างนั้นอย่างนี้เป็นฆาตกร หน้าตาซีอุย…ก็เป็นตาแป๊ะแก่ ๆ ”

นพ.สรรใจกล่าวไว้ชัดเจนว่า ร่างของซีอุย ได้รับการปฏิบัติเป็นอาจารย์ใหญ่ท่านหนึ่ง และมีการทำบุญให้อยู่ตลอด

“ถ้าอาจารย์หมอสงกรานต์ไม่ขอมาไว้ที่นี่ ก็จะไม่มีใครทำบุญให้เขาเลย มาอยู่ที่นี่มีการทำบุญให้อาจารย์ใหญ่ทุกปี อวัยวะ ร่าง โครงกระดูกทุกชิ้นถือเป็นอาจารย์ใหญ่ ซีอุย ก็เป็นหนึ่งในอาจารย์ใหญ่”

ข้อมูล : วิกิพีเดีย, บีบีซี

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo