World News

จับตา สหรัฐ ยุติสถานะพิเศษ ฮ่องกง ผลกระทบการเงิน การค้า การเดินทาง

สหรัฐ ยุติสถานะพิเศษ ฮ่องกง กับผลกระทบรอบด้าน คาดบั่นทอนสถานะ ฮ่องกงในบทบาทการเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศ และศูนย์กลางทางการเงินเอเชีย

นับเป็นเวลายาวนานเกือบ 2 เดือนแล้วที่ความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในประเด็นด้านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งทางการจีนบังคับใช้ในฮ่องกง จนล่าสุด ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้อนุมัติคำสั่งบริหารยุติการให้สถานะพิเศษต่อฮ่องกง ที่ปรับใช้มาอย่างยาวนานกว่า 28 ปี จนเป็นประเด็นที่ต้อง จับตา สหรัฐ ยุติสถานะพิเศษ ฮ่องกง ครั้งนี้

สหรัฐ ยุติสถานะพิเศษ ฮ่องกง

การให้ สถานะพิเศษ ต่อฮ่องกง ภายใต้กฎหมายว่าด้วยนโยบายสหรัฐฯ – ฮ่องกงปี 2535 (United States- Hong Kong Policy Act) โดยใจความสำคัญของกฎหมาย United States -Hong Kong Policy Act คือ การรองรับให้ความสัมพันธ์ด้านต่างๆ ระหว่างสหรัฐฯ และฮ่องกงยังคงดำรงอยู่ ภายหลังจากที่สหราชอาณาจักร ส่งคืนฮ่องกงให้แก่จีนในปี 2540 ซึ่งแตกต่างจากนโยบายที่สหรัฐฯ มีต่อจีน

ดังนั้น การยุติการให้ สถานะพิเศษ นี้แก่ฮ่องกง จึงเปรียบเสมือนการปฏิบัติต่อฮ่องกง ในวิถีเดียวกันหรือใกล้เคียง กับที่ปฏิบัติต่อจีน ทั้งนี้ การยุติการให้สถานะพิเศษต่อฮ่องกง อาจจะออกมาในรูปแบบของนโยบายที่มีต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเด็นด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ และฮ่องกง (Trade) นโยบายการเข้าเมือง (Immigration) รวมถึงมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ (Sanctions)

สำหรับนโยบายด้านการค้า ระหว่างสหรัฐฯ และฮ่องกง (Trade) นั้น คาดว่าจะเปลี่ยนแปลงไป ในวิถีเดียวกับที่นโยบายการค้าที่สหรัฐฯ มีต่อจีน ซึ่งหมายความว่า สินค้าส่งออกของฮ่องกงไปสหรัฐฯ จะต้องถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติมภายใต้มาตรา 301 ของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน รวมถึงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping: AD) และมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty: CVD) ที่สหรัฐฯ มีต่อจีน

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลกระทบต่อสินค้าที่ส่งออกจากฮ่องกงไปยังสหรัฐฯ จะมีน้อยมาก เนื่องจาก

สินค้าส่งออกจากฮ่องกง ที่จะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มเติมนั้น จะเป็นสินค้าที่ผลิตในฮ่องกง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อย ของการส่งออกของฮ่องกงไปยังสหรัฐฯ ทั้งนี้ สัดส่วนของสินค้าที่ผลิตในฮ่องกง ต่อสินค้าส่งออกรวมไปสหรัฐฯ คิดเป็นเพียงราวร้อยละ 1 หรือมีมูลค่าเพียงราว 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2562

สินค้าส่งออกที่ถูกส่งกลับออกไปนอกประเทศ (Re-export) ของฮ่องกง จะไม่ได้รับผลกระทบ โดยในปัจจุบัน สินค้า Re-export ของฮ่องกงที่มีต้นทางมาจากจีน ก็ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ภายใต้มาตรา 301 ของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน หรือ แม้แต่ภายใต้มาตรการ AD และ CVD อยู่แล้ว

ขณะที่สินค้า Re-export จากประเทศอื่นก็ถูกเรียกเก็บภาษีตามข้อตกลงทางการค้าที่สหรัฐฯ มีต่อประเทศนั้นๆ

สำหรับนโยบายด้านการเข้าเมือง (Immigration) นั้น สหรัฐฯ อาจปฏิบัติต่อพลเมืองฮ่องกง ที่ถือหนังสือเดินทางเขตปกครองพิเศษฮ่องกง เทียบเท่ากับพลเมืองสัญชาติจีน อาทิ การที่ทางการสหรัฐฯ มีแผนจะยกเลิกวีซ่าของนักวิจัย หรือนักศึกษาสัญชาติจีน ที่เคยศึกษา หรือมีความเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยของจีน ที่มีความสัมพันธ์กับกองทัพจีน

ในกรณีนี้ พลเมืองฮ่องกง ที่ถือหนังสือเดินทางเขตปกครองพิเศษฮ่องกงที่เข้าข่าย ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย

ส่วนนโยบายสุดท้าย ซึ่งได้แก่ มาตรการคว่ำบาตร ต่างๆ (Sanction) ต่อบุคคลหรือธุรกิจของฮ่องกง หรือจีน ที่มีส่วนร่วมในทางการเมืองของฮ่องกง โดยล่าสุดได้แก่ กฎหมายที่กำหนดบทลงโทษ ต่อสถาบันการเงิน ที่ทำธุรกรรมกับเจ้าหน้าที่จีน ซึ่งบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงในฮ่องกง โดบบทลงโทษอาจครอบคลุมถึง การห้ามผู้บริหารระดับสูง ของสถาบันการเงินนั้นๆ เดินทางเข้าสหรัฐฯ หรือการจำกัดธุรกรรมทางการเงินในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

ในระยะสั้น การที่สหรัฐฯ ยุติการให้ สถานะพิเศษ ต่อฮ่องกง ส่งผลต่อการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับฮ่องกงในระดับที่จำกัด ขณะที่ มาตรการคว่ำบาตร ต่างๆ ที่ออกมาอาจเป็นการตอบโต้ทางการจีนเชิงสัญลักษณ์

อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้า ยังคงต้องจับตาพัฒนาการของความขัดแย้ง ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในประเด็นเรื่องฮ่องกง อย่างใกล้ชิด เพราะอาจส่งผลต่อความเข้มข้น ของมาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ รวมถึง มาตรการคว่ำบาตร อื่นๆ ที่จะออกมาหลังจากนี้ ซึ่งอาจบั่นทอนสถานะของฮ่องกง ในบทบาทการเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศ และศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญของเอเชีย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo