COVID-19

สธ. สั่งทุกหน่วยงานในสังกัด ทำงานเชิงรุก เร่งสื่อสาร ลดความตื่นตระหนก

สั่งทุกหน่วยงานในสังกัด ทำงานเชิงรุก เร่งสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ ลดความตื่นตระหนก อธิบดีทุกกรมย้ำ พร้อมทั้งป้องกันควบคุมโรคและการรักษา

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด กระทรวงสาธารณสุข เปิดแถลงข่าวพร้อมอธิบดีทุกกรม โดย สั่งทุกหน่วยงานในสังกัด ทำงานเชิงรุกเน้นการสื่อสาร ลดความตระหนก ที่สำคัญคือประชาชนได้ร่วมกันปรับพฤติกรรม ทั้งการใส่หน้ากากอนามัย ใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ หลีกเลี่ยงการเข้าที่ชุมชน

สั่งทุกหน่วยงานในสังกัด

ทั้งนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยกรณีที่เกิดเหตุในจังหวัดระยองและกทม. จึงสั่งการให้ทุกหน่วยงานทำงานเชิงรุกดังกล่าว

สำหรับผลการตรวจเชิงรุกประชาชนทั้ง 2 แห่ง กว่า 1,600 คน ไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด 19 และเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนให้รถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัยพระราชทานให้บริการต่อเนื่องจนครบ 14 วัน และมีความพร้อม ด้วยการร่วมมือกับโรงพยาบาลทุกสังกัด โรงเรียนแพทย์ และหน่วยงานอื่น ๆ

“เรามีระบบการเฝ้าระวังคัดกรอง ระบบการรักษา ห้องปฏิบัติการตรวจหาเชื้อที่มีความรวดเร็ว มีการบริหารจัดการอุปกรณ์ ยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกันตนเอง ทำให้ระบบการแพทย์และการสาธารณสุขไทยได้รับการยอมรับระดับต้นของโลก ส่วนการพัฒนาวัคซีนของไทยมีความก้าวหน้ามากแล้ว”นายแพทย์สุขุม กล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเครื่องมือแพทย์ เครื่องช่วยหายใจ และรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัยพระราชทาน 13 คัน เพื่อประจำทุกเขตสุขภาพ จะช่วยเสริมการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก และความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ในระหว่างปฏิบัติงาน

หากพบการติดเชื้อ จะปิดเฉพาะจุด

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการผ่อนคลายมาตรการเพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ฟื้นเศรษฐกิจประเทศ อาจจะพบผู้ติดเชื้อ แต่เรามีการตรวจจับได้เร็ว ควบคุมให้อยู่ในวงจำกัด และป้องกันไม่ให้เกิดอีก

ทั้งนี้ เห็นได้จากจังหวัดระยอง ที่พบผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ เนื่องจากมีระบบที่ดี และใช้รถตรวจโรคชีวนิรภัยพระราชทานลงไปค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก ผลการตรวจวันแรก 1,336 คน เป็นลบทั้งหมด และรอผลผู้ที่มาตรวจในวันที่ 15 กรกฎาคมอีก 1,252 คน

หากพบการติดเชื้อจะจัดการเฉพาะจุด ปิดกิจการหรือกิจกรรมในจุดที่เป็นการแพร่ระบาด จะไม่ปิดพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งคนทั้งจังหวัดระยองไม่ได้มีความเสี่ยงทั้งหมด สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่การ์ดต้องสูง ในการตรวจจับโรคมีทีมสอบสวนโรคทั่วประเทศมากกว่า 2,000 ทีม ครอบคลุมทุกจุดของประเทศ บุคลากรมีความเชี่ยวชาญ นักระบาดวิทยาที่ได้รับการยอมรับ พร้อมรับมือหากพบการระบาดขึ้น

สธ.2

อธิบดีทุกกรม ขานรับนโยบาย

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เหตุการณ์ที่ จ.ระยองทำให้เกิดภาวะตระหนก เรื่องของอารมณ์ที่เกิดขึ้นอาจเกิดความเครียดขึ้นมา เบื่อหน่าย ท้อแท้ หรือโกรธกับสิ่งที่เกิดขึ้น ขอให้ต่อสู้ด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง ต้องตระหนักแต่ไม่ตระหนก หากมีสติจะสามารถดูแลตนเองและป้องกันได้

“ขอให้ใช้ชีวิตเป็นปกติ ใส่หน้ากาก รักษาระยะห่าง และล้างมือบ่อยๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดจะสามารถป้องกันโรคได้ และอยากให้ทบทวนว่าประเทศไทยมีทีมป้องกันควบคุมโรคเป็นอันดับต้นๆ ของโลก มีความพร้อมในการป้องกัน ควบคุมโรค หากป่วยก็มีระบบการรักษาที่ดีมาก”นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าว

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า บทบาทของ อสม. ทุกวันนี้ ยังทำงานอย่างเข้มแข็ง ดูแลสุขภาพประชาชนถึง 80-90% ทั้งการใส่หน้ากาก รักษาระยะห่าง ประธานชมรมอสม.จ.ระยอง ยืนยันว่า อสม.ยังคงเฝ้าระวังคัดกรอง และลงเยี่ยมบ้านให้กำลังใจ

ขณะเดียวกัน จะจะประชุมทางไกลกับประธาน อสม.ทั่วประเทศในวันที่ 22 กรกฎาคม ช่วยส่งกำลังใจและเชิญชวนไปเที่ยวระยอง เพื่อฟื้นเศรษฐกิจ และสร้างความมั่นใจในความปลอดภัย รวมทั้งได้สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ หน้ากากอนามัย และแอลกอฮอล์เจล เพื่อให้อสม.พร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่

เตียงพร้อม บุคลากร เครื่องมือพร้อม

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ มีความพร้อมด้านการรักษา มีเตียง 20,000 เตียงทั่วประเทศ สามารถรองรับได้ 1,000 คนต่อวัน ไม่รวม hospitel ซึ่งได้ปิดแล้วทั่วประเทศ เนื่องจากสถานการณ์ดีขึ้น ผู้ป่วยจาก State Quarantine เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ในส่วนของ กทม. มีห้องแยก ห้องความดันลบ ไอซียู ประมาณ 2,400 เตียง

นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ประเทศไทยมีความมั่นคง ทั้งด้านยา อุปกรณ์ป้องกัน โดยมียา “ฟาวิพิราเวีย” 6 แสนกว่าเม็ด ใช้กับคนไข้ได้ 10,000 คน และยา “เรมเดซิเวียร์” ใช้ในรายที่มีความรุนแรงของโรค จะมีการผลิตที่อินเดียมาขึ้นทะเบียนกับอย. แล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคมนี้

สธ.3

พร้อมกันนี้ ได้จัดสรรหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ให้หน่วยบริการและโรงพยาบาลสังกัด กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงเอกชนและมหาวิทยาลัย 1.7 ล้านชิ้นต่อวันจากที่ผลิตได้ 3 ล้านกว่าชิ้นต่อวัน หน้ากาก N95 มีประมาณ 1.7 ล้านชิ้น นำไปใช้กับผู้ป่วยได้เกือบหมื่นราย มีชุด PPE ประมาณ 1 ล้านชุด ซึ่งผลิตได้เองในประเทศ และนำกลับมาใช้ใหม่ได้ประมาณ 20 ครั้ง

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า วันนี้ ไทยมีความพร้อมทางห้องปฏิบัติการ การแพทย์สาธารณสุข และนักวิจัยวิทยาศาสตร์ ไทยเป็นประเทศแรกในโลกต่อจากจีนที่เราสามารถถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อทั้งตัว และรายงานต่อนานาชาติหลังประเทศจีน 1-2 วัน แสดงถึงศักยภาพ

ขณะนี้มีห้องปฏิบัติการทั่วประเทศรองรับบริการ 206 แห่งทั้งภาครัฐและเอกชน ใช้วิธีการตรวจด้วยวิธี RT PCR ตรวจไปแล้ว 652,089 ตัวอย่าง ซึ่งวิธีการตรวจนี้เป็นมาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับและใช้ในปัจจุบัน ซึ่งได้รับการยอมรับและการประกาศในเว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลกเป็นประเทศต้นๆ คู่กับอเมริกา ยุโรป จีน ญี่ปุ่น

เตรียมผลิตวัคซีนวิจัยในคนตุลาคมนี้

นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีน้ำยาตรวจสำรองไว้ 601,010 กว่าตัวอย่าง ซึ่งไทยผลิตได้เองไม่ต้องพึ่งพาจากต่างประเทศ มีระบบการรายงานออนไลน์ รู้ผลไม่เกิน 24 ชั่วโมง รวมทั้งพัฒนาวิธีตรวจด้วยน้ำลาย เช่นการตรวจน้ำลายแบบกลุ่ม ทำให้สามารถตรวจ 100,000 ตัวอย่าง ได้ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์

ในเรื่องความคืบหน้าวัคซีน องค์การอนามัยโลกประกาศวัคซีนที่อยู่ในกระบวนการผลิตอยู่ 140 ชนิดมีของประเทศไทย 4 ชนิด ทดสอบในสัตว์ทดลองภูมิคุ้มกันขึ้นอย่างสูงและดีมาก มีแผนที่จะผลิตและวิจัยในคนประมาณเดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป และมีความร่วมมือกับประเทศที่มีการพัฒนาก่อนหน้า หากสำเร็จจะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาผลิตวัคซีนให้กับคนไทย

นายแพทย์มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึงความคืบหน้าการวิจัยฟ้าทะลายโจร ว่า ได้นำผลการวิจัยสารสกัดฟ้าทะลายโจรจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มาวิจัยในมนุษย์ ขณะนี้ ผลอย่างไม่เป็นทางการในผู้ป่วย 6 คนแรก พบว่า อาการและอาการแสดงดีขึ้นกว่าเดิมอย่างมีนัยยะสำคัญ เพียงพอที่จะหยุดวิจัยโดยใช้สารสกัด 5 เท่า

นายแพทย์บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัย ได้ร่วมกับเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน 100 กว่าหน่วยงานจัดทำคู่มือคำแนะนำ มาตรการเพื่อเปิดบริการได้ด้วยความมั่นใจ สำหรับโรงเรียนมีทีมผู้พิทักษ์อนามัย ซึ่งเป็นจิตอาสา ลงในพื้นที่ดูแลการจัดระบบในโรงเรียน และมีศูนย์อนามัยทุกเขตสุขภาพทำงานร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สนับสนุนผู้ประกอบการในการจัดระบบความปลอดภัย

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือจะทำอย่างไรให้ประชาชนตระหนักรู้ ไม่ใช่ตื่นตระหนก จึงขอความร่วมมือให้ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขไปถึงประชาชน ด้วยการย้ำเตือนผ่านทุกช่องทางอย่างถูกต้อง

“การถอดบทเรียนครั้งนี้คือ คนตื่นกลัวไม่ได้มาจากสาเหตุของการติดเชื้อ และขอเชิญชวนบุคคล/คณะบุคคล ช่วยกันอย่ายกเลิกการไประยอง หรือเพิ่มการไประยอง เพื่อทำให้เกิดความเชื่อมั่น หากท่านเป็นคนที่มีคนชื่นชอบ เป็นที่นิยมของประชาชน ขอให้ท่านช่วยเป็นโมเดลในการท่องเที่ยวที่จังหวัดระยอง”นายแพทย์ศุภกิจกล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo