Business

การบินไทยแจงจ้าง ‘บริษัทที่ปรึกษา’ โปร่งใส ผ่านความเห็นชอบตามระเบียบ

“ชาญศิลป์” แจงจ้าง “บริษัทที่ปรึกษาการบินไทย” ด้วยความโปร่งใส ผ่านขั้นตอนและความเห็นชอบจากบอร์ดตามระเบียบ ขอให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่น

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้บริษัทต้องหยุดทำการบินชั่วคราว ส่งผลกระทบให้บริษัทขาดสภาพคล่อง และบริษัทต้องยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563

บริษัทตระหนักดีว่า หากบริษัทไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ จะส่งผลให้บริษัทไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อบริษัท เจ้าหนี้ พนักงานของบริษัท ผู้ลงทุน ประชาชน และกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นรายได้หลักที่สำคัญของประเทศ และอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องเป็นวงกว้าง

บริษัทที่ปรึกษาการบินไทย

ชี้แจง “บริษัทที่ปรึกษาการบินไทย”

อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของบริษัท ต้องได้รับการยอมรับและความเชื่อถือจากทุกภาคส่วน ทั้งลูกค้า คู่ค้า เจ้าหนี้ พันธมิตรทางธุรกิจต่างๆ รวมถึงผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร บริษัทจึงมีความจำเป็นต้องว่าจ้าง บริษัทที่ปรึกษาการบินไทย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านต่างๆ ในระดับโลก เพื่อมาช่วยดำเนินการให้บริษัทเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการและจัดทำแผนฟื้นฟูฯ ให้แล้วเสร็จได้อย่างราบรื่น

ซึ่งคณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทย เห็นชอบให้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา โดยให้ดำเนินการตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้างฯ อย่างถูกต้องและโปร่งใสในการว่าจ้าง บริษัทที่ปรึกษาการบินไทย ในอัตราที่เหมาะสม และเป็นไปตามขอบเขตของงาน (Term of Reference) ในการว่าจ้างทุกราย ได้แก่

  • บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายและสัญญา
  • บริษัท ฟินันซ่า จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาด้านโครงสร้างทางการเงิน
  • บริษัท แมคคินซี่ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจการบิน (Airline Expert) เป็นที่ปรึกษาด้านการวางแผนธุรกิจในอนาคต (Airline Business) ที่อยู่ภายใต้แผนฟื้นฟู
  • บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นผู้ทำแผนร่วม โดยบริษัท อีวายฯ เป็นบริษัทที่มีใบอนุญาต (License) เป็นผู้ทำแผนตามข้อกำหนดของกรมบังคับคดี และเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ในการเป็นผู้ทำแผนมาเป็นระยะเวลายาวนานในประเทศไทย

นายชาญศิลป์ กล่าวต่อว่า บริษัทขอความกรุณาให้ลูกค้า คู่ค้า เจ้าหนี้ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัททุกภาคส่วน มีความมั่นใจว่าบริษัทมีความจริงใจและตั้งใจที่ดำเนินการด้านต่างๆ ด้วยความโปร่งใส

และบริษัทขอความกรุณาให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รวมทั้งสื่อมวลชนได้ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของบริษัทให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เพื่อนำพาการบินไทยกลับมาเป็นสายการบินแห่งชาติของคนไทยที่สร้างรายได้และความภาคภูมิใจให้ประเทศไทยต่อไป

บริษัทที่ปรึกษาการบินไทย

กรอบฟื้นฟู “การบินไทย”

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI จัดการประชุมออนไลน์  (e-Meeting) เพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้ถือหุ้น นักลงทุน บุคคลที่เกี่ยวข้อง และชี้แจงแนวทาง ขั้นตอนการแก้ไข ประเด็นพิจารณาและการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการการบินไทย ตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

นางอรอนงค์ ชุณหะมาน ผู้อำนวยการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์และบริหารกลาง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ชี้แจงกรอบเวลาและขั้นตอนการฟื้นฟูกิจการของบริษัทว่า เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 บริษัทได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย และต่อมาวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องดังกล่าว ส่งผลให้การบินไทยอยู่ภายใต้ สภาวะบังคับชั่วคราว (Automatic Stay) พักการชำระหนี้ แต่ยังสามารถทำธุรกิจต่อไปได้

ในวันที่ 13 สิงหาคม 2563 จะเป็นวันสุดท้ายที่เจ้าหนี้สามารถยื่นคำคัดค้าน, วันที่ 17 สิงหาคม 2563 เป็นวันที่ศาลฯ นัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน 2563 ศาลฯ จะมีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการ

ฟื้นฟูกิจการ การบินไทย

ถ้าศาลฯ มีคำสั่งแต่งตั้งผู้ทำแผนตามที่การบินไทยเสนอ ได้แก่ บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด บริษัทที่ปรึกษาการบินไทย ร่วมกับ พลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน, นายจักรกฤศฏิร์ พาราพันธกุล, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, นายบุญทักษ์ หวังเจริญ, นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ผู้ทำแผนจะต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการภายใน 3 เดือน แล้วส่งแผนให้พนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประมาณเดือนมกราคม 2564

อย่างไรก็ตาม ถ้าเจ้าหนี้เสนอผู้ทำแผนแข่ง ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อเลือกผู้ทำแผน และประมาณมกราคม 2564 ศาลฯ จะมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ทำแผน โดยต้องทำแผนฟื้นฟูกิจการภายใน 3 เดือน และส่งแผนให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประมาณเดือนเมษายน 2564

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo