COVID-19

‘ศักดิ์สยาม’ เผยต้องหาต่างชาติร่วมทดลองวัคซีนโควิด-19 เหตุผู้ป่วยไทยไม่พอ

“ศักดิ์ศยาม” เผยไทยพัฒนา “วัคซีนโควิด-19” คืบหน้า โดยเฟส 2 เตรียมลงนามความร่วมมือหาอาสาสมัครต่างชาติ เหตุในไทยมีผู้ป่วยไม่พอ เพราะอาจต้องใช้ถึง 5,000 คน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ของประเทศไทยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชื่นชมกระทรวงสาธาราณะสุขในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า สามารถแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 และพัฒนา วัคซีนโควิด-19 ได้ดี

โดยปัจจุบันการพัฒนาวัคซีนมีความก้าวหน้าไปมาก ขณะที่ได้ฉีดทดลองในลิงแล้วและเตรียมจะเริ่มทดลองในคนต่อไป

ศักดิ์สยาม วัคซีนโควิด-19

ทั้งนี้ การพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 เฟส 2 ของไทยนั้น อาจจะต้องใช้อาสาสมัครราว 5 พันคน ในการฉีดทดลอง วัคซีนโควิด-19 จึงจะเพียงพอในการใช้เป็นฐานข้อมูลที่ในการสรุปผลการทดสอบได้  และจะต้องคัดเลือกเฉพาะอาสาสมัครที่ติดเชื้อโควิดมาทดลองเท่านั้น

ประเด็นนี้เป็นปัญหาของไทย เพราะว่าปัจจุบันมีจำนวนคนที่ติดเชื้อน้อย หาคนติดเชื้อมาร่วมทดลองได้ยาก ทำให้นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุข จะต้องไปดำเนินการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับประเทศอื่นๆ ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 เพื่อขออาสาสมัครเข้าร่วมทดลองวัคซีนของไทย

คาดว่าจะไม่มีปัญหา  เพราะหากไทยสามารถพัฒนาวัคซีนได้ ก็จะถือว่าเป็นประโยชน์กับทุกประเทศ และหากสามารถดำเนินการได้ตามแผน เชื่อว่าปีหน้าไทยจะมีข่าวดีแน่นอน

 

ความคืบหน้า วัคซีนโควิด-19 ของไทย

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดแถลงข่าวความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่า วัคซีน CU-Cov19 เป็นวัคซีนชนิด mRNA ที่ผลิตจากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่บางส่วน

เมื่อชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมนี้ ถูกฉีดเข้าไปในร่างกาย จะถูกเปลี่ยนเป็นโปรตีน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกัน ชนิดแอนติบอดี ที่ช่วยต่อสู้กับไวรัสได้ โดยจะได้รับการตรวจสอบว่ามีความปลอดภัยจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

จากผลการทดลองกับหนูที่ได้รับวัคซีนเข็มแรก พบว่า ระดับภูมิคุ้มกันขึ้นมาในระดับร้อย และฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1 เดือน ระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นถึง 40,000

จากนั้นได้ทำการทดลองควบคู่กับลิง 13 ตัว โดยฉีดในลิงเข็มแรกวันที่ 23 พฤษภาคม 2563 ฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1 เดือน ในวันที่ 22 มิถุนายน 2563 ล่าสุดพบว่า ผลการตรวจเลือดลิงหลังจากได้รับการฉีดวัคซีน CU-Cov19 กระตุ้นเข็มที่ 2 พบว่าลิงที่ได้รับวัคซีนทุกตัวมีระดับภูมิคุ้มกันที่เพิ่มขึ้น สุขภาพแข็งแรง และไม่มีผลข้างเคียงจากการได้รับวัคซีน

เดินทาง New Normal ๒๐๐๖๑๓ 0005

สำหรับขั้นตอนต่อไปคือ การเตรียมผลิต วัคซีนโควิด-19 โดจะนำวัคซีน mRNA 2 ตัวที่ดีที่สุด ไปให้โรงงานต่างประเทศ 2 แห่งทำการผลิตวัคซีน นอกจากนี้ยังได้เตรียมโรงงานไทยคือ บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จํากัด ในการผลิตวัคซีน mRNA และตัวเคลือบวัคซีนด้วย จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต

ส่วนของการวิจัยในคน ในแผนระยะแรกเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2563 จะทดลองในคน 100+ คน และเพื่อความปลอดภัยจะต้องเริ่มที่โดสต่ำๆ จึงกำหนดเป็นกลุ่มอายุ 18-60 ปี

ในระยะที่ 2 ช่วงธันวาคม 2563 -มีนาคม 2564 ทดลองในคน 500-1,000 คน

ในส่วนของระยะที่ 3 อย. ไทย อาจเห็นควรให้ ไม่ต้องดำเนินการ เข้าสู่ระยะ Emergency Use Authorization (EUA) แต่ยังต้องทำการเก็บข้อมูลเหมือนระยะที่ 3 แต่ทั้งนี้หากเป็นไปได้ก็จะช่วยลดทรัพยากรและระยะเวลาด้วย

โรงเรียน ๒๐๐๗๑๑

เร่งมือพัฒนา แข่งกับเวลา

อย่างไรก็ตาม ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นว่า การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 นั้นเป็นเรื่องเร่งด่วน จึงมีการลัดขั้นตอนเพื่อทำงานแข่งกับเวลาการแพร่ระบาดของโรค

แต่ในภาวะปกติ การพัฒนายาใหม่หรือวัคซีนจะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากและใช้เวลามาก ตั้งแต่ 5-10 ปี โดยนักวิจัยอาจค้นพบวัคซีนหรือสารหรือยาบางชนิดที่มีประสิทธิภาพ แต่สุดท้ายเรื่องก็เงียบหาย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo