COVID-19

นักเศรษฐศาสตร์โนเบล ชี้ ‘โควิด-19’ ทำราคาอสังหาในเมืองทรุด

ศาสตราจารย์ โรเบิร์ต ชิลเลอร์ จากมหาวิทยาลัยเยล ผู้ที่เคยได้รับรางวัลโนเบลด้านเศรษฐศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์กับทางสถานีโทรทัศน์ ซีเอ็นบีซี แสดงทัศนะถึงผลกระทบของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจของสหรัฐ ทั้งประเด็นราคาอสังหาริมทรัพย์ในเมืองมีแนวโน้มลดลง และวิกฤติเชิงจิตวิทยาหากเกิดการระบาดซ้ำระลอกสอง

ศาสตราจารย์ ชิลเลอร์ คาดการณ์ว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่เขตเมือง อาจมีแนวโน้มลดลง ถ้าแรงงานส่วนใหญ่สามารถทำงานได้จากที่บ้าน โดยไม่ต้องเดินทางเข้าเมืองอีกต่อไป

ทำราคาทรุด 011

เขายังเห็นว่า หากการไปรับประทานอาหารนอกบ้าน เข้าโรงหนัง หรือเดินพิพิธภัณฑ์ เป็นข้อจำกัดในแนวคิดเรื่องรักษาระยะห่างทางสังคม สิ่งนี้อาจจะผลักดันให้คนเมืองเลือกไปใช้ชีวิตในพื้นที่ ที่ไม่แออัดมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี เขาบอกว่า อาจจะเร็วไปที่จะกล่าวว่าเป็นการหมดยุคของสังคมเมือง พร้อมอ้างอิงเหตุการณ์เมื่อปลายศตวรรษที่ 19  ซึ่งในตอนนั้นนวัตกรรมอย่างโทรศัพท์เริ่มเป็นที่แพร่หลาย หลายคนเคยคิดว่า สังคมเมืองจะหายไป เพราะคนสามารถสื่อสารกันได้แม้อยู่ทางไกล แต่สุดท้ายก็พบว่าความคิดนี้ไม่เป็นจริง เพราะมนุษย์ยังชอบที่จะอยู่รวมกลุ่มกัน

ศาสตราจารย์ ชิลเลอร์ ระบุด้วยว่า หากเกิดการระบาดระลอกที่สองของโควิด-19 สิ่งนี้จะส่งผลเชิงจิตวิทยา กับสังคม ในสหรัฐ ที่รุนแรงกว่าการระบาดในช่วงแรก

“สิ่งนี้จะหล่อหลอมวัฒนธรรมการใช้ชีวิตที่แตกต่างไปจากปีก่อนหน้า คนจะไม่สนใจในแฟชั่น ไม่ต้องการรถคันใหม่ เราจะเรียนรู้การอยู่แบบไม่ไขว่คว้า แต่มันจะส่งผลเชิงลบกับภาคเศรษฐกิจ”

ข้อมูลจาก ดัชนีราคาบ้านสหรัฐ เอสแอนด์พี คอร์โลจิค  แสดงให้เห็นว่า ราคาบ้านใน 19 เมืองใหญ่ทั่วสหรัฐ  ปรับตัวได้เป็นอย่างดี ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยราคาช่วงเดือนเมษายนปีนี้ ปรับตัวสูงขึ้น 4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

กระนั้นก็ตาม ศาสตราจารย์ ชิลเลอร์ เตือนว่า สถานการณ์ข้างต้น เป็นผลมาจากการที่ภาครัฐเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจไว้ ผ่านการอัดฉีดเงิน 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึง มาตรการต่างๆ ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่พยายามตรึงอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำ จนเกือบจะเป็นศูนย์ ซึ่งตัวเลขผู้ว่างงานที่เพิ่มขึ้นกำลังสร้างความไม่แน่นอนอย่างมาก ต่ออนาคตของเศรษฐกิจโดยรวม

ทั้งนี้  ศาสตราจารย์ชิลเลอร์ เป็นหนึ่งในนักวิชาการ ที่ออกมาแสดงวิสัยทัศน์ในเรื่องการทรุดตัวของราคาอสังหาริมทรัพย์ ยุคฟองสบู่ ช่วงปี 2550 และปี 2551 ได้อย่างแม่นยำ

เขาย้ำด้วยว่า โลกปัจจุบันนี้  มีหลายสิ่งที่กำลังปรับเปลี่ยนเป็นออนไลน์ และผู้คนกำลังทดลองใช้ชีวิต ในรูปแบบที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะด้านการทำงาน

ที่มา : VOA

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo