Business

ดัชนีครัวเรือนไทย ยังเปราะบาง หวังครึ่งปีหลัง ทะยอยฟื้นตัว

ดัชนีครัวเรือนไทย คาดการณ์ 3 เดือนปรับตัวดีขึ้น อยู่ที่ระดับ 37.4 ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 35.9 ผลจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล คาดครึ่งปีหลังทะยอยฟื้นตัว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจภาวะการครองชีพของครัวเรือนไทย หรือ ดัชนีครัวเรือนไทย ในเดือน มิถุนายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไม่พบผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศติดต่อกันนานนับเดือน และภาครัฐได้ผ่อนคลายการบังคับใช้บางมาตรการในการป้องกันโควิด-19 ในระยะต่างๆ โดยผลการสำรวจพบว่า

กลุ่มเปราะบาง ๒๐๐๗๑๕

ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) เดือน มิ.ย. 2563 อยู่ที่ระดับ 36.0 ทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน (36.1) อันเป็นผลจากภาครัฐคลายล็อกดาวน์ โดยออกมาตรการผ่อนปรนเพิ่มเติม สำหรับกิจกรรมและกิจการในกลุ่มสีเหลือง (ระยะที่ 3) และกลุ่มสีแดง (ระยะที่ 4) รวมถึงยกเลิกประกาศห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน (ยกเลิกเคอร์ฟิว)

ทั้งนี้ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ กลับมาเป็นปกติ ส่งผลต่อรายได้ และภาวะการจ้างงานของครัวเรือนไทย ทยอยปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. 2563 แต่ครัวเรือนไทยยังคงมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ในเดือนนี้ เนื่องจากระดับราคาสินค้าที่สูงขึ้น โดยเฉพาะราคาพลังงาน และค่าสาธารณูโภค อีกทั้งครัวเรือนบางส่วน มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรหลาน ก่อนเปิดภาคเรียนใหม่ในวันที่ 1 กรกฏาคม 2563

ในส่วนของดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยอีก 3 เดือนข้างหน้า (ก.ค.-ก.ย. 2563) อยู่ที่ระดับ 37.4 ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 35.9 ในการสำรวจครั้งก่อนหน้าเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ที่ดัชนีฯ ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า อยู่ในระดับสูงกว่าดัชนีฯ เดือนปัจจุบัน

ตัวเลขดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า ครัวเรือนมองว่าภาวะเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาสที่ 3/2563 จะทยอยปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี สภาวะการครองชีพของครัวเรือนไทย ยังอยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือ จากภาครัฐและสถาบันการเงิน ซึ่งมีผลต่อมุมมองการครองชีพของครัวเรือน จึงยังต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจ และการครองชีพ ของครัวเรือนไทย หลังมาตรการเหล่านี้สิ้นสุดลง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในช่วงครึ่งหลัง ของปี 2563 ยังคงมีความเปราะบางอยู่มาก แม้ภาครัฐจะมีมาตรการผ่อนปรนสำหรับทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจแล้ว

แต่ผลสำรวจนี้ จะสะท้อนผลที่แตกต่าง หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป และคงต้องติดตามสถานการณ์ การระบาดของไวรัสฯ ในไทยอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะมีผลต่อนโยบายรัฐ ในการจัดการปัญหาต่างๆ และทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะถัดไป

Stocks ๒๐๐๗๑๕ 1

ก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ สัดส่วน หนี้ครัวเรือนไทย ต่อจีดีพี อาจขยับสูงขึ้นไปอยู่ในกรอบประมาณ 88-90% ณ สิ้นปี 2563 ซึ่งนับเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 18 ปี (ข้อมูล ธนาคารแห่งประเทศไทย ย้อนหลังถึงปี 2546) เนื่องจากเศรษฐกิจหดตัวลงแรง

 

นอกจากนี้ สัญญาณช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของสถาบันการเงิน ทั้งการลดภาระผ่อนต่อเดือนและการพักชำระหนี้ เพื่อลดภาระทางการเงินให้กับลูกหนี้ น่าจะมีผลทำให้ยอดหนี้คงค้างของครัวเรือน และลูกค้ารายย่อย ไม่ปรับลดลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ จากข้อมูลของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2563 พบว่า มีลูกหนี้รายย่อย ได้รับความช่วยเหลือแล้ว เป็นจำนวน 11.48 ล้านราย มูลหนี้รวม 3.8 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์หนี้ครัวเรือนในระดับสูงนี้ เกิดขึ้นกับหลายๆ ประเทศในแถบเอเชีย ไม่ใช่เฉพาะกับประเทศไทย โดยภาพดังกล่าว สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้าง พร้อมๆ กับประเด็นที่ต่อเนื่อง ต่อคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อรายย่อย ในระบบธนาคารพาณิชย์

ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์ จุงโจทย์ยากเฉพาะหน้าอยู่ 2 เรื่อง คือ การเร่งผลักดัน มาตรการช่วยเหลือลูกค้ารายย่อย และลูกค้าบุคคล ให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปก่อน และ การเร่งปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยดูแลความสามารถ ในการชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อคุณภาพสินเชื่อ ของธนาคารพาณิชย์เองเช่นกัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo