General

ผ่านหลักการ ร่างกฏกระทรวงฯ แก้ไขปัญหา ‘ตั้งครรภ์ในวัยรุ่น’

ตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ถึงเวลาแก้ไขจริงจัง กรมอนามัย เผย คกก. เห็นชอบหลักการ “ร่างกฎกระทรวงกำหนดสิทธิในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นฯ”

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดี กรมอนามัย กล่าวว่า จากการประชุม คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหา การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมฯ เพื่อแก้ปัญหาการ ตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

ตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

ทั้งนี้ มี 2 วาระที่ผ่านการเห็นชอบในหลักการ จากคณะกรรมการป้องกัน และแก้ไขปัญหา การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น คือ

1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดสิทธิ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหา การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ของราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. …. ที่กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่ในการออกข้อกำหนดท้องถิ่นเพื่อดำเนินการให้วัยรุ่น ได้รับสิทธิตามกฎหมาย ดำเนินการให้วัยรุ่น ได้รับสิทธิด้านบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ การให้คำปรึกษา ขอความช่วยเหลือ ส่งต่อให้ได้รับบริการ

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนภารกิจ ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งสถานศึกษา สถานบริการ หน่วยงานด้านการจัดสวัสดิการทางสังคม และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ในเขตราชการส่วนท้องถิ่น รวมทั้งการจัดทำแผนงานโครงการ และงบประมาณ เกี่ยวกับการป้องกัน และแก้ไขปัญหา การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

2. กลไกการดูแล ช่วยเหลือ และจัดการกรณีมีการร้องเรียน โดยที่พระราชบัญญัติการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 มุ่งหมายป้องกันปัญหา และให้ความช่วยเหลือวัยรุ่น ที่ประสบปัญหาการตั้งครรภ์ ที่ไม่พึงประสงค์ ทั้งด้านการศึกษา การดูแลสุขภาพอนามัย การช่วยเหลือ ด้านความเป็นอยู่ในครอบครัว อาชีพ รายได้ ตลอดจนความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ

พร้อมกันนี้ ได้มีบทบัญญัติกำหนดอำนาจหน้าที่ ในการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในกฎหมายแม่บท และกฎกระทรวง ดังนั้น หากวัยรุ่นประสบปัญหา ก็มีช่องทางในการให้วัยรุ่นสื่อสารมา เพื่อ ขอความช่วยเหลือ คุ้มครอง แก้ไขปัญหาต่าง ๆ อาทิ การไม่ได้รับโอกาสในการศึกษาต่อ ขอความช่วยเหลือ ด้านที่พักอาศัย ขณะตั้งครรภ์ การเข้าไม่ถึงบริการคุมกำเนิด การฝากครรภ์ และคลอด การขอความช่วยเหลือ ในการเลี้ยงดูบุตร เป็นต้น

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร

ที่ผ่านมา กรมอนามัย ได้ดำเนินงานป้องกัน และแก้ไขปัญหา การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น อย่างต่อเนื่อง ดังนี้

  • การพัฒนาระบบดูแล ช่วยเหลือ ส่งต่อ และคุ้มครองสิทธิวัยรุ่นแบบบูรณาการ โดยกำหนดแนวทางการบริหารจัดการในรูปแบบ Case manager โดยใช้ระบบปฏิบัติการกลางช่วยในการจัดการข้อมูล
  • การพัฒนาระบบฐานข้อมูลร่วม ด้านสุขภาพนักเรียน ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อช่วยให้ทราบข้อมูล นักเรียนหญิงที่ตั้งครรภ์ และคลอด ได้เรียนต่อในสถานศึกษาเดิม
  • การบริการยุติการตั้งครรภ์ ด้วยยาผ่านระบบ โทรเวชกรรม เพื่อช่วยให้วัยรุ่นเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการยุติการตั้งครรภ์ ที่ไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะในภาวะวิกฤติ ทั้งนี้ ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงาน ผ่านศูนย์อนามัย และยกระดับความร่วมมือ เป็นระบบเขตสุขภาพ

จากสถานการณ์อนามัยการเจริญพันธ์ ประจำปี 2561 จากสำนักอนามัยการเจริญพันธ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า จำนวนหญิงคลอดบุตรทั้งหมด จำนวน 628,450 ราย เป็นวัยรุ่นอายุ 10-19 ปี 72,566 ราย คิดเป็น 11.5% หรือเฉลี่ยคลอดวันละ 198.8 ราย แยกเป็น วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 15 ปี คลอดบุตรเฉลี่ยวันละ 7 คน วัยรุ่นอายุ 15 – 19 ปี คลอดบุตรเฉลี่ยวันละ 192 คน และยังพบว่า มีการตั้งครรภ์ซ้ำ 6,543 ราย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo